ดีแทค-เอไอเอส ร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ทิ้งคลื่น 900 MHz


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ดีแทคและเอไอเอส เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนทรูมูฟ เอช ไม่เข้าร่วมประมูลทั้ง 2 คลื่นความถี่ เพราะมีคลื่นความถี่เพียงพอต่อการให้บริการ ส่วนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ไม่มีเครือข่ายใดสนใจเข้าประมูล กสทช.เตรียมปรับหลักเกณฑ์ใหม่ เนื่องจากต้องลงทุนระบบป้องกันการรบกวนสัญญาณ

วันนี้ ( 8 ส.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเปิดให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ครั้งที่ 2 และคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ในวันนี้มี 2 ค่ายมือถือ คือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และกลุ่มบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ได้แสดงความจำนงเข้าร่วมประมูลเฉพาะคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะเริ่มการประมูลในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ โดยทั้ง 2 ค่ายได้วางหลักทรัพย์ค้ำประกันตามเงื่อนไขของ กสทช. ในวงเงิน 2,500 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรูมูฟ เอช ส่งหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ขอเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ เนื่องจากมีคลื่นความถี่เพียงพอต่อการให้บริการอยู่แล้ว และทางบริษัทฯ จะไม่เสียโอกาสแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดของทรูมูฟ เอช จึงส่งผลให้ให้คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ไม่มีค่ายใดสนใจเข้าร่วมประมูล

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  หรือ กสทช. ระบุว่า ในส่วนของการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ผู้ประกอบการจะสามารถเคาะได้สูงสุด 4 ใบอนุญาต จากทั้งหมด 9 ใบอนุญาต โดยมีราคาเริ่มต้นใบอนุญาตละ 12,486 ล้านบาท ซึ่งหากทั้ง 2 ค่ายประมูลไปเต็มจำนวนจะมีเงินเข้ารัฐจากการจ่ายเงินงวดแรกร้อยละ 50 หรือประมาณ 25,000 ล้านบาท โดย กสทช.จะเร่งตรวจสอบคุณสมบัติ และประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูลในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

ค่ายมือถือเมินคลื่น 900 MHz กสทช.เตรียมปรับเงื่อนไข

นอกจากนั้น เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ในส่วนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ไม่มีผู้ประกอบการรายใดยื่นคำขอร่วมประมูล จะมีการปรับเงื่อนไขใหม่ให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะระบบป้องกันการรบกวนสัญญาณที่ทางค่ายมือถือประมูลไป ต้องลงทุนระบบป้องกันการรบกวนสัญญาณ เพราะคลื่นความถี่ดังกล่าวได้ถูกจัดสรรให้กระทรวงคมนาคม นำคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ไปใช้งานในโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการรบกวนคลื่นสัญญาณกัน  โดยจะมีการนำเสนอที่ประชุมบอร์ด กสทช. เพื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติในวันที่ 19 สิงหาคมนี้อีกครั้ง เพราะผู้ประกอบการยังแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ หากมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ