ปัญหาระดับชาติ“ขนส่งมวลชนสาธารณะ”ไม่เคยเพียงพอ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ในทุกๆ วัน การเดินทางของคนกรุงเทพฯ เป็นเหมือนเกมส์ที่ต้องวางแผนการเดินทางให้แม่นยำที่สุดมิเช่นฉะนั้นตลอดทั้งวันนั้นชีวิตคุณอาจเปลี่ยนไป

ซึ่งคุณต้องคำนวณเวลาดีๆว่าจะไปถึงป้านรถเมล์ทันไหม รถไฟฟ้าจะขัดข้องหรือเปล่า เกิดฝนตกหนักน้ำในคลองแสนแสบขึ้นเรือประกาศหยุดเดิน  วินมอร์เตอร์ไซค์โขกราคา แท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร เครื่องบินดีเลย์หลายชั่วโมง ซึ่งหลายครั้งคิดคำนวณเผื่อเวลาไว้แล้วก็ยังไปถึงที่หมายสายอยู่ดี นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องของความปลอดภัย มาตรฐานของสภาพรถ เรือ  ไปจนถึงพนักงานผู้ให้บริการที่บางครั้งเหมือนจะอารมณ์เสียพร้อมเหวี่ยงตลอดเวลา

นิวมีเดีย พีพีทีวี  ต่อสายสัมภษณ์ ดร.สุเมธ องกิตติกุล เชี่ยวชาญด้านนโยบายการขนส่ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เล่าให้ฟังว่าปัญหาการเดินทางในระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของกรุงเทพฯ เป็นปัญหาเชิงหลักการคือคนส่วนใหญ่จะใช้บริการเพื่อเดินทางไปทำงาน ไปเรียน ยกตัวอย่างเช่น ทุกที่จะกำหนดช่วงเวลาการเริ่มต้นทำงานหรือเรียนไว้ 09.00 น. ซึ่งทำให้เกิดการกระจุกตัวในช่วงเวลาที่จำกัด หรือ ช่วงพีค ทำให้เป็นไปได้ยากที่จะสามารถบริหารจัดการปริมาณของรถขนส่งสาธารณะได้เพียงพอกับความต้องการ ขณะที่ในหลายประเทศวางแผนให้มีการกระจายช่วงเวลาพีคเพื่อรองรับการเดินทาง

นอกจากนี้  ดร.สุเมธ ยังอธิบายถึงประเภทการเดินทางหลักๆของคนกรุงเทพฯ  2 ประเภทคือ รถไฟฟ้า และ รถเมล์  ว่า รถไฟฟ้าตามแผนของรัฐบาล 10 สาย ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ แง่ของความเพียงพอถือว่าเพียงพอแล้วในระดับหนึ่ง เพราะมีการเจริญเติบโตไปพร้อมๆ กับเมือง ขณะเดียวกัน เมืองก็เจริญเติบโตไปตามแนวรถไฟฟ้า เหมือนไก่กับไข่

ดังนั้น หากมองในภาพรวม ก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเส้นทางใหม่ๆ ในระยะ 10-15 ปีนี้ แต่สิ่งที่ควรพัฒนาอยู่ตลอดคือการเชื่อมต่อ  โดย ดร.สุเมธ ขยายความว่า รัฐบาลคงไม่สามารถลงทุนโครงการรถไฟฟ้าให้อยู่หน้าบ้านของคนทุกคนได้ ทำให้เห็นว่าในปัจจุบันเส้นทางรถไฟฟ้าจะรองรับชุมชนหลักที่มีการใช้งานแนวดิ่ง อย่าง คอนโดมิเนียมเป็นหลัก ดังนั้นการเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าหรือขนส่งมวลชนอื่นให้สามารถเดินทางได้ในทีเดียวที่ออกจากบ้านจึงเป็นเรื่องจำเป็น

ขณะที่รถเมล์ ดร.สุเมท บอกว่าหากย้อนดูประวัติความเป็นมาของการบริหารคงทราบกันดีว่าเป็นอย่างไร แต่ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในกรุงเทพฯ  แต่เท่าที่ผ่านมารถเมล์ไม่ได้มีการพัฒนาให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเมืองเท่าที่ควร ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรมของผู้ใช้บริการที่หันมาใช้รถโดยสารอื่นแทน เช่น รถตู้ รถสองแถว ทั้งที่เดิมรถตู้โดยสารผิดกฎหมายและเมื่อปริมาณการใช้มากขึ้นรถตู้ก็ถูกยกระดับมาให้ถูกกฎหมายในที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงตามผลสำรวจของสถาบันวิจัยและบริการ มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ (เอยูโพล) เรื่องการดูแลสุขภาพของคนกรุงเทพฯ ดัชนีความเครียดของคนไทยในกรุงเทพฯ กรณีตัวอย่างประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ 1,210 ตัวอย่างเมื่อช่วง 1-12 กันยายน 2560 มีบางประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยบกับความพึงพอใจในรถโดยสาธารณะ

สำหรับรถสาธารณะที่โดยสารบ่อยที่สุด อันดับหนึ่ง 37.61% เป็นแท๊กซี่ รองลงมาคือ รถเมล์ 35.13% รถไฟฟ้า 20.22%   5.55% ใช้แกร็บและอูเบอร์ ส่วนอีก 1.49% ใช้บริการรถตู้ มอร์เตอร์ไซค์ รถยนต์ส่วนตัว รถสองแถว เป็นต้น

เมื่อถามว่า สิ่งที่พึงพอใจน้อยที่สุดในการใช้บริการรถสาธารณะ 22.18% บอกว่า จำนวนรถที่พร้อมให้บริการ ตามมาด้วยมารยาทในการขับรถ 17.79% และความสะดวกสบาย 4.55%

ส่วน ปัญหาสำคัญของรถสาธารณะ 5 อันดับแรก คือ ความปลอดภัย สภาพรถไม่ได้มาตรฐาน ปริมาณรถไม่เพียงพอ ไม่คลอบคลุมทุกพื้นที่ ความสามารถของพนักงานขับรถ โดยมีข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการให้บริการของรถสาธารณะ คือ เรื่องมารยาทของพนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร  การปรับปรุงมาตรฐานของรถและสภาพรถ การเพิ่มจำนวนรถโดยสารให้เพียงพอ ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ขับขี่ และปรับปรุงการให้บริการให้มีมาตรฐาน ตามลำดับ

สุดท้ายคือ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเก่าคาราคาซังที่ทุกคนรู้ปัญหา ระดับนโยบายก็รู้ปัญหาแต่ยังแก้ไม่ได้ ระดับประชาชนคนทั่วไปก็รู้ปัญหาแต่ต้องรับสภาพ แต่ก็หวังว่าจะมีสักวันหนึ่งที่คนกรุงเทพฯจะตื่นมาแล้วเดินทางไปทำงานด้วยระบบขนส่งสาธารณะอย่างสบายใจ ถึงที่หมายปลอดภัยและตรงเวลา

ขอบคุณข้อมูล

สถาบันวิจัยและบริการ มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ (เอยูโพล)

รายงานประจำปี องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ปี 2559

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ