“ยูเอ็น”เรียกร้องทั่วโลกเลี่ยงผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้ง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สหประชาชาติเรียกร้องทั่วโลกหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง เพื่อแก้ปัญหามลภาวะพลาสติกปนเปื้อนในธรรมชาติ โดยเฉพาะในทะเล

วันที่ 5 มิ.ย.ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) โดยปีนี้ ประเทศอินเดีย ซึ่งรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการเสวนาเกี่ยวกับการรรณรงค์แก้ปัญหามลภาวะทั่วโลก ได้กำหนดให้ธีมหลักประจำปีนี้เป็นเรื่อง “การเอาชนะมลภาวะพลาสติก” หรือ “Beat Plastic Pollution” ซึ่งผู้จัดงานได้เชิญชวนผู้คนทั่วโลกให้ร่วมกันหาหนทางเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อลดปัญหาพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ สัตว์ป่า หรือแม้แต่สุขภาพของมนุษย์เอง

เอริก โซลไฮม์ ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมของโครงการสหประชาชาติ กล่าวว่า ทั่วโลกจำเป็นต้องหยุดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น หลอดพลาสติก ซึ่งมักปะปนเข้าไปกับอาหารที่ปลา เต่า หรือ วาฬ กินเข้าไป โดย โซลไฮม์ แนะนำว่าควรใช้หลอดที่ทำจากเหล็กแทน เพราะใช้ได้หลายครั้ง

ทั้งนี้ พฤติกรรม “ใช้แล้วทิ้ง” ของคนทั่วโลก ทำให้ปัญหามลภาวะพลาสติกมีแนวโน้มจะกลายเป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข โดย 50% ของพลาสติกที่มนุษย์ใช้ เป็นการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ตัวอย่างเช่น ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งแต่ละปีมีปริมาณการใช้ทั่วโลกเฉลี่ยแล้วมากถึง 5 ล้านล้านชิ้น เท่ากับว่า ประชากรโลก 1 คน จะใช้ถุงพลาสติก 1 ใบ เฉลี่ยเพียง 12 นาทีแล้วทิ้ง แต่การย่อยสลายพลาสติก 1 ใบ ต้องใช้เวลานานถึง 500 ปี

ขณะที่ในแต่ละปีมีขยะพลาสติกถูกพบในทะเลมากถึง 13 ล้านตัน เท่ากับการที่รถขนขยะนำขยะไปทิ้งลงทะเลทุกๆ 1 นาที ซึ่งทำให้เกิดผลลัพธ์อันเลวร้ายตามมา

สำหรับสถานการณ์ขยะพลาสติก โดยเฉพาะในทะเลไทย ยังถือว่าน่าเป็นห่วง เห็นได้จากข่าววาฬนำร่องตายเพราะกินถุงพลาสติกมากถึง 80 ใบ ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ก็ประสบปัญหาขยะพลาสติกไม่แพ้บ้านเรา โดยเฉพาะที่หาด เฮา ล็อค (Hau Loc) ในจังหวัด ทัน หัว (Thanh Hoa) ที่ปัจจุบันเต็มไปด้วยขยะ จนหลายคนบอกว่า ชายหาดแห่งนี้ มีขยะพลาสติกมากกว่าทรายเสียอีก

ด้านเจ้าหน้าที่กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ปัญหาขยะพลาสติกเป็นสิ่งที่ภาครัฐ และภาคประชาชนในภูมิภาคนี้รับทราบดี โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ที่มีปริมาณขยะพลาสติกมากเป็นอันดับต้นๆของโลก ยังไม่มีมาตรการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ