กู้ภัยที่เคยเข้าถ้ำหลวง เชื่อปฏิบัติการช่วย 13 ชีวิต ทำสำเร็จ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ภารกิจการพาเด็กๆ ทีมหมูป่า อะคาเดมี่ ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เริ่มปฏิบัติการแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่อาสากู้ภัย 1 ผู้เคยเข้าไปปฏิบัติการในถ้ำหลวง ช่วงแรก บอกว่า จุดคับขันที่สุดคือ 3 แยก เพราะเส้นทางแคบ มีลักษณะเป็นท้องช้าง

นายพงศกร สวามิภักดิ์ อาสากู้ภัยที่เคยปฏิบัติภารกิจลำลงเลียงขวดอากาศ ช่วยทีมซีลในถ้ำหลวง ดูกราฟิกที่ทีมข่าวพีพีทีวีทำไว้ เกี่ยวกับภารกิจการพาทีมหมูป่า อะคาเดมี่ ทั้ง 13 ชีวิตออกมาจากเนินนมสาว ถึงโถง 3 โดยชี้จุดคับขันตรงกับกราฟิกที่พีพีทีวีนำเสนอ คือ สามแยก ซึ่งจุดนั้นเดินเข้าจากปากถ้ำ เลยโถง 3 ไป จะเป็นทางลงต้องดำน้ำมุดลงไปในโพรงถ้ำ ซึ่งช่องทางที่แคบที่สุด มีความกว้างเพียง 50 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นท้องช้าง ซึ่งทีมซีลจะต้องดำน้ำ พาทีมหมูป่าย้อนกลับออกมา

นายพงศกรเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในถ้ำหลวง ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน ตอนนั้นน้ำยังไม่ท่วมสามแยก สามารถเดินลุยน้ำถึงบริเวณนั้น ก่อนที่ฝนจะตกหนักจนน้ำในถ้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในระยะโถง 3 ถึงปากถ้ำ คาดเดินได้สะดวก

ขณะที่นายไชยเชษฐ์ พัดสี ผู้เชี่ยวชาญการกู้ภัยใต้น้ำบอกว่า โรค dcs หรือ ดีคอมเพซซั่น ซีกเนส ที่เกิดจากการหายใจโดยใช้ถังอากาศ แม้จะไม่ได้ดำน้ำลึก แต่ถ้าใช้ถังอากาศเป็นเวลานาน ก็อาจเกิดโรคนี้ได้ โดยต้องสังเกตอาการว่า ผู้ดำน้ำทั้งทีมซีลและเด็ก เริ่มปวดเมื่อยตามร่างกาย มึนงง การตอบสนองช้าหรือไม่ แต่ถ้าสถานการณ์น้ำภายในถ้ำหลวงฯ เริ่มสูงขึ้น จากฝนที่ตกหนัก จนทำให้ทีมซีลต้องแข่งกับเวลาพาเด็กๆ ทีมหมูป่าออกให้เร็วที่สุด ควรใช้ถังอากาศแบบคู่ ที่ผสมก๊าซออกซิเจนไม่เท่ากัน เพื่อยืดระยะเวลาในการดำน้ำได้นานขึ้น

แต่เชื่อว่าทีมซีลรู้ข้อจำกัดนี้ดี เพราะมีนักกู้ภัยในถ้ำใต้น้ำชาวต่างชาติคอยควบคุมอยู่ และเชื่อว่าในถ้ำมีตารางการดำน้ำ ที่จะกำหนดระยะเวลาและระยะทางการดำน้ำ เพื่อความปลอดภัยทุกคน

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ