“มีชัย” ยัน สนช.แก้กฎหมาย ส.ส.-ส.ว. ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณีประเด็นที่ สนช. ส่งต่อให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สำหรับร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส. และที่มาส.ว. โดยเฉพาะหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งส.ว. วันนี้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่า สิ่งที่สนช.ปรับแก้ไข ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (1 ก.พ.61) การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แก้ไขวิธีการเลือก ส.ว. คือประเด็นที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า จะต้องศึกษาโดยละเอียด เพราะสิ่งที่ถูกปรับแก้ไข ไม่ตรงตามเจตนารมณ์เดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีความเป็นไปได้สูงว่า อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ระบุให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการสมัครเป็นส.ว.

โดยในร่างกฎหมายส.ว.เดิม ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญออกแบบไว้กำหนดวิธีคัดเลือกผู้สมัคร ส.ว. ด้วยวิธีเลือกไขว้จากกลุ่มวิชาชีพ 20 กลุ่ม แต่หลังกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถูกปรับแก้ให้ลดกลุ่มอาชีพเหลือ 10 กลุ่ม แต่ตัดข้อกำหนดเลือกการเลือกไขว่เหลือเพียงการเลือกกันเองในกลุ่ม ประเด็นนี้นายมีชัย ระบุว่า อยากหารือกับ สนช.เพื่อชี้แจงให้เข้าใจว่าจุดประสงค์ของการคัดเลือก ส.ว. จากกลุ่มอาชีพเกิดจากความต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

ทั้งนี้ส่วนร่างกฎหมาย ส.ส. ที่ถูกปรับแก้ให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 90 วัน ส่งผลให้โรดแมปการเลือกตั้งขยับออกไป ด้าน นายมีชัย ระบุว่า เหตุผลที่ สนช.ขยายเวลาเพื่อให้พรรคการเมืองทำไพรมารี่โหวตทัน เป็นคำชี้แจงที่ฟังขึ้น เพราะส่วนตัวยอมรับว่า โรดแมปเดิมอาจจะทำไพรมารี่โหวตไม่ทัน และก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ตอนกฎหมายลูก

ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ถ้ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก ในขั้นตอนที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และ กกต.พิจารณา ก็จะไม่มีปัญหา แต่หากเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ก็อาจนำไปสู่ขั้นตอนที่พูดถึงกันก่อนหน้านี้ คือ การคว่ำร่างกฎหมายของสมาชิก สนช. หรือ การยื่นศาลรัฐธรรมนูญช่วยตีความ แต่หากถามจุดยืนในตอนนี้ นายพรเพชรยืนยันว่า ไม่มีการตั้งธงที่จะคว่ำกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินการหลังจากนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะนำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเข้าหารือร่วมกัน มีระยะเวลาดำเนินการจนถึง 9 ก.พ. หากเห็นด้วยกับร่างกฎหมายที่ สนช.ปรับแก้ไข จะส่งคืนให้ สนช.พิจารณา ก่อนจะส่งให้นายกรัฐมนตรีตรวจทานก่อนยื่นทูลเกล้าฯ แต่หากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วย จะต้องตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย คือ สนช. กรธ. และกกต. ซึ่งจะมีระยะเวลาปรับแก้ไขกฎหมาย 15 วัน

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ