คำตัดสินคดี "เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล" ทางสว่างทีวีดิจิตอลไทย?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังศาลปกครองกลางตัดสินให้ บริษัทไทยทีวี ของ เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ชนะ หลังยื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงวงการทีวีดิจิตอล เพราะต้องยอมรับว่าตลอด 4 ปี (ตั้งแต่ปี 2556) หลังเปิดประมูลใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิตอล 24 ช่องและการเปลี่ยนผ่านจากทีวีระบบอนาล็อกไปสู่ดิจิตอลไม่ได้สวยหรูอย่างที่คาดไว้

ถ้าไปไล่เลียงดูคำพิพากษาศาลปกครองกลางตัดสินให้บริษัทไทยทีวีคืนใบอนุญาตทีวีดิจิตอลได้ โดยมีเหตุผลหลักๆ คือ การแจกคูปอง set-top-box ของ กสทช.ช้ากว่ากำหนด 6 เดือนซึ่งการประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง

ที่ผ่านมาการประมูลทีวีดิจิตอลใช้เวลาทั้งสิ้น 2 วัน คือ วันที่ 26-27 ธันวาคม 2556 จากนั้น กสทช.เริ่มแจกคูปองล็อตแรกวันที่ 20 ตุลาคม 2557 จำนวน 4.6 ล้านครัวเรือน ใน 21 จังหวัดแรก จนถึงวันนี้ ข้อมูลจาก กสทช.ระบุว่า จำนวนคูปองทีวีดิจิตอลทั้งหมด ที่สำนักงาน กสทช.แจกออกไปตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันมีจำนวน 17,555,958 ใบ แต่ยอดคูปองที่ประชาชนนำมาแลกกล่อง set-top-box ทั้งหมดจนถึงวันที่ 19 ธ.ค. 2560  มีเพียง 9,836,038 ใบ หรือ 56.03% ขณะที่ พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคย เปิดเผยว่า ระบบทีวีอนาล็อกจะยุติทั้งหมดอย่างช้าที่สุดไม่เกินปี 2563

2.การขยายโครงข่ายล่าช้ากระทบต่อสัดส่วนผู้ชมกระทบกับรายได้ค่าโฆษณา

3. ไม่มีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลทั้งๆที่ต้องแบกต้นทุนจากค่าประมูล

ที่ผ่านมา กสทช.กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลต้องจ่ายเงินค่าใบอนุญาตประมูลภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งคือ วันที่  25 พฤษภาคม ของทุกปี โดยจะต้องจ่ายเป็นสองส่วน คือ ส่วนแรก เงินประมูลขั้นต่ำต้องจ่ายภายใน 4 ปี เริ่มจากปีแรก 50% , 30%, 10% 10% ส่วนที่สอง คือ เงินส่วนเกิน จะต้องจ่ายภายใน 6 ปี คือ 10% ในสองปีแรก  และปีละ 20 % ในอีก 4 ปี ที่เหลือ

ปรากฏว่าในงวดที่ 2 ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 24 ช่อง ได้ยื่นหนังสือไปที่ กสทช. เพื่อขอให้มีการเลื่อนการจ่ายค่าใบอนุญาตประมูลทีวีดิจิตอล งวดที่ 2 (ปี 2558) ออกไปอีก 1 ปี  จากนั้นได้มีการประกาศใช้อำนาจตามมาตรา  44 เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลให้ “ยืดเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทีวีดิจิตอล” โดยเปลี่ยนงวดเงินก้อนที่เหลือใหม่เป็น 8 งวด (2 งวดสำหรับค่าประมูลขั้นต่ำ และ 6 งวดสำหรับส่วนที่เกินค่าประมูลขั้นต่ำ) รวมแล้วยืดระยะเวลาทั้งหมดจาก 6 ปีเป็น 9 ปี แต่จะคิดดอกเบี้ยเพิ่มจากระยะเวลาที่ยืด

4. การแข่งขันสูงทำให้โฆษณาลดลงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ

ข้อมูลจากสมาคมมีเดียเอเยนซี และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (Media Agency Association of Thailand : MAAT) คาดว่า ปี 2560 งบโฆษณาของสื่อหลักยังลดลง โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ทั้งดิจิตอลทีวี เคเบิลทีวีและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมลดลง 15%  ขณะที่ในปี 2558 โตขึ้น 2.8% จากปีก่อนหน้า ส่วนในปี 2559 ตกลงถึง 11%

5. ให้ กสทช.คืนหนังสือค้ำประกันให้กับบริษัทไทยทีวี 1,748 ล้านบาท  และ 6. ให้คืนค่างวดใบอนุญาติที่จ่ายไปแล้ว ภายใน 60วัน นับตั้งแต่คดีถึงที่สุด

ซึ่งในวันนี้ (14 มี.ค.) พันเอก ดร.นที ออกแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า บร์อด กสทช.มีมติ น้อมรับในคำตัดสินของศาลปกครองกลาง และยินดีที่จะดำเนินการ แต่ยังมีคำวินิจฉัยที่ กสทช. เห็นแย้งในเรื่องออกใบอนุญาตเข้าร่วมในการจัดทำบริการสาธารณะแทนรัฐในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่อันเป็นสมบัติของชาติ และจะอุทธรณ์เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในโอกาสต่อไป ซึ่งเตรียมส่งข้อมูลให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการเพื่อยื่นอุทธรณ์ ให้เร็วที่สุดจากกำหนดของศาลที่ให้ยื่นภายใน 60 วัน 

สิ่งที่ต้องจับตาดูนับจากนี้คือ เมื่อเกิดบรรทัดฐานจากกรณีของเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล จะทำให้สนามการแข่งขันของทีวีดิจิตอลเหลือผู้เล่นอีกกี่ราย

ข้อมูล สมาคมมีเดียเอเยนซี และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (Media Agency Association of Thailand : MAAT)

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ