ถ้าไม่เป็นมะเร็งวันนั้น "ผู้หญิงคนนี้" อาจไม่ได้ยินเสียงหัวใจของตัวเองในวันนี้


โดย Kochaphan Suksujit

เผยแพร่




หลิง พีรดา พีรศิลป์ อดีตผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ทุกวันนี้เธอเป็นบรรณาธิการอิสระพบเจอสัญญาณเตือนของความตายที่ส่งผ่านมาทางโรค “มะเร็ง” ถึง 2 ครั้ง และกลายเป็นจุดที่ทำให้ตัดสินใจลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิดด้วยการ ฟัง เชื่อ แล้วลงมือทำ “ตามเสียงหัวใจของตัวเอง” จนค้นพบความสุขที่แท้จริงและคำตอบของชีวิตว่า “ทำเถอะเพราะไม่รู้ว่าจะมีวันพรุ่งนี้มั้ย”

กรมการแพทย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยและมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นหลักแสนคนต่อปี เป็นการตอกย้ำความน่ากลัวของโรคนี้ให้กับใครหลายคนโดยเฉพาะผู้ป่วยที่กำลังเผชิญอยู่กับมัน แต่...ไม่ใช่กับผู้หญิงที่ชื่อ “หลิง พีรดา พีรศิลป์” ซึ่งการที่เธอได้มานั่งถ่ายทอดเรื่องราวและสร้างกำลังใจผ่านทีมนิวมีเดีย พีพีทีวี ว่า เราสามารถสู้กับโรคนี้ได้ และสุดท้ายเราอาจจะต้องขอบคุณมะเร็งด้วยซ้ำ” ก็เพราะว่าเธอผ่านจุดนั้นมาแล้วด้วยตัวเอง

เธอเป็นตัวอย่างของคนปกติ คนปกติที่บอกว่าเรามีชีวิตปกติทั่วไปเป็นพนักงานออฟฟิศ ทำงาน มาเช้ากลับดึก นอนหลับแต่ไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่อยากทาน โรคมะเร็งเป็นโรคไกลตัว จนวันหนึ่งเมื่อเข้าสู่วัย 30 ปี อาการเจ็บก้อนเนื้อที่หน้าอกมาพร้อมกับผลตรวจของหมอว่ามันคือ “เนื้อร้าย” และเนื้อร้ายนั้นคือ “มะเร็ง” คือจุด(เริ่ม)เปลี่ยน

“ตอนนั้นคือช็อก...ประมาณ 1-2 สัปดาห์ แล้วเราก็แบบว่า  เฮ้ย เราเป็นแล้วอ่ะ แล้วถ้าเราเฟลกับมันจะยิ่งแย่ ก็เลยสู้ไปกับมัน คุณหมอให้รักษายังไงเราก็ทำตามที่คุณหมอว่าทำทุกขั้นตอน ตอนนั้นเราเห็นมุมมองละว่าเป็นมะเร็งแล้วมันน่ากลัวแล้วเรารู้สึกว่าเราไม่อยากเป็น เรารู้สึกว่าชีวิตเรามีค่า”

โรคมะเร็งในการรับรู้ของคนคือ...เป็นแล้วต้องตาย แม้แต่ตัวเธอและครอบครัวก็เช่นกัน ซึ่งเธอบอกว่า “มันเป็นการรับรู้ที่ผิด” เธออยากให้ทุกคนรู้ว่ามันหายได้ ยิ่งถ้าคนเป็นขั้นต้นมันหายได้ และถ้ามันกลับมาอีกก็รักษาอีก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะมีมุมมองหรือตั้งหลักคิดได้แบบนี้ภายใต้ความน่ากลัวของโรคที่ฝังอยู่ในหัวเราเลยถามแทนผู้ป่วยอีกหลายคนว่า “ผ่านมาได้อย่างไรที่สำคัญตอนนั้นบอกกับตัวเองอย่างไร....”

“ถ้าเราไม่สู้เราแพ้ตั้งแต่เริ่มเลย เราโดนผลักขึ้นไปบนเวทีต่อสู้ ถ้าไม่สู้ เราโดนเขาฟาดฟันตายเฉยๆ เลย คือแบบเราตายฟรีๆ แบบนั้นไม่ได้ “หลิงเชื่อว่าเราต้องรอดบนเวทีนั้น” ทุกคนจะมีวิถีของตัวเองเราต้องสู้ คุณหมอให้รักษาแบบไหนให้ความร่วมมือ เรามองมันเหมือนหวัด หวัดเป็นแล้วก็หาย”

ซึ่งบทเรียนจากมะเร็งครั้งแรกสอนให้เธอรู้ว่า “ชีวิตมีค่าและจะเริ่มชีวิตใหม่อยากทำอะไรก็จะทำ” จึงตั้งใจทำงานเก็บเงิน แต่เลือกงานมากขึ้น เครียดน้อยลงและท่องเที่ยวต่างประเทศ

10 ปีต่อมาในช่วงอายุ 40 ปี  “สัญญาณจากมะเร็ง” กลับมาหาครั้งที่ 2 และครั้งนี้คือ "จุดเปลี่ยนสำคัญ" ที่ทำให้เธอเปลี่ยนทั้งกายและใจจนทำให้รู้จักกับ “ความสุขจากข้างในหัวใจจริงๆ”

“เปลี่ยน เปลี่ยนเลย ครั้งที่สองเรารู้สึกแบบคนเราตายง่ายมาก คือเราจะตายเมื่อไหร่ไม่รู้ เฮ้ย! เราปล่อยตัวเองแบบนี้ไม่ได้ อยากทำอะไรทำ อยากมีสุขภาพที่แข็งแรง มีกล้ามเนื้อสวยงามออกกำลังกาย มีความฝันอะไรที่อยากจะทำอีกตอนนั้นก็คือเราท่องเที่ยวมาก่อนเราชอบท่องเที่ยว”

แต่การท่องเที่ยวครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งแรก เมื่อเธอตัดสินใจใช้เงินเก็บที่มี 400,000 บาท ซื้อ “มอเตอร์ไซค์ Triumph Bonneville SE” มาเป็นเพื่อนเดินทางท่องโลก ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ทั้งเป็นทริปกลุ่มและลุยเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว, เวียดนาม, มาเลเซีย, อินเดีย, เกาะโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น จนถึงวันนี้ 3 ปี กับอีกกว่า 30,000 กิโลเมตร

ตอนนั้นอายุ 40 แข็งแรงกว่าตอน 30 โคตรรู้สึกว่าร่างกายดีมากทั้งภายใน ภายนอก สมองปลอดโปร่ง กระปรี้กระเปร่า แล้วเราอยากขี่มอเตอร์ไซค์ใช่มั้ย เราซื้อเลย แล้วก็ไปฝึกเรียน ประมาณ 5 เดือนก็เริ่มออกเดินทาง”

ทุกวันนี้ได้ทำตามฝันคือ “ขี่มอเตอร์ไซต์ท่องเที่ยว” จนกลายเป็นหนึ่งเดียวกับมอเตอร์ไซค์คันนี้ หลายครั้งยามเดินทางกับเพื่อนคู่ใจสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นผ่าน เส้นทางแต่ละเส้น สายลม ความเงียบ คือ “ได้ยินเสียงหัวใจของตัวเอง”

“ มันจะมีโมเมนต์ความสุขจนกลายเป็นน้ำตาในหมวกกันน็อค คือตอนขี่ไปแล้วแบบว่ามันเงียบหมดเลย ถนนมันจะมีลม คุณจะรู้สึกว่ามันมีความสุขมาก แล้วเรารู้สึกว่าขอบคุณตัวเองที่พาตัวเองมาอยู่ตรงนี้ พาตัวเองไปท่องเที่ยวในที่สวยๆ ขอบคุณทุกอย่างที่ทำให้เราเดินทางกลับถึงบ้านปลอดภัยทุกครั้ง พี่รู้สึกว่าเราโชคดี พี่ชอบโมเมนต์นี้มาก มันมหัศจรรย์”

และความรู้สึกเหล่านั้นทำให้เธอพูดได้อย่างมั่นใจว่า “ขอบคุณมะเร็ง” ที่ทำให้ชีวิตเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เห็นมุมอื่นๆของชีวิต เห็นคุณค่า และความหมายของชีวิตจนพูดได้ว่า “ทุกวันนี้ชีวิตในวัยนี้ มีความสุขที่สุดเท่าที่เคยผ่านมา”

ส่วนเป้าหมายในชีวิตต่อไปเธอบอกกับทีมนิวมีเดีย พีพีทีวี ว่าไม่ได้มองไกล เพราะเชื่ออย่างหนึ่งว่าไม่รู้จะตายเมื่อไหร่ เมื่อเชื่อแบบนั้นได้เราจะทำทุกวันให้ดีที่สุดก่อน มีความสุขกับตัวเองและคนรอบข้างแต่ต้องไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน

“ชีวิตมันคาดเดายาก ไม่มีใครรู้อนาคต พี่จะรู้สึกอย่างนี้ตลอดสุขภาพคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต เงินทอง สิ่งนอกกายเราหาเมื่อไหร่ก็ได้ หรือมีเท่าที่พอใช้เรา ฉะนั้นถ้ากาย ใจ เรามีความสุขชีวิตเราจะมีความสุข ถ้ากายและใจเราดีชีวิตเราจะดี พี่เชื่อแค่นี้”

การสนทนาจบลงพร้อมๆกับแง่มุมของความคิดที่ทำให้เราถอยหลังมามองหัวใจของตัวเองอีกครั้ง เสียงเครื่องยนต์จากมอเตอร์ไซค์ไกลออกไปแล้วแต่ พลังของการเห็นคุณค่าของชีวิตยังคงอยู่

สำหรับคนที่ไม่ได้เผชิญกับโรคมะเร็ง เรื่องนี้อาจจุดประกายให้คุณ ถอยออกมาพิจารณาความปกติของชีวิตในแต่ละวันของตัวเองมากขึ้นว่าได้สร้างเกราะป้องกันที่แข็งแรงแล้วหรือยัง ส่วนคนที่กำลังเผชิญกับโรคนี้หรือโรคใดๆ หรือปัญหาใดก็ตาม หวังเหลือเกินว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นกำลังใจ เป็นพลังบวกเข้าไปแทนที่ความกลัว ความสิ้นหวัง ให้ตั้งใจฟังเสียงหัวใจตัวเองดีดีอีกครั้งว่า “เราจะยอมแพ้ไปง่ายๆ หรือ จะลุกขึ้นสู้เพื่อทำให้ชีวิตที่เหลืออยู่ในทุกวันมันมีความหมายมากกว่าเดิม”

ฤดูฝนผ่านไปเข้าสู่ฤดูหนาว “ฟ้าหลังฝนสวยงามเสมอ” คำนี้ยังใช้ได้และมันจะเกิดขึ้นถ้าคุณตั้งใจฟังเสียงหัวใจของตัวเอง

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ