ที่มา 250 ส.ว. ตัวแปรร่วมเลือก “นายกรัฐมนตรี” คนใหม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งอย่างเต็มตัว หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.ป. 2 ฉบับ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว รัฐธรรมนูญปี 2560 แตกต่างจากฉบับอื่นๆ ที่การเลือกนายกรัฐมนตรี นอกจากสมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คนที่สิทธิโหวตเลือกนายกฯแล้ว ครั้งนี้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ สมาชิกวุฒิสภา อีก 250 คนที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นคนเลือก มีสิทธิ์ร่วมเลือกด้วย ติดตามที่มา ของ ส.ว. 250 คน

หากมีการเลือกตั้งตามโรดแมปที่รัฐบาลระบุ คือภายในเดือนพ.ค. ปี 2562 จะเห็นภาพการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แตกต่างจากครั้งอื่นๆ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ สมาชิกวุฒิสภา 250 คน มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับสมาชิกผู้แทนราษฎรอีก 500 คน

มาตรา 269 ในบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้วาระแรก มี ส.ว.จำนวน 250 คน จากการสรรหาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แบ่งได้สามส่วน

ส่วนแรกคัดเลือกกรรมการสรรหา ที่มีความรู้ประสบการณ์ด้านต่างๆ เป็นกลางทางการเมือง  9  ถึง 12 คน คัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมที่ดำรงตำแหน่ง ส.ว. ไม่เกิน 400คน จากนั้น คสช.จะคัดเลือกให้เหลือ 194 คน พร้อมคัดชื่อสำรองอีก 50 คน

ส่วนที่สอง เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ส่วนสุดท้ายได้จากการที่ กกต. คัดเลือกเปิดรับสมัคร 10 กลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กลุ่มการศึกษาและการสาธารณสุข กลุ่มอาชีพกสิกรรม ทำนา ทำสวน ประมง ตามมาตรา 91 ให้มีการดำเนินการคัดเลือกตามที่บทเฉพาะกาลบัญญัติไว้ เลือกกันเองให้ได้รายชื่อทั้งหมด 200 รายชื่อ จากนั้นส่งให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 รายชื่อเพื่อเป็นสมาชิกวุฒิสภา และคัดเป็นรายชื่อสำรอง 50 รายชื่อ

ประเด็นสำคัญ 5 ปีแรก ส.ว.ทั้ง 250 คนนี้ ร่วมโหวตเลือก นายกฯ กับ ส.ส.ได้  ซึ่งเป็นผลมาจากคำถามพ่วงที่ผ่านการลงประชามติ รัฐสภาประกอบด้วย ส.ส. 500 คน ส.ว.250 คน รวมเป็น 750 คน  จะเห็นว่า ส.ว.250 คน ถือเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนเสียงทั้งหมดในสภา ถือว่ามีอำนาจต่อรองกับฝ่ายการเมืองได้

ส.ว.ชุดนี้มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี  นับว่าเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกนายกฯ ไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอก และรัฐบาลใดจะเข้ามาบริหารประเทศจะต้องทำตามยุทธศาสตร์ 20 ปีที่ คสช.ได้วางไว้ เพราะ ส.ว.ยังมีหน้าที่ตรวจสอบ กำกับ ดูแลการทำงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติทุก 3 เดือน และ หาก ส.ว.พิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐบาล ไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยไม่มีเหตุสมควร มีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานรัฐนั้น ให้สั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการได้

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ