ขอนแก่น น้ำตามแหล่งผลิตประปาหลายแห่งเริ่มแห้งขอด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ขอนแก่น - ปริมาณน้ำตามอ่างเก็บน้ำสำคัญหลายแห่งที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน เริ่มลดลงอย่างมาก ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเตรียมลง พื้นที่อีกรอบเพื่อหาทางบริหารจัดการน้ำ

เมื่อวันที่ (12 มี.ค. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  สถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดขอนแก่นปีนี้ส่อเค้ารุนแรงหนักกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงไปเป็นอย่างมาก ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญ ๆ ของจังหวัดขอนแก่น ที่มีอยู่จำนวน 14 แห่ง ปริมาณน้ำก็ลดลงเช่นกัน  โดยเฉพาะที่อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่บ้านป่าหวายนั่ง ที่มีพื้นที่เก็บน้ำกว่า 310 ไร่  สามารถเก็บกักปริมาณน้ำได้จำนวน 1,400,000 ลบ.เมตร ปรากฏว่าปีนี้ปริมาณน้ำลดลงมากกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา ก้นอ่างบางส่วนแห้งแล้งจนเหลือแต่พื้นดิน ชาวบ้านก็นำวัวควายลงไปเลี้ยงแทน

ด้านนายสมศักดิ์  จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบการเก็บกักน้ำดิบ และการบริหารจัดการน้ำดิบ ในส่วนของการผลิตน้ำประปา รวมทั้งการตรวจสอบการผลิตน้ำประปาทุกขั้นตอน เพื่อรับทราบถึงสถานการณ์น้ำ และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการบริหารจัดการน้ำในด้านต่างๆตลอดทั้งช่วงฤดูร้อนปีนี้

ส่วนจังหวัดหนองคาย ตอนนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 4 แห่งของจังหวัด มีปริมาณน้ำภายในอ่างเพียงร้อย 46.862 เท่านั้น  อ่างที่เหลือน้ำมากที่สุดคืออ่างเก็บน้ำห้วยทอนตอนบน มีปริมาณน้ำภายในอ่าง 6.427 ล้าน ลบ.เมตร คิดเป็นร้อยละ 82.397 รองลงมาคืออ่างเก็บน้ำห้วยหินแก้ว มีปริมาณน้ำ 2.327 ล้าน ลบ.เมตร คิดเป็นร้อยละ 58.175

ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณเหลือในอ่างน้อยจนน่าเป็นห่วง คืออ่างเก็บน้ำห้วยเปลวเงือก เหลือปริมาณน้ำภายในอ่างเพียง 0.799 ล้าน ลบ.เมตร ตามด้วยอ่างเก็บน้ำห้วยบังพวน ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำในอ่างเหลือเพียง 1.305 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น จึงขอให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปรัง หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน

ส่วนที่จังหวัดอ่างทอง เจ้าหน้าที่ได้นำป้ายประกาศเตือนขนาดใหญ่ของสำนักงานชลประทานที่ 10 มาติดตั้งขอความร่วมมือชาวนาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยว เนื่องจากจะกระทบปริมาณน้ำต้นทุนในหน้าแล้ง โดยป้ายดังกล่าวถูกนำไปติดตั้งหลายจุดเพื่อขอความร่วมมือชาวนาให้งดทำนาเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งอาจจะมีน้ำไม่เพียงพอให้ชาวนาทำนารอบใหม่ ทำให้ชาวนาหลายรายต่างเร่งสูบน้ำเข้านาเพื่อกักเก็บไว้ในช่วงหน้าแล้ง

นายอุบล ดวงประทีป วัย 56 ปี ชาวนาในพื้นที่ เปิดเผยว่า ตนเองทำนาทั้งหมด 5 ไร่ ตอนนี้เร่งสูบน้ำทำนาเพราะได้รับแจ้งจากชลประทานว่าจะงดส่งน้ำในวันที่ 17 มีนาคมนี้ ทำให้แต่ละวันต้องเพิ่มต้นทุนค่าน้ำมันขึ้นมาอีกวันละ 4-500 บาท แต่ก็ต้องสูบน้ำเพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีน้ำทำนา จริงๆก็อยากจะให้ชลประทานปล่อยมาเรื่อยๆอย่าปล่อยให้แห้งเพราะชาวนาหลายรายก็ยังเพิ่งทำนา

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ