แพทย์ฉุกเฉินวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงพา 13 ชีวิตออกจากถ้ำหลวง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดปัจจัยเสี่ยงในการพาตัวทั้ง 13 ชีวิตออกมาจากถ้ำหลวงหลังจากที่มีการพบว่าปลอดภัยอยู่ที่เนินนมสาว เลยพัทยาบีชไป 300-400 เมตร  

วันนี้ (3 ก.ค.61) นพ.ฉัตรบดินทร์ เจตนศิลปิน รองหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทย์ศาสตร์ วชิรพยาบาล เปิดเผยกับทีมข่าวพีพีทีวีว่า กรณีการนำทั้ง 13 ชีวิตติดถ้ำหลวงออกจากภายในถ้ำนั้น หากวิเคราะห์จากคลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่ออกมาในขณะเข้าไปพบนั้น หากเห็นแค่ในภาพคงวิเคราะห์ลำบาก แต่หากเป็นเคสทั่วไป กรณีนี้มักจะมีอาการอ่อนเพลีย เนื่องจากสมดุลเกลือแร่ที่หายไป มีการใช้พลังงานจากไขมันหรือกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆมาใช้ รวมทั้งอากาศที่ค่อนข้างจะหนาวเย็น  ส่วนกรณีที่เห็นในคลิปวิดีโอว่า เด็กๆมีความคล่องแคล่วว่องไวนั้น เปรียบเหมือนคนติดอยู่ในไฟไหม้ แล้วมีคนเข้ามามันก็มีความหวัง จะเป็นลักษณะนั้นที่มีสารอะดรีนารีนหลั่ง ซึ่งเราพิสูจน์ไม่ได้ว่า นั่นคือความแข็งแรง แต่ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในนั้นต้องมีอาการอ่อนเพลียแน่ๆ ก่อนที่จะนำตัวออกมา ต้องมีการฟื้นฟูก่อน

“โอกาสในการที่จะดำน้ำ หรือเกาะแขนหน่วยซีลออกมาตั้งแต่ในช่วงแรกที่เข้าไปเจอนั้นค่อนข้างยาก เพราะเด็กๆไม่เคยเรียนดำน้ำ และต้องมีโอกาสตื่นตกใจ อาจจะมีการถอดหน้ากาก กระชากหน้ากากหลุดสูง ทางที่ดีที่สุดคือการเตรียมตัวที่ดีของผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือ ผู้ที่รอรับการช่วยเหลือ และการสภาพแวดล้อมที่จะเอื้ออำนวยในการกู้ภัย แบบนั้นจะดีที่สุด”

ขณะที่ในคลิปวิดีโอ เด็กๆบอกว่า “หิว” หากจะให้อาหารในทันที ช่วงแรกนั้นเลยไม่ได้ โดย นพ.ฉัตรบดินทร์  อธิบายว่า ก่อนหน้านี้ตัวเด็กไม่ได้รับประทานอะไรมาเลย จึงจะมีกรดในกระเพราะหลั่งออกมาค่อนข้างสูง การที่กินกะทันหันอาจจะมีอาการจุกแน่นหรือมีอาการอื่นตามมา แต่สิ่งที่กลัวอีกอย่างคือ โอกาสที่จะเป็นแผลในกระเพาะมีสูง เพราะมีกรดหลั่งออกมาเยอะ ส่วนเด็กที่มีอาการหอบหืด จำเป็นจะต้องมีการตรวจว่าจะมีความพร้อมในการลงน้ำหรือเปล่า

“แม้ตอนนี้เด็กมีกำลังใจอยู่บ้าง เมื่อมีความหวังเข้ามาเมื่อมีคนมาช่วย ตอนนั้นเรียกว่าตื่นเต้นอยู่ ถ้าพอเอาเข้าจริงการดำน้ำจริงอาจจะทำไม่ไหว ต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม เพราะมีความเครียดที่ติดอยู่ในนั้นตลอด อยู่ๆก็มีแสงสว่างอยู่ที่ปลายอุโมงค์ เขาก็เลยลุกขึ้นมา เหมือนคนรอความหวังสุดๆแล้ว มาเจอคนที่ไม่ใช่พวกตัวเอง”

ขณะที่ทางกองทัพเรือมีการประเมินไว้ว่า ว่า อาจจะใช้ระยะเวลาหลายเดือนนั้น นพ.ฉัตรบดินทร์ คาดว่าไม่น่าจะถึงนานหลายเดือน เพราะถ้าระยะเวลานานเกินไป จากผลบวกในวันนี้จะเป็นผลลบ เพราะเป็นการรอความหวังจนเกินไป ส่วนตัวว่าไม่น่าจะเกินอาทิตย์หนึ่ง เพราะคนเราหากมีความหวังมากไปจะกลายเป็นผลลบ ณ ปัจจุบันเขามีความหวังว่าจะต้องออก มีคนมารอรับแล้ว แต่ไม่ได้ไป แต่ให้ฝึกหลายอย่างก่อน ปัญหาก็คือจะให้เขาออกเมื่อไหร่ แต่ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับจิตใจของเด็กและความพร้อมของเด็กด้วย หากไม่มีการวิตก หรือการลองดำน้ำระยะสั้นๆ ว่าเด็กต้องดำไปเจออะไร แต่มันมีช่วงถ้ำระยะยาวกับถ้ำระยะแคบ ก็กลัวว่าจะมีปัญหาตรงนี้มากกว่า ซึ่งมีหน่วยซีลเป็นบัดดี้ก็ไม่น่าตกใจ แต่ช่วงช่องแคบต้องเปลี่ยนถังอากาศก็กลัวว่าเขาจะตกใจ

สำหรับการกู้ภัยต่างๆ ต้องคำนึงถึงจะเตรียม 1.คน นั่นคือผู้ประสบภัยที่มีการเตรียมฟื้นฟูร่างกาย รวมทั้งคนที่เข้าไปช่วยว่ามีความพร้อมมากแค่ไหนในการเข้าไปช่วย และมีประสบการณ์มากน้อยแค่ไหน 2.สิ่งของ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ และ3.สภาพแวดล้อม ว่าน้ำแรงขนาดไหน น้ำเย็นขนาดไหน และการขุ่นใสของน้ำก็ทำให้เกิดอาการแพนิก หรือตกใจได้ ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะที่อุณหภูมิลดลงผิดปกติ จำเป็นต้องมีเวทสูทเข้าไป แม้เด็กพวกนี้จะว่ายน้ำทุกวัน แต่ไม่ได้ว่ายน้ำในถ้ำ


 

ระหว่างการเตรียมความพร้อม หากเด็กๆได้พูดคุยกับครอบครัว นพ.ฉัตรบดินทร์ บอกว่า น่าจะเป็นผลดี ทำให้เกิดความมั่นใจเกิดความผ่อนคลายมากขึ้น แต่อย่าลืมว่าในห้องนั้นมันมืด แม้จะได้คุยโทรศัพท์ เพราะที่ผ่านมาบางคนเคยชินกับการดูทีวี เล่นไลน์ เล่นเฟซบุ๊ก แต่ตอนนี้เขาไม่รู้อะไรเลย แม้ระยะเวลาหลังการพบเจอจะมีหน่วยซีลอยู่เป็นเพื่อน ก็สามารถอยู่ได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้นาน เพราะสิ่งที่เขาอยากจะทำก็คืออยากออกไปข้างนอก แม้น้ำจะลดลง แต่ต้องรอให้น้ำลดลงโดยที่สามารถเงยหน้าหายใจได้ตลอด แม้จะหวาดกลัว ถอดสายออก ก็ยังมีอากาศ สิ่งที่ปลอดภัยที่สุดคือต้องเดินได้ด้วยตัวเองไม่ต้องมีบัดดี้ ส่วนกรณีถ้าเจาะโพรงปัจจัยเสี่ยงก็มี "ความสูง" อย่างเดียว หากสามารถเจาะใกล้ๆจุดที่เด็กอยู่ก็สามารถทำได้ แต่สุดท้ายคือสิ่งที่เจ้าหน้าที่หน้างานต้องประเมินอีกที

 

 

 

 

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ