พบข้อมูล “กากของเสียอันตราย” หายจากระบบ ปีละ 2.7 ล้านตัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การตรวจสอบโรงงานที่นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และทิ้งกากของเสีย เป็นขยะ ยังพบอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบโรงงานที่ถูกตรวจพบลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่สำแดงข้อมูลเท็จว่าเป็นพลาสติก อาจแจ้งนำเข้าเพื่อส่งไปที่อื่น และยังพบโรงงานหล่อหลอมพลาสติก ที่ ต.คลองด่าน สมุทรปราการ ลักลอบทำกิจการรีไซเคิลชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่สำคัญ วันนี้ ผู้สื่อข่าวพีพีทีวี ได้ข้อมูลสำคัญว่า มีกากอุตสาหกรรมอันตราย จากโรงงานทั่วประเทศไม่ถูกส่งเข้ากำจัดอย่างถูกต้องถึงปีละ 2.7 ล้านตัน แต่ถ้านับเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถูกส่ง

วันนี้ (1 มิ.ย.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงงานที่นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จดทะเบียนเป็นโรงงานหล่อหลอมพลาสติก ประเภท 53 ตั้งอยู่ที่ ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ แต่ในโรงงานกับมีเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นแผ่นแผงวงจรบดจำนวนมาก ถูกบรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็ก โดยระหว่างที่ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ ร.ต.ณรงค์ แสงทอง หัวหน้าชุดกองร้อยรักษาความสงบบางบ่อ กองพลทหารราบที่11 เข้าตรวจสอบ ไม่พบเจ้าของชาวไทย แต่พบว่ามีชาวจีนอยู่ที่โรงงาน จึงนำตัวไปดำเนินคดีทันที เพราะเห็นความผิดชัดเจนว่าประกอบกิจการผิดประเภท ครอบครองวัตถุอันตราย และนำเข้าวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งไม่ใช่โรงงานรีไซเคิล โดยระหว่างจับกุม มีผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เข้ามากล่าวหาเพิ่มด้วยว่า ชาวจีนคนนี้ พยายามให้เงินสินบนกับผู้ใหญ่บ้านด้วย ด้านอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า โรงงานนี้เคยถูกสั่งปิดไปแล้วหนึ่งครั้ง แต่ลักลอบเปิดดำเนินกิจการอีก จนมีชาวบ้านมาแจ้ง จึงมาสั่งปิดอีกตั้งแต่เมื่อวานนี้ (31 พ.ค.61)

ทั้งนี้อีกหนึ่งจุด ตำรวจเข้าตรวจค้นโรงงานรับหล่อหลอมพลาสติก ประเภท 53 เช่นกัน คือ บริษัท แอบโซลูท พาวเวอร์เวิลด์ จำกัด ที่ ตำบลแพรกษาใหม่ อำเภอเมือง สมุทรปราการ ซึ่งเป็นบริษัท ที่ถูกเปิดตู้คอนเทนเนอร์ ที่ท่าเรือแหลมฉบังเมื่อ 2 วันก่อน และพบว่า ลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่สำแดงข้อมูลต่อศุลกากรว่าขอนำเข้าพลาสติก แต่เมื่อไปถึงวันนี้ กลับไม่พบขยะอิเล็กทรอนิกส์ จึงคาดว่า อาจเป็นการใช้โควต้าขอนำเข้าแทนผู้ประกอบการรายอื่นอีก ส่วนที่พบมีเพียงเตาหลอมพลาสติก ที่พบว่า ดำเนินการไม่ถูกต้องเช่นกัน

ด้านนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยการตรวจสอบโรงงาน 7 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ว่า มี 5 แห่ง ทำผิดเงื่อนไขการอนุญาต 4 ข้อ คือ จัดตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินการไม่ถูกต้องตามการขออนุญาตประกอบกิจการ, สำแดงการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อันเป็นเท็จ,  และนำเข้าสิ่งของที่ผิดเงื่อนไขตามใบอนุญาต โดยทั้ง 5 โรงงาน จะถูกสั่งระงับใบอนุญาตการนำเข้าทุกกรณีในสัปดาห์หน้า โดยกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะระงับนานเท่าไหร่ เพราะแต่ละแห่งมีอายุใบอนุญาตที่เหลือต่างกันตั้งแต่ 4-10 เดือน แต่จะให้ยกเลิกไปเลยไม่ได้ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่นำเข้ามายังเป็นประโยชน์

ขณะที่การพักใช้ใบอนุญาตโรงงาน 5 แห่ง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ยังไม่ถือว่าขึ้นแบล็คลิสต์โรงงานดังกล่าว ในการขออนุญาตต่ออายุประกอบกิจการในรอบต่อไป แต่อยู่ที่การพิจารณาของอธิบดีกรมโรงงานฯเพียงคนเดียวว่าจะอนุมัติหรือไม่

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวพีพีทีวี พบข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ของเสียอันตรายในประเทศไทย โดยข้อมูลระบุว่า โรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดในประเทศไทย 15,000 แห่ง ก่อให้เกิดกากอุตสาหกรรม ที่เป็นของเสียอันตรายถึง 3 ล้านตันต่อปี แต่มีของเสียอันตราย ที่ถูกส่งเข้าไปกำจัดอย่างถูกต้องในโรงงานประเภท 101 ที่มีอยู่ 3 แห่งในไทย เพียงไม่ถึง 300,000 ตันต่อปี หมายความว่า มีกากของเสียอันตราย หายไปจากระบบถึงปีละ 2.7 ล้านตัน

โดยหากนับเฉพาะ E – WASTE หรือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีโรงงานประเภทคัดแยกขยะ 105 และโรงงานรีไซเคิล 106 รวม 148 โรงงาน ซึ่งมีข้อมูลการส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์มากำจัดอย่างถูกต้องรวมแล้วปีละไม่ถึง 800 ตัน แต่ไม่ปรากฎข้อมูลว่า มีกากขยะอิเล็กทรอนิกส์ปริมาณเท่าไหร่จากโรงงานกลุ่มนี้ เพราะไม่มีข้อมูลส่งของเสียออกจากโรงงาน แต่ในวงการการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ใช้วิธีคิดคำนวนว่า กากของเสียจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จะคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ ของชิ้นส่วนที่นำเข้ามา และหากดูย้อนกลับไป ถึง 2 โรงงาน ที่ผู้สื่อข่าวพบว่า มีใบขออนุญาตนำเข้าวัตถุอันตราย คือ บริษัท ไวโรกรีน ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ซึ่งขอนำเข้า 10,000 ตัน และ บริษัท เจ พี เอส ที่ อ.พนมสารคาม ซึ่งขอนำเข้า 60,000 ตัน แต่ทั้ง 2 แห่งนี้ ไม่พบข้อมูลการส่งของเสียอันตรายไปกำจัดที่โรงงานรับกำจัดประเภท 101 ทั้ง 3 แห่ง

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ