โลกเป็นอะไร!? รวบรวมภัยพิบัติครั้งใหญ่ช่วง 1 เดือน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แทบจะทุกมุมโลกเกิดเหตุภัยพิบัติเกิดขึ้นมากมายที่ล้วนเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติครั้งใหญ่ สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน นิวมีเดีย พีพีทีวี จึงได้ทำการรวบรวมข่าวเกี่ยวกับภัยพิบัติรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วไปโลกมานำเสนอ ให้ทุกคนได้เห็นว่า...เกิดอะไรขึ้นกับโลกบ้างหรือโลกของเรากำลังเปลี่ยนไป

เมืองซามูไร “น้ำท่วมหนัก-ร้อนจัดจนคนตาย”

เหตุการณ์แรกที่รุนแรงอย่างไม่คาดฝัน คือเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2561 ประเทศญี่ปุ่น เกิดเหตุ “น้ำท่วมจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักเป็นประวัติการณ์ ในจังหวัดฟุกุโอกะ จังหวัดซางะ และจังหวัดนางาซากิ” โดยทางการญี่ปุ่นสั่งอพยพประชาชนประมาณ 2 ล้านคน จากนั้นได้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองเพิ่มเติมทางภาคตะวันตกและภาคกลางของประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับน้ำท่วมไหลหลากและระดับน้ำที่สูงขึ้นจนประชาชนในบางพื้นที่ต้องอาศัยบนหลังคาบ้านเป็นที่พักพิงระหว่างรอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่

(อ่านเพิ่ม ญี่ปุ่นเผชิญฝนตกหนัก สั่งอพยพแล้ว 2 ล้านคน )

จากเหตุการณ์นี้ผ่านไป 9 วัน ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 204 ราย สูญหายอีก 24 คน ด้านกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นรายงานว่า ยังมีบ้านเรือนประชาชนอีกเกือบ 170,000 หลังคาเรือน ที่ยังไม่สามารถใช้น้ำประปาได้

(อ่านเพิ่ม ญี่ปุ่นยังวิกฤต!! หลังเผชิญน้ำท่วม-ดินถล่ม ยอดตายพุ่ง 64 คน )

( อ่านเพิ่ม ทีมกู้ภัย “ญี่ปุ่น” ฝ่าอุปสรรคค้นหาผู้รอดชีวิตน้ำท่วมใหญ่ )

อุทกภัยใหญ่ยังไม่ทันจะผ่านพ้นไป ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมญี่ปุ่นเผชิญกับปรากฏการณ์คลื่นความร้อนปกคลุมทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส และสูงสุดอยู่ที่ 41.1 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ถึงขนาดมีผู้เสียชีวิตจากสภาพอากาศร้อนจัดอย่างน้อย 77 รายและ อีกกว่า 22,000 คน ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจากอาการลมแดด โดยเกือบครึ่งเป็นผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศร้อนจัดในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อรวมถึงอุณหภูมิที่สูงกว่า 35 องศาเซลเซียสนี้ จะดำเนินต่อไปจนถึงช่วงต้นเดือนสิงหาคม

( อ่านเพิ่ม ญี่ปุ่นประกาศภัยพิบัติความร้อน ตายแล้ว 77 คน )

ยังอยู่ที่ “คลื่นความร้อน” ที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลก

ข้ามมาที่อีกซีกโลกหนึ่ง “คลื่นความร้อนที่ปกคลุมพื้นที่ตอนกลางและตะวันออกของประเทศแคนาดา” สำนักงานสาธารณสุขมณฑลควิเบกของแคนาดา รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากผลกระทบคลื่นความร้อน ว่า เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นอย่างน้อย 54 รายแล้ว มากที่สุดคือเมืองมอนทรีออล เมืองเอกของมณฑลควิเบก อย่างน้อย 28 คน ส่วนใหญ่เป็นชายและมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ขณะที่มณฑลออนแทรีโอซึ่งอยู่ติดกับมณฑลควิเบกกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนเช่นกัน แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

( อ่านเพิ่ม แคนาดาพบผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนต่อเนื่อง )

พิษ พายุโซนร้อน “เซินติญ” ถล่มเอเชีย

ช่วงวันที่ 14 ก.ค. 2561 ประเทศจีนเกิดฝนตกลงมาอย่างหนักติดต่อกัน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำแยงซีที่ไหลผ่านจากมณฑลยูนนาน ไปยังมณฑลเจียงซู และนครเซี่ยงไฮ้ เพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็วจนไหลเข้าท่วมชุมชนที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำสายดังกล่าว ทำให้เส้นทางในมณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นทางหลวงมากกว่า 10 สาย ถูกน้ำท่วมจนไม่สามารถสัญจรได้ และสะพานข้ามแม่น้ำมิน ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำแยงซีพังถล่ม โดยทางการจีนประเมินความเสียหายครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 2,400 ล้านหยวน หรือ ประมาณ 12,000 ล้านบาท

เช่นเดียวกับแม่น้ำเหลือง อีกหนึ่งแม่น้ำสายหลักของประเทศจีนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังเพิ่มระดับขึ้นเนื่องจากฝนตกหนัก เข้าท่วมทางรถไฟในมณฑลชานซี และพื้นที่ใกล้เคียงย่างมณฑลกานซู มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 คน และมีประชาชนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน

( อ่านเพิ่ม อ่วม! หลายพื้นที่ในจีนเผชิญน้ำท่วมหนัก )

นอกจาก ประเทศจีนแล้ว พายุเซินติญ ยังเข้าพัดถล่มตอนเหนือของเวียดนามเกิดพายุฝนฟ้าคะนองน้ำท่วมและดินถล่มอย่างหนักทั่วประเทศ รวมถึงกรุงฮานอย เมืองหลวงด้วย ที่มีน้ำท่วมขังในหลายจุด โดยยอดผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันอยู่ที่ 32 ราย สูญหาย 17 คน ขณะที่บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายกว่า 5,000 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหายอีกกว่า 500,000 ไร่

( อ่านเพิ่ม พายุโซนร้อน “เซินติญ” ถล่มเวียดนาม ตายพุ่ง 20 สูญหาย 16 คน)

อย่างไรก็ตาม พายุเซินติญ ยังเป็นสาเหตุทางธรรมชาติที่ทำให้เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แตกในแขวงอัตตะปือ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ทำให้ล่าสุดอยู่ที่เป็น 27 ราย สูญหายมากกว่า 130 คน และมีประชาชนมากกว่า 6,600 คนไร้ที่อยู่อาศัย

( อ่านเพิ่ม สรุปเหตุการณ์ “เขื่อนแตก” ที่ สปป.ลาว)

“ไฟป่า” ยังระอุในหลายประเทศ

แม้แต่ชาติมหาอำนาจเองก็ยังหนีภัยธรรมชาติไม่พ้น เมื่อในวันที่ 29 ก.ค. 2561 เกิดเหตุไฟป่า “คาร์” ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเผาทำลายพื้นที่ไปอย่างรวดเร็ว กินพื้นที่เกือบ 90,000 เอเคอร์ หรือกว่า 2 ล้านไร่ สิ่งปลูกสร้างได้รับความเสียหายมากกว่า 500 แห่ง ขณะที่ทีมนักดับเพลิงกว่า 3,500 นาย พร้อมด้วยเฮลิคอปเตอร์ดับไฟกว่า 17 ลำ ยังเร่งควบคุมเพลิงอย่างต่อเนื่องแต่จนถึงขณะนี้ยังสามารถดับไฟได้เพียง 10% เท่านั้น

และด้วยสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัด ประกอบกับกระแสลมแรง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “พายุทอร์นาโดไฟ” ขึ้น ซึ่งมีลักษณะเป็นเปลวไฟก่อตัวสูงขึ้นในอากาศ บิดม้วนเป็นเกลียวคล้ายพายุงวงช้าง สถานการณ์โดยรวมจนถึงขณะนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 5 รายโดยในจำนวนนี้ 2 คน คือเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ส่วนที่เหลือ คือ หญิงชราและหลานอีก 2 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้สูญหายอีก 17 คน

( อ่านเพิ่ม ไฟป่าแคลิฟอร์เนียไหม้ลุกลามกินพื้นที่เกือบ 2 ล้านไร่ )

ขณะที่ช่วงกลางๆ เดือนกรกฎาคม เกิดไฟป่าอย่างรุนแรงลุกลามเข้ามาในบริเวณเมืองท่าตากอากาศ ชานกรุงเอเธนส์ ทางตะวันออกของประเทศกรีซ มีรายงานบ้านเรือนมากกว่า 100 หลังได้รับความเสียหาย รถยนต์เสียหายอีกกว่า 200 คัน ผนวกกับคลื่นความร้อนที่เข้าปกคลุม ทำให้สภาพอากาศร้อนจัดตลอดเวลา อุณหภูมิอยู่ที่ระดับ 40 องศาเซลเซียส และยังมีกระแสลมแรงความเร็วสูงถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นอุปสรรคให้กับเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงในการควบคุมสถานการณ์ ทำให้การดับไฟเป็นไปอย่างยากลำบาก แม้จะมีการระดมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงกว่า 300 คน เครื่องบิน 5 ลำ และ เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำในการดับไฟป่าก็ตาม ล่าสุด ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 83 ราย ขณะที่ทางการประกาศไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน นับเป็นเหตุการณ์ไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีของกรีซ

( อ่านเพิ่ม ไฟป่าโหมกระหน่ำกรีซ ยอดตายพุ่งเกิน 70 คน )

แผ่นดินไหวอินโดนีเซียคนไทยกว่า 200 ชีวิตติด

และล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2561 กับเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.4 บนเกาะลอมบอก ทางภาคกลางตอนล่างของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม หลังจากนั้น เกิดแผ่นดินไหวตามหรืออาฟเตอร์ช็อกแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ครั้ง สำหรับยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่อย่างน้อย 16 คน นอกจากนี้ ยังมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 160 คน อาคารบ้านเรือนพังเสียหายหลายพันหลัง ซึ่งผลจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยกว่า 200 คนติดอยู่บนภูเขาไฟรินจานี เนื่องจากทางลงถูกปิดจากเหตุแผ่นดินไหว

( อ่านเพิ่ม เล่าละเอียด!! วินาทีเผชิญแผ่นดินไหว 6.4 ที่ภูเขาไฟรินจานี )

( อ่านเพิ่ม เร่งช่วยคนไทย 200 ชีวิตติดอยู่บนภูเขาไฟรินจานี อินโดนีเซีย )

( อ่านเพิ่ม อินโดนีเซียเจออาฟเตอร์ช็อกกว่า 60 ครั้ง หลังแผ่นดินไหว 6.4 )

"ไทย" พื้นที่ริมโขง-เขื่อน ปริมาณน้ำสูงเข้าท่วมหลายพื้นที่

สำหรับประเทศไทยเอง เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2561 ได้เกิดเหตุดินถล่ม ดินภูเขาสไลด์ทับบ้านเรือนประชาชน 4 หลัง ที่บ้านห้วยขาบ ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน หลังฝนตกสะสมในพื้นที่หลายวัน ขณะที่การช่วยเหลือยากลำบาก เนื่องจากดินถล่มทางเข้าหมู่บ้าน เหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิต 8 คน ซึ่งเป็นครอบครั้วเดียวกันทั้งหมด และมีการสั่งอพยพชาวบ้านอีก 33 ครัวเรือนออกจากพื้นที่แล้ว

รวมถึงน้ำท่วมในหลายพื้นที่ในแถบภาคเหนือ ภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้ง ชายแดนไทย-เมียนมาร์ จ.ตาก จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำโขง อย่าง นครพนม เชียงราย ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำเขื่อนในบางพื้นที่ เช่น เขื่อนวชิราลงกรณมีปริมาตรน้ำสะสมมากที่สุดในรอบ 34ปี เนื่องจากฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ต้องออกหนังสือแจ้งเตือนด่วนที่สุด ไปยังพื้นที่ท้ายเขื่อน 5 อำเภอ โดยเฉพาะกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ผู้ประกอบการแพท่องเที่ยว

( อ่านเพิ่ม เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือชาวบ้านเหยื่อดินถล่ม อ.บ่อเกลือ จ.น่าน )
( อ่านเพิ่ม เตือน 5 อำเภอท้ายเขื่อนวชิราลงกรณ เตรียมรับน้ำ ส่วนแก่งกระจาน มีน้ำ 91 % )

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ