ทำไมต้องเป็น “ธนินท์ เจียรวนนท์”? หนุนรัฐสานสัมพันธ์ “ไทย-จีน-รัสเซีย”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จับตาบทบาท “ธนินท์ เจียรวนนท์” นั่งวงล้อมสานสัมพันธ์ธุรกิจ "ไทย-รัสเซีย" เกมดุลมหาอำนาจโลก


แม้ว่าเทศกาลสงกรานต์จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่เรื่องของการเมืองระหว่างประเทศยังคงเป็นกระแสที่คุกรุ่น


ล่าสุด หลังจากนายกรัสเซียเยือนไทยอย่างเป็นทางการช่วงวันที่ 7-8 เม.ย.58 วันที่ 14 เม.ย.สำนักข่าวเอพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้เสนอชื่อ นายกลิน เดวีส์ อดีตทูตสหรัฐด้านนโยบายเกาหลีเหนือ ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่แล้วต่อจากนาง คริสตี้ เคนนีย์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบของกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของวุฒิสภา โดยที่ผ่านมาหลังการทำรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 และสหรัฐได้ระงับความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ไทยจนกว่าจะกลับสู่การเลือกตั้ง


การเสนอแต่งตั้งนาย กลิน เดวีส์ เป็นทูตคนใหม่ประจำประเทศไทยในช่วงนี้จึงมีความหมาย


อย่าลืมว่าการเยือนประเทศไทยของนายกรัฐมนตรีรัสเซียอย่างเป็นทางการนั้น เป็นการมาตามคำเชิญของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือในสาขาต่างๆ บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน


เป็นการเยือนประเทศไทยในระดับนายกรัฐมนตรีของสหพันธรัฐรัสเซียครั้งแรกในรอบ 25 ปี


มีการลงนามข้อตกลงร่วมกัน 10 ฉบับ เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐ 5 ฉบับ และเอกชนอีก 5 ฉบับ


นายไพศาล พืชมงคล โพสต์เฟซบุ๊กว่า การพบปะระหว่างไทย-รัสเซียครั้งนี้ถือเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันครั้งใหญ่ที่สุดแบบทุกมิติ


นายไพศาลยังตั้งข้อสังเกตว่า "พึงสังเกตุว่าพลเอกประยุทธ์นายกรัฐมนตรีได้รับการสนับสนุน จากกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ และกลุ่ม brics มากเป็นพิเศษ เพียง 7-8 เดือน ได้พบกับประธานาธิปดีสี จิ้นผิงแล้ว 2 ครั้ง นายกหลี่เค่อเสียง 4 ครั้ง นายกรัสเซีย 2 ครั้ง นายกโมดีของอินเดียวส่งคนสนิทที่ปรึกษาพิเศษเป็นทูตพิเศษมาพบแล้ว 1 ครั้ง ส่วนญี่ปุ่นเกหลี อาเซียนนั้นปึ๊กอยู่แล้วโดยธรรมชาติ คาดว่านายกรัสเซียจะเชิญพลเอกประยุทธ์ ไปร่วมพิธีฉลองชัยชนะของกองทัพรัสเซียต่อกองทัพนาซีในปีนี้ด้วย แต่จะสะดวกหรือไม่ ข้อยบ่ฮู้"


น่าสนใจว่าช่วงเวลาเดียวกัน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงก็เดินทางไปจีน


เมื่อยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ขยับ


หันมามองความสัมพันธ์ระหว่างไทย-รัสเซีย ไทย-จีน วันนี้ย่อมไม่ธรรมดา และยิ่งไม่ธรรมดามากขึ้นเมื่อมองไปที่ภาคเอกชน


หากมองข้ามช็อตการเมืองระหว่างประเทศ แล้วหันกลับมาที่โต๊ะเจรจาทางธุรกิจระหว่างนายกฯรัสเซีย และนักธุรกิจไทย เป็นที่น่าสนใจว่า คนที่เป็นประธานฝั่งภาคเอกชนในการพบปะสานสัมพันธ์กับรัสเซียครั้งนี้ คือ "ธนินท์ เจียรวนนท์" ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ เจ้าสัวซีพี ที่นั่งร่วมวงล้อมกับนักธุรกิจและผู้นำแดนหมีขาว


ทำไมต้องเป็น "ธนินท์ เจียรวนนท์"?


เหตุผลคือ เพราะธนินท์ เจียรวนนท์ ก็ไม่ธรรมดาในจีน และรัสเซีย โดยเฉพาะกับรัฐบาลจีน ที่เจ้าสัวธนินท์ถือว่ามีคอนเน็กชั่นที่แนบแน่น


นายพิษณุ เหรียญมหาสาร อดีตรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าไทย-จีน จนได้รับการขนานนามว่า มิสเตอร์ไชน่า ให้สัมภาษณ์กับ "ทีมข่าว PPTVHD" ว่า เจ้าสัวซีพีมีบทบาทในแวดวงธุรกิจ ไทย-จีน มานานแล้ว โดยซีพีเป็นกลุ่มบริษัทแรกที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีน ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศ ในปี ค.ศ. 1980 ยุคเติ้ง เสี่ยว ผิง


สิ่งที่น่าสนใจคือซีพีเป็นบริษัทต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนการค้าลงทุนในจีนในหมายเลข 001 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับประเทศจีนที่ไม่ธรรมดา


"ช่วงนั้นเป็นช่วงจีนเปิดประเทศใหม่ต้องการคำแนะนำ นายธนินท์ได้มีโอกาสให้คำปรึกษาร่วมมือกันพัฒนาประเทศจีนด้วย ซึ่งทำให้ได้รับความไว้วางใจอย่างมากจากรัฐบาลจีน"


ธุรกิจซีพีในจีน รู้จักกันในนาม เจินต้า (เจียไต๋) กล่าวได้ว่าทุกวันนี้ไม่มีคนจีนคนไหนที่ไม่รู้จัก "เจินต้า"


ขณะที่เจ้าสัวธนินท์ เมื่อปี 2544 ได้รับคัดเลือกเป็นเป็นแขกรับเชิญพิเศษในการประชุมนักธุรกิจที่ปรึกษาผู้ว่าการนครเซี่ยงไฮ้,ปี 2545 เป็นที่ปรึกษาอาวุโสมณฑลส่านซี ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ,ปี 2546 เป็นสภาที่ปรึกษาผู้นำทางด้านธุรกิจของผู้ว่านครเซี่ยงไฮ้ และปี 2551 ธนินท์ ได้รับเลือกเป็น นายกคนแรกของสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นสมาคมที่รัฐบาลจีนให้การรับรองและสนับสนุน


ข้อมูลจาก http://cpgroupglobal.com รายงานว่าขณะนี้ธุรกิจเครือซีพีได้ไปลงทุนในจีนถึง 9 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร (Agro-Industry and Food Integration) ธุรกิจค้าปลีก (Retail) ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ธุรกิจยานยนต์ (Automotive and Industrial Products) ธุรกิจการเงินและธนาคาร (Finance and Banking) ธุรกิจเวชภัณฑ์ (Pharmaceutical) ธุรกิจพลาสติก (Plastic) ธุรกิจสื่อโทรทัศน์


ส่วนรัสเซีย ขณะนี้เครือซีพีเข้าไปลงทุน ธุรกิจการผลิตอาหารสัตว์ และการเลี้ยงสัตว์ (Animal feedmill production and livestock farming)


เช่นเดียวกับจีน คือซีพีเน้นบุกเข้าไปรุกตลาดรัสเซียเป็นรายแรกๆ


นายพิษณุ กล่าวว่า บริษัทซีพี มีการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจ หมู ในรัสเซีย ซึ่งเป็นกิจการที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของรัสเซีย


ก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นได้รายงานว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้เข้าไปลงทุนในประเทศรัสเซียโดย มีมติการซื้อเงินลงทุนในหุ้นสามัญของ Russia Baltic Pork Invest ASA (RBPI) จำนวน 822,191 หุ้น มูลค่า 18.5 ล้านยูโร หรือประมาณ 759 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้ จะมีผลทำให้ RBPI และบริษัทย่อยอีก 8 บริษัทของ RBPI มีสถานะเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของซีพีเอฟอีกด้วย ได้แก่


1.Pravdinsk Pig Production Closed Joint Stock Company ("PPP") จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศรัสเซีย ประกอบธุรกิจหลักด้านฟาร์มเลี้ยงสุกรสุกรขุน ในประเทศรัสเซีย เขต Kaliningkrad


2. M.I.R. Closed Joint Stock Company ("MIR") จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศรัสเซียประกอบธุรกิจถือครองที่ดินในประเทศรัสเซีย


3.NNPP Limited Liability Company ("NNPP") จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศรัสเซียประกอบธุรกิจหลักด้านฟาร์มเลี้ยงสุกรสุกรขุน ในประเทศรัสเซีย เขต Nizhny Novgorod


4. Penza Agri Invest Limited Liability Company ("PAI") จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศรัสเซียประกอบธุรกิจหลักด้านฟาร์มเลี้ย งสุกรขุน ในประเทศรัสเซีย เขต Penza


5.Penza Land Invest Limited Liability Company ("PLI") จดทะเบียนจัดตังในประเทศรัสเซียประกอบธุรกิจถือครองที่ดินในประเทศรัสเซีย


6.Farm Construction Limited Liability Company ("FC") จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศรัสเซียประกอบธุรกิจก่อสร้างฟาร์มสุกร


7.Kornevo Limited Liability Company จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศรัสเซียประกอบธุรกิจหลักด้านฟาร์มเลี้ยงสุกรขุน ในประเทศรัสเซีย


8 Finagro ASP จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศเดนมาร์คประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงินให้บริษัทในกลุ่มของ RBPI


ทั้งรัสเซียและจีน เมื่อรัฐบาลจะสร้างสัมพันธ์ทั้งทางการเมือง และการค้า แน่นอนว่า "เจ้าสัวธนินท์" ย่อมเป็นกลจักรสำคัญในฟากฝั่งภาคเอกชนที่จะช่วยเดินหน้าสานสัมพันธ์หนุนรัฐบาล


นายพิษณุ กล่าวกับ "ทีมข่าว PPTVHD" โดยมองว่าหากไม่มองไปที่ภาคการเมืองแล้ว ในด้านเศรษฐกิจก็มีความสำคัญ เพราะขณะนี้ภาพรวมทางเศรษฐกิจของไทยไม่ดี โดยเฉพาะภาคการบริโภคที่ค่อนข้างตกต่ำ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เป็นภาคการเกษตรที่ไม่มีรายได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือ ยางพารา ส่งผลให้กำลังซื้อของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศลดลง ตามด้วยการถูกซ้ำเติมโดยภาระการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกซบเซา ทำให้สินค้าไทยขายได้ค่อนข้างยาก นอกจากนี้มีการพูดถึงหนี้ครัวเรือนสูงยิ่งเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจลงไปอีก


การกระชับความสัมพันธ์กับจีน และรัสเซียในช่วงนี้ จึงมีผลดี โดยเฉพาะด้านการดึงดูดมาลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีน ซึ่งปีที่ผ่านมา จีนมีการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ปี 2557 มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ มูลค่ากว่า 38,000 ล้านบาท และเทียบ ปี 2556 ประมาณ 5,000 อัตราเพิ่มถึงร้อยละ 600 ซึ่งสูงมาก และโครงการจีนมาขยายร้อยละ 75 เป็นการลงทุนจากโครงการเดิม เช่นขยายโรงงานที่มีอยู่แล้ว ส่วนโครงการเริ่มต้นใหม่อยู่ที่ร้อยละ 25 รวมถึงประเทศไทยมีการนำเข้าจากจีนเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้นจึงมีบทบาทต่อภาคการค้าระหว่างประเทศของไทย


ทั้งนี้ก็ต้องลองดูว่า จะมีโอกาสผลักดันให้รัสเซียช่วยซื้อยางพารา และข้าว ซึ่งเป็นตัวสำคัญ จะสำเร็จแค่ไหน


แนะใช้ 'สมคิดโมเดล' ลุยตลาดรัสเซีย


อย่างไรก็ดี เพื่อเดินหน้าความสัมพันธ์ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยให้มากที่สุด นายพิษณุ กล่าวถึงเรื่องการส่งออกว่า เรื่องส่งออกไปจีนและรัสเซีย ตนมองว่าควรจะใช้สมคิดโมเดล หรือ โมเดลของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรืออดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่เมื่อสมัยปี 2547 ใช้โมเดลลุยตรงตลาด เรียกว่าถึงลูกถึงคน โดยการไปเจาะตลาด เน้นการลงปฏิบัติ ใช้หาคนมาลงตลาดจะได้เกิดผลทันที และรัสเซียก็เช่นเดียวกัน


"รัสเซียมาเป็นส่วนสำคัญที่มีการบอกซื้อขายสินค้าให้ได้หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งก็พยายามลุยไปก่อนไม่ต้องรอเรื่องเจรจา นายกฯรัสเซียเปิดทางให้แล้ว ก็จัดคณะลงไปเลย อย่าไปรอ เพราะเสียเวลา ขณะนี้ภาคการส่งออกของเราติดลบ 2 – 3 เดือนแล้ว มัวรอเจรจาจะไม่ได้กิน ต้องใช้คนที่ลุยตลาดได้เลย" นายพิษณุ กล่าว


เชื่อไทยทำสมดุลการค้า-การเมือง


ขณะที่การเดินเกมของประเทศไทยขณะนี้ ได้ออกแอ็กชันความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย รวมถึงจีน ภายหลังที่สหรัฐฯ - อียู ยังคงไม่เห็นด้วยกับการเมืองไทย เป็นจุดที่ทำให้ไทยต้องปรับขั้วคานอำนาจหรือไม่ นายพิษณุ กล่าวว่า พยายามจะเลี่ยงการเมือง หากพิจารณาแต่เรื่องการค้า เมื่อโอกาสมีก็ลุยให้เต็มที่ ไม่ต้องคำนึง เรื่องนั้นเป็นเรื่องของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องจัดการบริหาร คือทำอย่างไรให้สมดุลอำนาจในบ้านเราทั้งการค้า และความสัมพันธ์ในทางการเมือง เป็นเรื่องที่เขาต้องหาทางไป


"ในฐานะที่ทำด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศมา เราต้องลงมือปฏิบัติเพื่อช่วยภาคการส่งออก หากพึ่งแต่สหรัฐฯ และอียู ซึ่งตอนนี้เศรษฐกิจยังแย่อยู่ โอกาสที่จะลดลงต่อไปจะเกิดขึ้น ต้องผลักดันประเทศที่มีศักยภาพที่ซื้อสินค้าจากจีนและรัสเซียมากขึ้น เช่นรัสเซียลงนามร่วม ไทยต้องพยายามฉกฉวยไว้ก่อน ฉกฉวยดีดี บางทีเราอาจจะขายได้มากกว่าซื้อ" นายพิษณุ กล่าว


ขณะที่ นางสาวรุ่งมณี เมฆโสภณ คอลัมนิตส์ชื่อดัง และนักเขียนประวัติศาสตร์การเมืองไทย กล่าวว่า เกมการจับยุทธศาสตร์ดุลอำนาจมหาอำนาจโลกในครั้งนี้ ทหารไทยค่อนข้างมีความเชี่ยวชาญ ขณะที่ไทยมีความสัมพันธ์กับรัสเซียก็ไม่ใช่แค่รัฐบาลกับรัฐบาล เอกชนกับเอกชน แต่ยังแนบแน่นระหว่างผู้นำระดับสูงของไทยกับรัสเซียด้วย


สุดท้ายทั้งการค้า การเจรจา และตัวละครของไทยในครั้งนี้ ถือว่าเขย่าขวัญสหรัฐอเมริกา กับ อียูไม่น้อย ด้วยสายสัมพันธ์ทางธุรกิจอันแนบแน่นของ "เจ้าสัวธนินท์" ควบคู่กับเกมการเมืองระหว่างประเทศ จะฉกฉวยโอกาสให้ไทยกู้วิกฤตได้แค่ไหน เดี๋ยวรู้กัน!


รายงานพิเศษโดย: ทีมข่าว PPTV

ขอบคุณภาพ: ASTV ผู้จัดการ

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ