ระวัง! หมาแมวเป็นบ้าเพิ่ม 1.5 เท่า ตายแล้ว 3 ราย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จับตาการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าหลังพบผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย กรมปศุสัตว์ ประกาศ 13 จังหวัดเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้า ด้านกรมควบคุมโรค พบ 2เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ.) พบสุนัข-แมวเป็นพิษสุนัขบ้าแล้ว 247 ตัว สูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 1.5 เท่า

หลังจากมีการแชร์คลิปวิดีโอจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก Nokkajib Rujaporn Macotpet สุนัขตายเนื่องจากติดเชื้อพิษสุนัขบ้าในจังหวัดขอนแก่น ทำให้โรคพิษสุนัขบ้าถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นที่กล่าวถึงและเตือนไปถึงประชาชนอีกครั้ง

สำหรับปีนี้ (2561) นายจิระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภน รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยกับ พีพีทีวีเอชดี 36 ว่า กรมปศุสัตว์ ประกาศเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้าแล้ว 13 จังหวัด เฝ้าระวังอีก 42 จังหวัด ซึ่งจังหวัดอยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง คือ สุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา น่าน บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา ระยอง ตาก และศรีสะเกษ แต่ที่หนักสุดคืออำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา โดยล่าสุดพบสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนเสียชีวิตจากการได้รับเชื้อ ขณะเดียวกันพบว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย ขณะที่ปีที่ผ่านมา (2560) เสียชีวิต 8 ราย

“เจ้าของไม่นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกัน ปล่อยสัตว์เลี้ยงไปนอกบ้านเสี่ยงถูกกัดจากสัตว์ที่มีเชื้อ ที่สำคัญขาดความตระหนักถึงการป้องกันการติดเชื้อ “ สาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า นายจิระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภน รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

ยังมีข้อมูลที่น่าตกใจจาก "กรมควบคุมโรค" อีกว่าช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบพบสุนัขและแมวเป็นพิษสุนัขบ้า 247 ตัว สูงกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 1.5 เท่า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง

นิวมีเดีย พีพีทีวี จึงรวบรวมการสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัขและแมว หากมีอาการเหล่านี้จะต้องเฝ้าระวังและติดต่อกรมปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที

สำหรับ โรคพิษสุนัขบ้า “น้ำลาย” เป็นแหล่งแพร่เชื้อสำคัญที่สุด โดยเชื้อไวรัสจะเริ่มถูกขับออกมาในน้ำลายของสุนัขได้ในช่วงตั้งแต่ระยะ 3 วัน ก่อนที่สุนัขแสดงอาการของโรคและจะถูกขับออกมาทางน้ำลายติดต่อกันจนกระทั่งสุนัขตาย

ซึ่งสัตว์เลี้ยงจะมีอาการ 3 ระยะ คือ

ระยะเริ่มแรก นิสัย อารมณ์จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากที่ชอบเล่นกับเจ้าของจะแยกตัวออกไป หงุดหงิด แต่ถ้าเคยตื่นกลัวไม่เคยคลุกคลีกับเจ้าของจะเข้ามาคลุกคลีด้วย แต่จะเป็นส่วนน้อย อุณหภูมิของร่างกายอาจสูงขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย ม่านตาจะขยายโตกว่าปกติและเริ่มมีการตอบสนองต่อแสงลดลง โดยอาการระยะนี้จะอยู่ประมาณ 2 – 3 วันก่อนจะเข้าสู่ระยะตื่นเต้น

ระยะตื่นเต้น เริ่มมีอาการกระวนกระวาย ตอบสนองรุนแรงต่อเสียงหรือสิ่งกระตุ้นต่างๆ กัดสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ออกวิ่งโดยไร้จุดหมาย แสดงอาการดุร้ายโดยจะกัดทุกสิ่งที่ขวางหน้า ถ้ากักขังจะกัดกรงอย่างรุนแรงจนเลือดกลบปากหรือฟันหักโดยไม่แสดงอาการเจ็บปวด เสียงเห่าหอนจะผิดไป ลิ้นห้อย น้ำลายไหล ประมาณ 1 – 7 วันก่อนเข้าสู่ระยะอัมพาต

ระยะอัมพาต อาการระยะนี้จะสั้นมาก ขาอ่อนเปลี้ยโดยเฉพาะขาหลัง สุนัขจะล้มแล้วลุกไม่ได้ เกิดเป็นอัมพาตขึ้นทั่วตัวอย่างรวดเร็วก่อนจะตาย

ส่วนการติดต่อสู่คน...

คือทางบาดแผลที่ถูกกัด หรือน้ำลายไปสัมผัสบริเวณบาดแผลที่ฉีกขาดที่ผิวหนังหรือตามเยื่อเมือกต่างๆของร่างกาย เช่น เยื่อเมือกบริเวณปาก ตา จมูก เป็นต้น ซึ่งระยะฟักตัวจะอยู่ตั้งแต่ 3 สัปดาห์ - 6 เดือน แต่บางรายก็ไม่ถึงสัปดาห์ หรือบางรายอาจนานเกิน 1 ปี

อาการเริ่มแรก เบื่ออาหาร เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย มีอาการคันรุนแรงบริเวณที่ถูกกัดแล้วลามไปส่วนอื่น กระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ ปวดท้องน้อย และขากล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจ ชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด

ดังนั้น หากถูกกัดให้รีบพบแพทย์ทันทีเพื่อฉีดวัคซีน ภายใน 2 วัน และกักบริเวณสุนัขหรือแมวเพื่อดูอาการ 10 วัน หากสุนัขหรือแมวตายให้รับติดต่อปศุสัตว์จังหวัด ซึ่งขณะนี้มีการตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว

ย้ำอีกครั้ง !! ปัจจุบันยังไม่มียาใดที่รักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ ผู้ที่ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย แต่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน หากถูกสุนัขกัด ถูกเล็บข่วน หรือถูกเลียบริเวณที่มีบาดแผล ขอให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า   ที่สำคัญคือ “สังเกตสัตว์เลี้ยงของตนอย่างใกล้ชิด

ข้อมูลจาก กรมปศุสัตว์,กรมควบคุมโรค, สถานเสาวภา

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ