กรมสรรพากร ยันคืนภาษีปีนี้ไม่ได้ล่าช้า สรุปภาษีอีคอมเมิร์ซ มี.ค.นี้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรมสรรพากร ยืนยันคืนภาษีบุคคลธรรมดาปีนี้ไม่ได้ล่าช้า หากยื่นเอกสารครบถ้วน ชี้ปีนี้คนขอคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์เพิ่มขึ้น ขณะที่การพิจารณาการจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ คาดว่าได้ข้อสรุปภายในเดือนมีนาคมนี้

เมื่อวันที่ (6 มี.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การยื่นแบบรายการแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรดา ประจำปี 2560 ที่เปิดให้ยื่นแบบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 มีประชาชนผู้เสียภาษีเริ่มทยอยยื่นแบบฟอร์มภาษีแล้วประมาณ 80-90% ถือว่ายังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากส่วนบางยังคงรอใบเสร็จเงินประกันสุขภาพมาลดหย่อนภาษี โดยขณะนี้มีการเริ่มทยอยคืนเงินภาษีไปแล้ว 8-9 แสนราย คิดเป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 80% ของผู้ที่ยื่นขอคืนภาษี 3,300,000 ราย

ทั้งนี้ยืนยันว่า การคืนภาษีปีนี้ไม่มีความล่าช้าหากมีการตรวจสอบด้านเอกสารครบถ้วน แต่ขณะนี้มีผู้ยื่นภาษีที่มีปัญหาเพียง 10% ต้องมีการส่งเอกสารเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามตั้งเป้าว่าจะมีผู้มายื่นขอคืนภาษีปีนี้ทั้งหมดประมาณ 4 ล้านราย คิดเป็นมูลค่าคืนภาษี 4 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนการขอคืนภาษีผ่านระบบพร้อมเพย์เพิ่มขึ้น

กรมสรรพากรยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการรับและนำส่งข้อมูลงบการเงินให้กรมสรรพากรสำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ( DBD e-filing) ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อให้นิติบุคคลที่จะยื่นแบบการเสียภาษีภายในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ สามารถยื่นงบการเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพียงครั้งเดียวผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะช่วยลดต้นทุนและเวลาของผู้ประกอบการ

ขณะที่ความคืบหน้าการพิจารณาการจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า หลังจากรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการในต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมขอมูลทั้งหมดเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติภายในเดือนมีนาคมนี้ โดยในหลักการเบื้องต้นจะจัดเก็บภาษีในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT สำหรับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจผ่านออนไลน์ทั้งหมด ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีรายได้มากกว่า 1,800,000 บาทต่อปี เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการทั่วไปในประเทศ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ