อุปทูตซาอุฯ ยันไม่เคยร้องขอให้ส่ง นางสาวราฮาฟกลับประเทศ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อุปทูตซาอุ ยืนยัน ไม่เคยให้นำตัว นางสาวราฮาฟ กลับประเทศ และมองว่าเป็นเรื่องในครอบครัว ด้านผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ระบุครอบครัวของนางสาวราฮาฟ เตรียมเข้าพบนางสาวราฮาฟ เพื่อเจรจาหลังหลบหนีออกจากบ้านมาไทย แต่ต้องได้รับการยินยอมก่อน เพราะอยู่ในความดูแลของ UNHCR

เมื่อวันที่ (8 ม.ค. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  การหารือครั้งนี้นายอับดุลอิลาฮ อัลชุอัยบี (H.E. Mr.Abdulelah Alsheaibie) อุปทูตซาอุดิอาระเบีย ประจำประเทศไทย  และพลตำรวจโทสุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง  เพื่อพูดคุยและหาแนวทางการช่วยเหลือกรณีที่นางสาวราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-กูนุน อายุ 18 ปี สัญชาติซาอุดิอาระเบีย ที่อ้างว่าถูกทางการไทยควบคุมตัวขณะกำลังจะขึ้นเครื่องเดินทางต่อไปที่ประเทศออสเตรเลีย  

ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้สัมภาษณ์หลังการหารือว่า ทางการซาอุดิอาระเบียไม่ได้ร้องขอให้นำตัว นางสาว ราฮาฟ กลับประเทศแต่อย่างใด และมองว่า เป็นเรื่องภายในครอบครัว  โดยล่าสุดทางอุปทูตซาอุดิอาระเบีย แจ้งว่า บิดา และพี่ชาย ของนางสาวราฮาฟ กำลังเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อมาพบกับนางสาวราฮาฟซึ่งจะต้องถามความสมัครใจของนางสาวราฮาฟว่าต้องการพบครอบครัวหรือไม่  แต่จากการพูดคุยเบื้องต้น นางสาวราฮาฟ มีท่าทียังไม่พร้อมพูดคุยกับครอบครัว 

ขณะที่การตรวจสอบเอกสารหนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ต ของนางสาวราฮาฟ  เบื้องต้นไม่พบว่า มีวีซ่าเข้าประเทศออสเตรเลีย เหมือนที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ และจากการสอบถาม นางสาวราฮาฟเดินทางจากประเทศคูเวต เข้ามาที่ประเทศไทย  เพื่อมาพบเพื่อนชาวอเมริกัน โดยนางสาวราฮาฟ จะมาทำวีซ่านักท่องเที่ยวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสุวรรณภูมิ   หรือวีซ่า On Arrival แต่ไม่มีหลักฐานการเข้าพัก หรือตั๋วเครื่องบินกลับ จึงถูกกักตัวไว้ก่อน  รวมทั้งครอบครัวประสารผ่านทางการซาอุดิอาระเบีย ให้ดูแลความปลอดภัยให้ก่อน เนื่องจากนางสาวราฮาฟ หลบหนีจากครอบครัวมา

ในขณะนี้ นางสาวราฮาฟ อยู่ในความดูแลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR  ซึ่งหากนางสาวราฮาฟ ต้องการขอลี้ภัย หรือไปประเทศที่สาม ก็จะให้ UNHCR เป็นผู้ดำเนินการ  สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ เพราะเป็นเรื่องภายในครอบครัว ซึ่งทางรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ก็ขอให้ตำรวจไทยดูแลความปลอดภัยของพลเมือง ส่วนในประเทศซาอุดิอาระเบีย มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องประเพณีและวัฒนธรรมอยู่แล้ว ซึ่งทางการไทยไม่สามารถเข้าไปข้องเกี่ยวได้

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า ขั้นตอนในขณะนี้  เป็นช่วงที่ UNHCR จะประเมินความปลอดภัย  และพิจารณาว่าจะให้สถานะผู้ลี้ภัยกับราฮาฟหรือไม่  หากได้สถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ก็จะสามารถเดินทางไปประเทศที่ 3 ได้ โดยต้องประสานไปยังประเทศนั้นๆว่าจะรับนางสาวราฮาฟ เป็นผู้ลี้ภัยในประเทศหรือไม่

หากไม่อนุมัติ จะเรียกว่า เคสปิด หรือ close case  ตามกระบวนการแล้วนางสาวราฮาฟ อาจถูกส่งตัวกลับประเทศซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นประเทศต้นทางค่อนข้างสูง  แต่ถ้านางสาวราฮาฟ ไม่ประสงค์เดินทางกลับประเทศ ก็จะต้องอยู่ในประเทศไทยในฐานะผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายและถูกกักในห้องกัก ซึ่งหากไทยจะผลักดันกลับประเทศต้นทางก็ต้องมั่นใจว่านางสาวราฮาฟจะไม่ได้รับอันตราย

ด้านนายศราวุธ อารีย์  ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นต่อกรณีนี้ว่า นางสาวราฮาฟ เป็นคนรุ่นใหม่ที่พยายามออกจากขนบธรรมเนียมทางสังคมโลกอาหรับแบบเดิม เช่น การคลุมถุงชน การบังคับให้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งนี่ไม่ใช่สิ่งที่ศาสนาอิสลามบังคับ แต่เป็นธรรมเนียมที่โลกอาหรับปฎิบัติตามกันมาจะเห็นว่าราฮาฟเรียนรู้ความเป็นอิสระผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก และในอนาคต จะมีคนรุ่นใหม่อีกหลายคนรวมตัวกัน แสดงเจตจำนงว่าต้องการความเป็นอิสระ  และท้าทายขนบทำเนียบโลกอาหรับแบบเดิม

นายศราวุธ มองว่า วิธีการปฎิบัติของทางการไทย ควรเป็นประเทศที่เปิดให้ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาพูดคุยกัน ทั้งนางสาวราฮาฟ , ,ครอบครัว, UNHCR ,ประเทศที่สาม  พูดคุยทำความเข้าใจกันก่อนที่จะส่งตัวนางสาวราฮาฟ ไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง เชื่อว่าการปฎิบัติลักษณะนี้จะทำให้ ไทยไม่เป็นคู่ขัดแย้ง และรักษาความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆได้

สำหรับประเทศไทยเราไม่เคยลงนามในสนธิสัญญาผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ซึ่งหมายความว่า ไทยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของสหประชาชาติในเรื่องผู้ลี้ภัย และไม่จำเป็นต้องให้ความคุ้มครองด้านกฏหมายแก่ผู้ลี้ภัยก็ตาม

แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับชะตาชีวิตของนางสาวราฮาฟ เพราะเธอเป็นชาวมุสลิม หากต้องการออกจากศาสนา ตามที่มีรายงานข่าวก่อนหน้านี้ การประกาศละทิ้งศาสนา ตามกฏของอิสลามนั้น ถือเป็นความผิดขั้นร้ายแรงที่สุด และจะต้องรับโทษสถานเดียวคือ ประหารชีวิต และถึงแม้ที่ผ่านมา ทางการซาอุดิ อาระเบีย ยังไม่เคยลงโทษในลักษณะนี้มาก่อน แต่นางสาวราฮาฟก็ยังไม่ปลอดภัยอยู่ดี เพราะอาจต้องตายด้วยน้ำมือของคนในครอบครัว ในลักษณะที่เรียกว่า”การฆ่าเพื่อรักษาเกียรติยศของครอบครัว” ซึ่งหลายประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามยังคงใช้วิธีนี้อยู่ หากคิดว่าคนในครอบครัว กระทำความผิดจนครอบครัวเสื่อมเสียศักดิ์ศรี

ในส่วนของประเทศไทยที่เข้ามามีส่วนในเรื่องนี้โดยบังเอิญ ก็มีมาตรการในการจัดการกับเรื่องนี้แตกต่างกันไปแล้วแต่กรณี เนื่องจากอย่างที่กล่าวไปข้างต้น คือไทยเราไม่เคยลงนามในสันธิสัญญาผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ  ตัวอย่างในลักษณะคล้ายกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วบ่อยครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งผลลัพธ์ก็แตกต่างกันไป อย่างเช่นกรณีของนายวิตอร์ บูท์ พ่อค้าอาวุธสงครามชาวรัสเซีย ที่ไทยส่งตัวให้กับสหรัฐตามข้อเรียกร้อง  ส่วนชาวเกาหลีเหนือที่ลักลอบเข้าประเทศ ก็มีการส่งตัวไปเกาหลีใต้  แม้แต่เรื่องชาวโรฮิงญา ที่ไทยเลือกที่จะส่งกลับประเทศ

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ