"ดีเอสไอ"เผยภาพถ่ายทางอากาศหาดเลพังในอดีตเคยเป็นแนวเขต “ทะเล”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กลายเป็นประเด็นที่สังคมต่างตั้งข้อสงสัยว่าแท้จริงแล้ว “พื้นที่ชายหาดริมทะเล” สามารถออกเอกสารสิทธิได้หรือไม่ ... และเหตุใด จึงมีหลายแห่งในประเทศไทย มีเอกสารสิทธิอยู่ในพื้นที่ชายหาด ทีมข่าว PPTV ได้ข้อมูลสำคัญจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่นำภาพถ่ายทางอากาศมาเปรียบเทียบให้เห็นว่า ที่ดินใกล้เคียงในอดีต เคยเป็น “ทะเล” มาก่อนที่จะมีเอกสารสิทธิ

เมื่อวันที่ (10 ม.ค. 61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันตำรวจโทประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ซึ่งมีประสบการณ์ตรวจสอบคดีที่ดินในพื้นที่ทะเลอันดามันจำนวนมาก อธิบายข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิที่ดินบนชายหาดว่า โดยหลักการทั่วไป ชายหาดถูกจัดเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ จึงไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ เว้นแต่จะมีที่ดินงอกออกมาจากพื้นที่มีเอกสารสิทธิของเอกชน จึงจะสามารถออกได้ แต่จะถือเป็นเอกสารสิทธิที่ดินแปลงเดียวกัน

เมื่อตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศ บริเวณหาดเลพัง อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่เกิดปัญหา จะเห็นว่า ในภาพสีขาวดำ คือ ภาพเมื่อปี 2510 ถูกนำมาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียม ปี 2557 จะเห็นแนวพื้นที่ในกรอบสีแดงทั้งหมด คือที่ดินที่มีเอกสารสิทธิในปัจจุบัน

ภาพปี 2557 เห็นชัดว่า พื้นที่ในกรอบสีน้ำเงิน ที่อ้างเอกสารสิทธิ ถูกครอบครองทำประโยชน์แล้วตลอดทั้งแนว แต่เมื่อเทียบกับภาพปี 2510 จะเห็นว่า แนวในกรอบสีแดงทั้งหมด ล้วนเป็น “ทะเล” หรือ จุดที่น้ำทะเลท่วมถึง

เมื่อพบว่า ในปี 2510 พื้นที่ส่วนนี้เป็นทะเล จึงเกิดคำถามว่า การออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ตามแนวชายหาดทั้งหมดนี้ ทำได้อย่างไร เพราะตามหลักการออกโฉนดที่ดิน ผู้ที่จะขอออกโฉนด จะต้องมีเอกสารสิทธิ นส.3ก และก่อนจะมี นส.3ก จะต้องมีเอกสารแสดงการครอบครองทำประโยชน์ สค.1 ซึ่งต้องครอบครองมาก่อนปี 2498 แย้งกับภาพถ่ายที่เห็นว่า ในปี 2510 เป็นทะเล ซึ่งไม่สามารถมี สค.1 อยู่ในทะเลมาก่อนหน้านั้นได้ ดังนั้นหากตรวจสอบกลับไป ผู้ที่อ้างเอกสารสิทธิ จะต้องพิสูจน์สิทธิ์ด้วยการนำใบแจ้งครอบครองที่ดิน สค.1 ที่ออกภายใน 30 พฤษภาคม 2498 มาแสดง

รองอธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า ผู้ครอบครองที่ดินชายหาดส่วนใหญ่ จะใช้วิธีนำหลักฐาน สค.1 ระบุข้อมูลของที่ดินแปลงอื่น นำมาสวมทับพื้นที่ชายหาด แล้วอ้างว่า เป็นที่ดินของตัวเอง หรือที่เรียกกันว่า สค.1 บินหรือบางราย จะใช้ใบจองที่ น.ส.2 มาแสดงแทน สค.1 โดยอ้างว่า เป็นเอกสารที่นำไปยื่นเพื่อขอหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน หรือ นส.3 ก ก่อนจะนำไปออกเป็นโฉนด ซึ่งขั้นตอนนี้หากเจ้าหน้าที่ยอมทำเอกสารให้ เท่ากับว่าร่วมกันทุจริต ออกโฉนดโดยมิชอบ

ผู้ที่ร่วมออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะมีความผิดตามมาตรา 157 คือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 พันบาทถึง 2 หมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับและมาตรา 149 คือ เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 -20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต

ส่วนเอกชนที่ขอให้เจ้าหน้าที่ออกเอกสารสิทธิให้ จะมีความผิดตามมาตรามาตรา 86 คือ เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด และมีความผิดฐานบุกรุกที่ดินสาธารณะประโยชน์

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ