"ท้องไม่พร้อม" เสียงของผู้หญิงที่ยังไม่พร้อมเป็น "แม่"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมซึ่งมีสาเหตุจากการที่ครรภ์ผิดปกติแต่ถูกปฏิเสธบริการยุติการตั้งครรภ์ซึ่งเป็นสาเหตุที่ให้ผู้หญิงเหล่านี้ไปหาแหล่งบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัย บางรายสั่งยาจากเว็บไซต์เพื่อยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง

นายนิมิตร์  เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยว่า จากการให้บริการปรึกษาของสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ในรอบปีที่ผ่านมา (1 ส.ค.60 - 31 ก.ค.61)  มีผู้รับบริการ 28 ราย ที่อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใต้ข้อกฎหมายและเกณฑ์ทางการแพทย์แต่กลับถูกปฏิเสธให้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เกิดจากความผิดปกติของครรภ์ เช่น กรณีตัวอ่อนในครรภ์พิการ การตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตของหญิงตั้งครรภ์ ผู้รับบริการที่อายุต่ำกว่า 15 ปี รวมถึงการตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการถูกละเมิด

ซึ่งการถูกปฏิเสธบริการยุติการตั้งครรภ์ส่งผลให้ผู้หญิงเหล่านี้ ไปหาแหล่งบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัย บางรายสั่งยาจากเว็บไซต์เพื่อยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง หรือทำร้ายตัวเองเพื่อให้เกิดการแท้ง

แสดงว่าการตั้งครรภ์ไม่พร้อมไม่ว่าการตั้งครรภ์นั้นจะเกิดจากสาเหตุอะไร แต่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้หญิง ซึ่งสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใต้กฎหมาย แต่กลับถูกปฏิเสธการ เพราะทัศนะด้านลบของบุคลากรสาธารณสุขต่อการตั้งครรภ์และการทำแท้ง ส่งผลให้ทุกๆ ปีมีผู้หญิงต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย

จึงเรียกร้องหน่วยบริการด้านสุขภาพทุกแห่ง ให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ให้กับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม เพื่อเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีสำหรับการยุติการตั้งครรภ์มีความปลอดภัยสูงมากและไม่ซับซ้อน

ประกอบกับขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย ก็มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยสนับสนุนยาและค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

สำหรับกรณีผู้รับบริการถูกปฏิเสธบริการยุติการตั้งครรภ์ แม้ว่าอยู่ภายใต้เงื่อนไขกฎหมาย นางสาวอัชรา  แก้วประดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการการให้บริการปรึกษาสายด่วน 1663 หยิบยกกรณีตัวอย่างของหญิงรายหนึ่ง ที่โทรมาปรึกษาทาง 1663 ว่า ตั้งครรภ์และแพทย์ที่รับฝากครรภ์ประเมินเบื้องต้นว่า "ทารกในครรภ์อาจมีพัฒนาการด้านสมองไม่ปกติ ซึ่งสามารถตรวจทราบแน่ชัดได้ในเดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์ ประกอบกับพบเนื้องอกที่ปากมดลูก"  ซึ่งหญิงรายนี้ไม่อยากรอถึงตอนนั้น เพราะหากต้องยุติการตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์มากจะทำใจได้ยาก จึงแจ้งกับโรงพยาบาลว่าจะขอยุติการตั้งครรภ์เลย แต่โรงพยาบาลตามสิทธิไม่ยุติการตั้งครรภ์ให้ จึงโทรมาปรึกษาทาง 1663 และสามารถยุติการตั้งครรภ์ที่คลินิกในเครือข่ายแพทย์ RSA (Referral system for Safe Abortion) ได้

ส่วนอีกรายผู้รับบริการตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์ อัลตราซาวด์ที่คลินิกภายในจังหวัดแล้วพบ "ตัวอ่อนผิดปกติ" แพทย์คลินิกซึ่งเป็นแพทย์ของโรงพยาบาลประจำจังหวัดด้วย ได้ส่งตัวผู้รับบริการไปที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่ออัลตราซาวด์ยืนยันผลอีกครั้ง

"ทางโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ ได้ยืนยันตัวอ่อนผิดปกติจริง จึงทำใบส่งตัวผู้รับบริการให้มายุติการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดตามสิทธิบัตรทองของผู้รับบริการ แต่ทาง โรงพยาบาลปฏิเสธโดยแจ้งกับผู้รับบริการว่าโรงพยาบาลไม่มีนโยบายยุติการตั้งครรภ์"

สำหรับสถิติการให้บริการปรึกษาของสายด่วน 1663 เรื่องท้องไม่พร้อม ระหว่างปี 1 ต.ค.2558 - 30 มิ.ย.2561 พบว่ามีผู้ปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมทั้งสิ้นรวม 52,370 ราย โดยผู้รับบริการเป็นวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เพิ่มมากขึ้นทุกปี ถึง 30.1% ของผู้รับบริการทั้งหมด และยังพบอีกว่าหลังได้รับคำปรึกษา 83.5% เลือกยุติการตั้งครรภ์ ซึ่ง 1663 ได้ส่งต่อบริการยุติการตั้งครรภ์ไปยังหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนภายใต้กฎหมายและข้อบังคับของแพทยสภา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกฎหมายไทย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ยกเว้นความผิดของมาตราหญิงที่ทำแท้งและผู้ทำแท้ง ในกรณีผู้ทำแท้งเป็นแพทย์ผู้มีใบอนุญาต และเป็นการทำแท้งด้วยความจำเป็นด้านสุขภาพของหญิงหรือตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืนกระทำชำเรา รวมทั้งกรณีที่การตั้งครรภ์เกิดจากการถูกล่อลวง บังคับ ข่มขู่ เพื่อทำอนาจารสนองความใคร่

ด้านประมวลกฎหมายอาญา ข้อบังคับแพทยสภา ระบุว่า ด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ก็ระบุเงื่อนไขที่แพทย์ทำแท้งให้หญิงโดยไม่มีความผิดไว้ว่า นอกจากการทำแท้งที่เป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 (1) และ (2) แล้ว

"ในกรณีที่หญิงมีปัญหาสุขภาพทางจิต หรือหญิงมีความเครียดอย่างรุนแรงเพราะพบว่าทารกในครรภ์มีหรือมีความเสี่ยงที่จะพิการอย่างรุนแรง หรือเป็นหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดต่อทางพันธุกรรมอย่างรุนแรง ก็สามารถทำแท้งให้ได้โดยไม่ผิดกฎหมายทั้งแพทย์ผู้ทำแท้งและหญิงที่ถูกทำให้แท้ง"

แต่...หญิงที่ทำให้ตัวเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้แท้งลูก มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ ผู้ทำให้หญิงแท้งลูกโดยความยินยอม ก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 302 ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินห้าปีปรับไม่เกิน10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากการทำแท้งเป็นเหตุให้หญิงได้รับอันตรายสาหัส ผู้ทำให้หญิงแท้งลูกมีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากการทำแท้งเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้ทำให้หญิงแท้งต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท

การตั้งท้องคือการเกิดสิ่งมหัศจรรย์สำหรับผู้หญิง และบทบาทหน้าที่แม่ก็คือสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนยกให้เป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต แต่การให้กำเนิดลูกน้อยนั้น หากเลือกได้ก็อยากให้เกิดจากความพร้อมทั้งสภาพจิตใจ ร่างกาย เพื่อนำไปสู่การสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์แบบที่สุดต่อไป

ภาพ-ข้อมูล เว็บไซต์ ilaw,อินเทอร์เน็ต

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ