“สรรพสามิต” แจง น้ำที่ได้จากการทำข้าวหมาก คือ สาโท


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ลูกสาว ยืนยันแม่ขายน้ำข้าวหมาก ไม่ได้ขายสาโท ขณะที่ กรมสรรพสามิต แจงน้ำที่ได้จากการหมักข้าวเหนียวผสมยีส คือ สุราแช่ หรือ สาโท ต้องเสียภาษี ส่วนข้าวที่ได้จากการหมัก คือ ข้าวหมากนำมาขายได้ไม่ผิดกฎหมาย

ในสังคมโซเชียลมีวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกรณี นางเสน่ห์ ป่วงรัมย์ อายุ 60 ปี แม่ค้าขายข้าวหมาก บริเวณตลาดนัดคลองถมสี่แยกกระสัง อ.เมืองบุรีรัมย์ ถูกเจ้าหน้าที่สรรพสามิต จับกุมขณะนั่งขายข้าวหมากห่อใบตอง ในข้อหาจำหน่ายเหล้าสาโท โดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมเรียกค่าปรับสูงถึง 5 หมื่นบาท ก่อนมีการต่อรองลดเหลือ 1 หมื่นบาท จนล่าสุดสรรพสามิต บุรีรัมย์โชว์หลักฐานสุราแช่ หรือ สาโท 11 ถุง ที่ยึดได้จากนางเสน่ห์

วันนี้ (16 ส.ค.61) รายการ “เป็นเรื่องเป็นข่าว” จึงสอบถามข้อเท็จจริงจากทั้ง 2ฝ่ายเพื่อให้คลายข้อสงสัย

น.ส.บุญมณี บ่วงรัมย์ ลูกสาวของนางเสน่ห์ แม่ค้าขายข้าวหมาก ยืนยัน แม่ของตนขายข้าวหมาก ไม่ได้ขายสาโท ส่วนน้ำที่อยู่ในถุงเป็นน้ำข้าวหมาก ที่นำน้ำเปล่ามาผสม เพราะหัวเชื้อของข้าวหมากมีความหวานจึงต้องใส่น้ำผสม ในขณะที่ถูกจับกุมแม่ก็พยายามอธิบายกับเจ้าหน้าที่แล้วแต่เขาไม่เชื่อ ส่วนหลักฐานที่เจ้าหน้าที่มาโชว์ต่อสื่อเป็นภาพภายในถังเท่านั้นไม่ได้นำภาพถ่ายห่อข้าวหมากมาโชว์  ตนเองก็รู้อยู่แล้วว่าการขายสาโทผิดกฎหมายแล้วจะทำผิดไปทำไม

“สำหรับน้ำข้าวหมาก กับน้ำสาโท มีความแตกต่างกัน เพราะน้ำข้าวหมากจะมีความหวานใสกว่า ส่วนสาโทน้ำจะมีกลิ่นฉุน มีสีเหลือง และแรงกว่า อีกทั้ง แม่ของตนขายน้ำข้าวหมากถุงละ 20บาท ถ้าซื้อ 3ถุง ราคา 50บาท”

น.ส.บุญมณี ระบุด้วยว่า ในช่วงที่เจ้าหน้าที่จับกุมแม่ ตนเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ จนน้องสาวคนที่ 2มาบอกว่าแม่ถูกจับ และ ก่อนที่ตนเองไปถึง เจ้าหน้าที่บอกกับแม่ว่า ต้องเสียค่าปรับ 5หมื่นบาท เพราะผิดกฎหมาย และแม่ก็ยกมือไว้พร้อมร้องให้ขอให้เจ้าหน้าที่ อะลุ่มอหล่วย เพราะตัวเองเป็นคนยากคนจนหาเช้ากินค่ำ และขอลดเป็น 5,000บาทอีกทั้งขณะนั้นแม่มีเงินติดตัวแค่2 บาท แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ได้ต้องติดคุก และลดค่าปรับเหลือ 3หมื่นบาท ตนเองจึงคุยกับเจ้าหน้าที่ว่าให้จับตนเข้าคุกแทนแม่ได้หรือไม่ เพราะแม่สุขภาพไม่ค่อยดี เจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่ได้เพราะคุณไม่ได้ทำผิด แม่คุณผิดเพราะเป็นคนขาย แต่มีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าให้ไปหาเงินมา1 หมื่นบาทมาประกันตัวเพราะถ้าขึ้นศาลจะยุ่งยาก ตนเองจึงต้องไปหยิบยืมเงินจากคนอื่นมา 1หมื่นบาทเพื่อจ่ายให้กับสรรพสามิต อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นสาโท หรือน้ำข้าวหมาก มีแต่ไล่ตนไปหาเงินมาประกันตัวแม่ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้เงินก็บอกว่า “หนูช่วยแม่อย่างนี้ขอให้ทำมาหากินขึ้นนะลูก” จากนั้นตนเองก็รับใบเสร็จมาแล้วเดินทางกลับพร้อมขยำใบเสร็จทิ้งเพราะตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร และ ตนเองไม่รู้ข้อกฎหมายด้วย

ด้าน นายปรีชา ณ เชียงใหม่ ทนายความอิสระ กล่าวว่า กรณีนี้ถ้าผู้ต้องหามีการโต้แย้งทางตำรวจ หรือ กรมสรรพสามิต จะต้องพิสูจน์ ว่าที่ผู้ต้องหาโต้แย้งมีเท็จจริงหรือไม่ เพราะเรื่องนี้พิสูจน์ได้ง่าย เนื่องจากน้ำสาโท กับน้ำข้าวหมากมีสีแตกต่างกัน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ต้องดูพฤติการณ์ว่าที่เขาวางขายอย่างไร แม้เขาจะขายน้ำข้าวหมากก็ไม่มีความผิดอยู่ดี

ในคดีลักษณะนี้เคยศาลฎีกาเคยพิพากษาตัดสินมาแล้วเมื่อปี 2509 ว่าข้าวหมากไม่ใช่สุรา ฉะนั้นจำเลยทำก็ไม่มีความผิด และ เมื่อปี 2517 ศาลได้ตัดสินว่าข้าวหมากสามารถขายได้เพราะเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น

นายปรีชา ระบุอีกว่า หากพิสูจน์ทราบว่าเป็นสาโทจริง ตามพ.ร.บ.สรรพสามิตร มาตรา 193 ประกอบกับมาตรา153 จะมีโทษปรับไม่เกิน 1หมื่นบาท

ในขณะที่ นาย ณัฐกร อุเทนสุต รองโฆษกกรมสรรพสามิต ชี้แจงว่า การขายข้าวหมากไม่มีความผิด แต่มีที่นางเสนห์ ขายเป็นน้ำจำนวน 11ถุง ถุงละ 1กิโลกรัม เป็นสุราแช่ หรือ สาโท ความหมายของสุราแช่ หมายถึง การนำข้าวเหนียว หรือ ข้าวจ้าว ไปหมักกับยีส เราจะเรียกว่าสาโท

“การนำข้าวเหนียวมาหมักกับยีส จะเกิดปฏิกิริยาเป็นแอลกอฮอล์ น้ำที่ได้มาจากการหมักถือเป็นสุราประเภทหนึ่ง ที่ต้องเสียภาษีกับสรรพาสามิตร ส่วนข้าวที่ได้จากการหมักสามารถนำมาขายเป็นข้าวหมากได้ไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้น น้ำที่คุณยาย นำมาขายเป็นสุราแช่ หรือ สาโท  ถ้าจะขายข้าวหมากจะต้องแยกน้ำออก หรือ เทน้ำทิ้งไป ต้องเอาเฉพาะข้าวที่หมักมาขายเท่านั้น” รองโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าว

นาย ณัฐกร บอกว่า สาเหตุที่คุณยายบอกว่าเป็นน้ำข้าวหมาก นั้น เชื่อว่าคุณยายมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะกระบวนการทำสุราแช่ ถ้านำข้าวที่ได้จากการหมักทิ้งน้ำที่ได้คือแอลกอฮอล์ และถ้านำน้ำนี้ไปกลั่นก็ได้เป็นสุรากลั่น หรือ เป็นสุราขาว

ส่วนการเสียค่าปรับจำนวน 5หมื่นบาท นั้นถ้าไปดูเนื่อหาของ พ.ร.บ.สรรพสามิตพ.ศ.2560  มาตรา 191 ระบุไว้ว่า ถ้าครอบครองไว้เพื่อขายจะต้องเสียภาษีสรรพสามิต และ ต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ส่วนมาตรา 192 ระบุว่า มีไว้ในครอบครองแต่ไม่ได้ขายปรับไม่เกิน1หมื่นบาท แต่เท่าที่ดูเจตนาแล้ว คุณยาย มีไว้ในครอบครองถึง 11ถุง และก็มีการนำมาขาย ซึ่งไม่ใช่เป็นการกระทำในครั้งแรก และคดีนี้มีการแจ้งเบาะแสจากประชาชนร้องเรียนว่ามีการขายสาโท เราก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

ส่วนกรณีนี้ควรจะตักเตือนก่อนได้หรือไม่ นาย ณัฐกร ระบุว่า ในกรณีนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เพราะถ้าไปพบการกระทำผิดซึ่งหน้า หากไม่จับกุมเจ้าหน้าที่ก็จะมีความผิด ดังนั้น กรณีนี้ เป็นเหมือนเส้นบางๆที่แบ่งอยู่ในทุกวันนี้  

อ่านเพิ่มเติม : ยายขายข้าวหมากโดนสรรพสามิตจับปรับ 5 หมื่น

อ่านเพิ่มเติม : สรรพสามิตบุรีรัมย์ แจงจับยายขายสาโท ไม่ได้จับข้าวหมาก

ดูคลิปที่นี่: “สรรพสามิต” แจงจำต้องจับยาย “ขายสาโท” ปรับ 1 หมื่น เพราะผิดซึ่งหน้า ถ้าไม่ทำหวั่นโดนข้อหาละเว้น

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ