ยอดผู้เสียชีวิตเหตุสึนามิถล่มอินโดนีเซีย พุ่งสูงกว่า 200 คน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ทีมกู้ภัยเร่งช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุคลื่นสึนามิพัดถล่มชายฝั่งอินโดนีเซีย ล่าสุด ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 222 คน บาดเจ็บอีกกว่า 800 คน

เหตุคลื่นสึนามิพัดถล่ม เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (22 ธ.ค. 2561) ตามเวลาท้องถิ่น โดยจุดเกิดเหตุ คือ พื้นที่ตามแนวชายฝั่งรอบๆช่องแคบซุนดา ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะสุมาตรา และเกาะชวาของอินโดนีเซีย ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนกว่า 500 หลัง โรงแรม 9 แห่ง และร้านอาหารอีก 60 แห่ง ถูกคลื่นซัดเสียหาย

นักท่องเที่ยวที่อยู่ในเหตุการณ์ เล่าว่า คลื่นลูกแรกซัดเข้าไปในแผ่นดิน ไกลประมาณ 15-20 เมตร ตามด้วยคลื่นอีกลูกซึ่งมีความรุนแรงกว่า ทำให้น้ำไหลท่วมถนนและสิ่งปลูกสร้างริมชายหาด โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่มีสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า

หนึ่งในจุดที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ คือ ชายหาด "ตันจุง เลซุง" (Tanjung Lesung) ในจังหวัดชวาตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของรีสอร์ตท่องเที่ยวชื่อดัง

โดยจากภาพที่มีการแชร์กันอยู่ในโลกออนไลน์ขณะนี้ เผยให้เห็นวินาทีที่คลื่นยักษ์ซัดเข้าใส่เวทีคอนเสิร์ตที่ตั้งอยู่ริมหาด จนพังเสียหาย ซึ่งขณะนั้น มีนักร้องวง Seventeen (เซเว่นทีน) กำลังขึ้นแสดงบนเวที

หลังเกิดเหตุ นักร้องนำของวงได้ เปิดเผยทั้งน้ำตา ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว ว่า เพื่อนร่วมวงคนหนึ่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ขณะที่สมาชิกในวงอีก 1 คน รวมถึงภรรยาของเขา สูญหายไป ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบชะตากรรม

ด้านสำนักงานบริการและจัดการภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซีย รายงานยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดอยู่ที่อย่างน้อย 222 คน ทั้งหมดเป็นชาวอินโดนีเซีย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 843 คน 

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานคนไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดคลื่นสึนามิ ไม่ใช่เหตุแผ่นดินไหวใต้ทะเล แต่เป็นผลจากการเกิดดินถล่มใต้ทะเล อันเนื่องมาจากการปะทุรุนแรงของภูเขาไฟกรากะตัว (Krakatoa) ที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้น ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงพระจันทร์เต็มดวง น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้คลื่นแรงเป็นพิเศษ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: ย้อนรอย! “ภูเขาไฟกรากะตัว” ปะทุ “สึนามิ” ถล่มอินโดนีเซีย)

สำหรับภูเขาไฟกรากะตัว เป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นของอินโดนีเซีย ปะทุครั้งล่าสุดตั้งแต่เดือน มิ.ย. ขณะที่สำนักธรณีวิทยาของอินโดนีเซีย ตรวจจับการปะทุได้อีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กินเวลาประมาณ 2 นาที 12 วินาที ส่งผลให้มีกลุ่มควันและเถ้าถ่านลอยขึ้นไปเป็นระยะทาง 400 เมตร บนท้องฟ้า ทางการจึงต้องประกาศเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงพื้นที่ในรัศมี 2 กิโลเมตรรอบปากปล่องภูเขาไฟ

ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> //www.pptvhd36.com/special/ข่าววันนี้

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ