เผยคลิปช้างป่าเขาใหญ่ ดักค้นรถหาของกิน ชาวเน็ตเสียงแตกควรจอด หรือขับหนี?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ช้างป่า ออกรื้อค้นรถหาอาหารบนถนนเขาใหญ่ อ.ปากช่อง เจอถุง-ขวดพลาสติกหยิบยัดใส่ปาก ด้านชาวเน็ตเสียงแตก ว่าควรต้องขับรถหนี หรือต้องจอดนิ่ง ๆ ห้ามขยับ เพราะกลัวช้างวิ่งตาม

วันนี้ (10 ธ.ค.61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ “Bossney Wisamon” โพสต์ภาพคลิปวิดีโอที่สามารถบันทึกไว้ได้บนถนนเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยภายในคลิปดังกล่าว มีช้างป่าเชือกหนึ่ง ที่เดินขึ้นมาบนถนน และกำลังรือค้นสิ่งของกระจัดกระจายบริเวณหลังรถกระบะคันหน้า เพื่อหาอาหารกิน หลังจากนั้นช้างตัวดังกล่าวก็เดินมารื้อค้นหลังรถกระบะของผู้ถ่ายคลิปวิดีโอต่อ ซึ่งมีช่วงจังหวะหนึ่งที่ช้างตัวนี้พบขวดน้ำพลาสติกบนรถ แล้วใช้งวงหยิบขวดน้ำดังกล่าวใส่ปากไปทั้งใบก่อนจะคายทิ้ง

ทั้งนี้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นจำนวนมากเข้ามากดไลค์คลิปวิดีโอดังกล่าวกว่า 463 ครั้ง และแชร์ออกไป 352 ครั้ง รวมถึงมีผู้คอมเมนต์กว่า 190 คอมเมนต์ โดยมีบางรายตั้งคำถามว่า เหตุใดถึงไม่ขับรถหนีออกไป แต่กลับกันบางรายก็มองว่า ถ้ารถวิ่งออกไป จะทำให้ช้างตกใจจนวิ่งตาม และทำให้คันหลังเดือดร้อนไปด้วย นอกจากนี้มีผู้แสดงความคิดเห็นว่า “ขอวิธีเอาตัวรอดกับเหตุการณ์แบบนี้หน่อย เพราะเคยมีหน่วยงานออกมาเตือนแต่ยังงง ๆ อยู่ บางคนบอกให้จอดนิ่ง ๆ บางคนบอกให้ค่อย ๆ ขยับรถไปเรื่อย ๆ ผมคนธรรมดาจะได้ทำตัวถูก”

 

สำหรับวิธีปฏิบัติเมื่อเจอช้างป่าบนเขาใหญ่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ระบุข้อปฏิบัติไว้บนเว็บไซต์ดังนี้ “ข้อควรปฏิบัติเมื่อเจอช้างป่า บนถนนของเขาใหญ่”

1. หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 30 เมตร หากช้างเดินเข้าหา ให้เคลื่อนรถหนีด้วยการถอยหลังอย่างมีสติ รอจนกว่าช้างจะหลบจากถนน จึงเคลื่อนรถผ่านไป

2. อย่าใช้แตรรถ หรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธ และตรงเข้ามาหาเราได้ เนื่องจากช้างป่า ประสาทหูจะดีมาก เสียงแตรแหลมๆจะทำให้ช้างตกใจและโกรธ

3. งดการใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจ ตรงเข้ามาทำร้ายได้ และทำให้ช้างเกิดการสนใจ เดินเข้ามาหา ช้างตกใจแล้ว ตกใจเลย หายยาก

4. ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที และเสียงเครื่องยนต์รถที่ติดเครื่องดังทุ้มๆ จะไม่ทำให้ช้างนั้นตกใจ ไม่เครียด และคุ้นเคย เพราะได้ยินเสียงและรู้ว่านี่คือรถยนต์

5. หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก ห้ามเปิดกระพริบ เพราะแสงจะเข้าตา และดึงดูดให้ช้างเกิดความสนใจ เดินเข้ามาหา

6. ประสาทสัมผัสของช้างที่ดีที่สุดคือ หู จมูก และตา ถ้าดับเครื่องยนต์ ช้างจะเข้าใกล้เพื่อใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น นั่นคือการดม ดู และสัมผัส ซึ่งนั่นหมายถึง ช้างเข้ามาหาคุณแย้ววววว เค้าแค่แตะๆ แต่ด้วยกำลังมหาศาล รถคุณก็บาดเจ็บได้

7. เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟต่ำ และอย่าเปิดกระพริบ แล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย แม้บางครั้งจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเบียดโขลงช้างไปก็ตาม อย่าดับเครื่องยนต์ และปิดไฟรถเป็นอันขาด ค่อยๆเคลื่อนรถ ให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งมากที่สุด

ปล. ไฟสูงเปิดได้ ในกรณีที่เราอยู่ห่างจากช้างป่ามากกว่า 50 เมตรขึ้นไป เพราะจะทำให้ช้างรู้ตัวว่ามีรถมา ไม่ตกใจ และเดินหลบเข้าข้างทาง ถ้าเปิดไฟสูงระยะใกล้กว่านี้แสงจะแยงตา ช้างตกใจได้

8. ไม่ควรจอดรถดูช้าง เพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา แล้วรถของคุณกีดขวางรถผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายแทนรถของคุณได้ คนตามหลังซวยเลยครับ

9. สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อรถจอดเรียงกันบนถนน ความสามัคคีจะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าคันที่อยู่ใกล้ช้างหรืออยู่ไกลช้างก็ล้วนเป็นผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น ดังนั้นหากรถคันหน้าเปิดไปถอยรถ คันข้างหลังถัดไปก็กรุณาถอยรถอย่างมีสติด้วยนะครับ โดนด้วยกันรอดก็ต้องรอดด้วยกัน

10. ไม่ควรจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปช้างในระยะใกล้ เพราะอาจทำให้คุณวิ่งหนีขึ้นรถไม่ทัน ควรระลึกอยู่เสมอๆว่า โดยทั่วไปช้างมักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรือฝูง ขณะที่คุณเจอช้างเพียงตัวเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีช้างตัวอื่นๆ อยู่ในบริเวณนั้น ฝูงช้างอาจจะกระจายกันหากินอยู่ในบริเวณป่าข้างๆทางนั้นก็เป็นได้ และวินาทีที่เค้าจะเข้ามาหานั้น เร็วมาก

วิธีสังเกตุอารมณ์ของช้างอย่างง่าย ๆ

เมื่ออารมณ์ดี หูจะสะบัดไปมา หางจะแกว่งและใช้งวงสะบัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา ส่วนเมื่ออารมณ์ไม่ดี หูจะตั้งกาง ไม่สะบัดหาง หางชี้ งวงจะนิ่งแข็ง แตะอยู่ที่พื้น หรือใช้งวงตีพื้น และอยู่นิ่งจ้องมองมาทางเรา โดยปกติช้างจะวิ่งไล่ผู้รบกวนเป็นระยะทางสั้น ๆ เพียง 2 - 3 ครั้ง หากวิ่งตามผู้รบกวนไม่ทันก็จะเลิกวิ่งไล่ไปเอง ช้างเมื่ออารมณ์ดี สังเกตจากการแกว่งหู และสะบัดหางไปมา จะไม่ทำร้ายแม้รถจะวิ่งเข้ามาใกล้ก็ตาม แต่หากช้างโกรธ หรือไม่ไว้ใจสิ่งใด เช่น ช้างแม่ลูกอ่อน อาจตรงเข้าทำร้ายผู้รบกวนได้ในระยะไกล จึงพึงสังเกตอารมณ์ และอาการของช้างไว้ประกอบการตัดสินใจด้วยครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเกิดเหตุที่รถติดเป็นจำนวนมาก หรือช้างเกิดความเครียด จากการสังเกตุตามข้อแนะนำข้างต้น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ จะมาทำการอารักขา ขอย้ำว่า “อารักขาช้างป่า” ไม่ใช่ไล่ช้าง

 

 

ขอบคุณรูปภาพ : เฟซบุ๊ก"Bossney Wisamon"

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ