“ถนนจากขยะพลาสติก” หนึ่งในหนทางช่วยโลก?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รู้จัก “ถนนพลาสติก” การใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติกที่มีในไทยแต่หลายคนไม่รู้

หมดเวลาขยะพลาสติก : ชาวเกาะหมาก-ไม้รูดแปรรูปขยะพลาสติกเป็นบล็อกปูถนน

สตาร์ทอัปสิงคโปร์เจ๋ง สร้างถนนจากขยะพลาสติก

“ขยะพลาสติก” เป็นปัญหาสำคัญของไทยและทั้งโลก ตัวการสำคัญทำให้เกิดมลพิษสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทย เฉพาะเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ มีปริมาณขยะพลาสติกประมาณ 2,000 ตันต่อวัน แม้มีการรณรงค์ให้ลดการใช้และแยกพลาสติกแต่ก็ยังคงมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นมากอยู่ดี

ด้วยเหตุนี้ คนบางกลุ่มจึงพยายามรณรงค์เรื่องการจัดการขยะพลาสติกที่ถูกต้อง โดยการพัฒนานวัตกรรม “สร้างถนนจากขยะพลาสติก” อาทิ โครงการ “GREEN ROAD” และ “Recycled Plastic Road”

ในต่างประเทศก็มีการใช้นวัตกรรมนี้ในการนำขยะพลาสติกมาสร้างประโยชน์เช่นกัน อาทิ สิงคโปร์ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทสตาร์ทอัปแห่งหนึ่งเพิ่งประสบความสำเร็จในการสร้างถนนจากขยะพลาสติก

จุดเริ่มต้นถนนพลาสติกในไทย

เวชสวรรค์ หล้ากาศ ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ริเริ่มโครงการ GREEN ROAD เล่าให้ฟังว่า โครงการดังกล่าวเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ 8-9 ปีที่แล้ว

“อาจารย์พาลูกชายไปเที่ยวทะเล เป็นครั้งแรกที่เขาจะได้เห็นทะเล พอไปถึงเขาก็กระโดดลงน้ำ เขาแหวกว่ายน้ำด้วยความสนุกสนาน แต่ภาพที่อาจารย์เห็นมันไม่ใช่เขาว่ายน้ำในทะเล เขาว่ายน้ำรวมกับพวกขยะพลาสติกที่มันถูกคลื่นซัดเข้ามาในฝั่ง อาจารย์ก็เลยรู้สึกว่า เราต้องทำอะไรสักอย่าง มากกว่าจะปล่อยให้ธรรมชาติมันเสียไป แล้วตัวอาจารย์ก็เป็นวิศวกรโยธา ทำอะไรไม่ได้นอกจากถนนกับบ้าน ก็เลยคิดว่า จะเอาขยะพลาสติกมาทำอะไรที่หมดไว เร็ว นั่นก็คือทำถนนนั่นแหละ ไวที่สุดแล้ว”

สำหรับขั้นตอนการทำอาจารย์เวชสวรรค์บอกว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงนำขยะพลาสติกที่ผ่านการบดย่อยมาผสมเข้ากับยางมะตอย ซึ่งในการหลอมขยะพลาสติกกับยางมะตอยและหินที่ใช้ทำถนนใช้ระยะเวลาประมาณ 45-60 วินาที

ทั้งนี้ เนื่องจาก พลาสติก เป็นปิโตรเคมีเช่นเดียวกับ ยางมะตอย จึงนำมาเป็นส่วนผสมสำหรับสร้างถนนได้ ช่วยเพิ่มความแข็งแรง ลดการซึมน้ำ และช่วยยืดอายุการใช้งานของถนน เป็นนวัตกรรมที่สร้างความยั่งยืน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

กฤษดา เรืองโชติวิทย์ ผู้อำนวยการ Circular Economy Office ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ผู้ริเริ่มโครงการ Recycled Plastic Road ซึ่งดำเนินมาได้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว บอกว่า ถ้ามีการบริหารจัดการขยะพลาสติกที่ถูกต้องตั้งแต่ต้น มีการแยกที่ถูกต้อง ขยะพลาสติกจะยังคงมีคุณค่าอยู่ ทั้งสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ หรือแม้กระทั่งสร้างประโยชน์ได้

“ก็เลยเป็นที่มาว่า เรามาทดลองร่วมกัน หาการประยุกต์ใช้ต่าง ๆ และการประยุกต์ใช้หนึ่งซึ่งน่าจะตอบโจทย์ และสามารถใช้พลาสติกได้หลากหลายประเภท ก็คือการทำ ถนนพลาสติก (Recycled Plastic Road)”

ถนนพลาสติกแข็งแรงกว่าถนนแบบเดิมจริงหรือ?

อาจารย์เวชสวรรค์บอกว่า ถนนในโครงการ GREEN ROAD ที่ทำมานานเกือบ 10 ปีนั้น ยังไม่มีการซ่อมบำรุงเลยแม้แต่นิดเดียว จึงสามารถบอกได้ว่าถนนพลาสตอกมีความทนทานแข็งแรงมากจริง ๆ

“จุดนี้ยังเป้นการลดต้นทุนทางอ้อม เมื่อถนนเราแข็งแรงขึ้น เราก็ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงถนนต่อปีหรือต่อเดือนได้ เราก็จะลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเพราะถนนเราแข็งแรงขึ้น” อาจารย์บอก

ด้านคุณกฤษดาสนับสนุนว่า พลาสติกมีคุณสมับติที่ทนทาน ยืดหยุ่น เมื่อนำมาผสมกับยางมะตอยในการทำถนน ก็ช่วยเพิ่มความความทนทาน การยึดเกาะให้กับถนนเช่นกัน

“มาตรฐานความแข็งแรงมีค่า ๆ หนึ่งเรียกว่า Marshal Stability ซึ่งจากการทดสอบที่เราทำตั้งแต่เริ่มต้น ตอนนี้เรามีการทดสอบจากแล็บที่ได้มาตรฐานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค่ามาร์แชลมีค่าดีขึ้น 15-30%”

ถนนพลาสติกมีข้อเสียหรือไม่?

อาจารย์เวชสวรรค์และคุณกฤษดาเห้นตรงกันว่า ข้อเสียที่จะเกิดขึ้นไม่ได้มาจากถนนพลาสติก แต่มาจากพฤติกรรมที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจของคนในสังคมเอง

“ข้อเสียคือประชาชนยังไม่เข้าใจการคัดแยกพลาสติก ประเด็นสำคัญคือทุกคนคิดว่าพลาสติกทุกประเภททุกชนิดเอามาทำถนนได้ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ จะมีพลาสติกแข็ง พลาสติกอ่อน ก็จะรับบริจาคขยะเพื่อมาทำเป็นถนน ทำเป็นบล็อก ฉะนั้นพลาสติกแต่ละชนิด แต่ละประเภท พุ่งเข้ามาหาอาจารย์หมดเลย” อาจารย์บอก

สำหรับประเภทพลาสติกที่เหมาะกับการทำถนนประกอบด้วย

-HDPE (ขวดขุ่น ขวดนม-แชมพู-โลชั่น-สบู่เหลว กระป๋องแป้ง ถุงหูหิ้ว)

-LDPE (ถุงก๊อบแก๊บ ขวดน้ำเกลือ หลอดยาสีฟัน)

-PP (บรรจุภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูป ปกแฟ้มเอกสาร พลาสติกหุ้มซองบุหรี่)

-PET (ขวดใส ขวดน้ำเปล่า-น้ำอัดลม-น้ำมันพืช-เครื่องปรุงอาหาร)

นอกจากนี้ ข้อเสียอีกประการของการใช้ขยะพลาสติกมาทำเป็นถนนคือ วันหนึ่งในอนาคตถ้าราคาของพลาสติกสูงขึ้น หรือต้องซื้อขยะพลาสติกเข้ามาเพื่อทำถนน จะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายเกินกว่าเหตุ

คุณกฤษดาเสริมว่า “ถ้าเมื่อไหร่ Recycled Plastic Road เป็นมาตรฐานประเทศไทย ในการจะได้มาซึ่งขยะพลาสติกจะเริ่มเป็นปัญหา เพราะอย่างหนึ่งคือว่า ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคเอง เรายังไม่มีการคัดแยกขยะที่ดี ฉะนั้นขยะพลาสติกพวกนี้จะปนเปื้อนกับพวกเศษอาหาร พวกขยะอินทรีย์ ขยะอาหาร การจะนำพวกนี้เข้ามาก้ต้องมีกระบวนการเพิ่มเติม มีต้นทุนเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นปัญหาในที่สุด ถ้าเรายังไม่แยกขยะให้ถูกต้องตั้งแต่ต้น”

ไทยมีโอกาสเปลี่ยนถนนทั้งประเทศเป็นถนนพลาสติกหรือไม่?

การเปลี่ยนถนนในประเทศไทย จำเป้นต้องได้รับการตรวจสอบและความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ประกอบกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในเรื่องความต้องการขยะที่อาจต้องนำเข้า และไทยไม่มีการคัดแยกขยะที่เหมาะสม ทำให้โดยภาพรวมแล้วการเปลี่ยนถนนทุกเส้นในไทยให้กลายเป้นถนนพลาสติกเป็นไปได้ยาก อาจมีเพียงภาคเอกชน หรือชุมชนหมู่บ้านต่าง ๆ ที่สามารถทำได้

“ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งหมด เพราะเราไม่มีขยะที่สามารถคัดแยกได้มากขนาดนั้น แต่ถามว่าเปลี่ยนได้ทั้งหมดดีมั้ย ก็ดี แต่พลาสติกบางทีถ้าเอาไปทำอย่างอื่นแล้วดีกว่าก็ควรทำ เพียงแต่ตอนนี้เราเป็นการรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ให้รู้ว่าพลาสติกมันใช้ประโยชน์ได้เท่านั้น กระตุ้นให้คนหันมาใส่ใจการคัดแยกขยะ” อาจารย์เวชสวรรค์บอก

หัวใจของการรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ “ลด” แต่เป็น “แยก”

คุณกฤษดาบอกว่า การจะนำขยะพลาสติกพวกนี้มาทำถนนพลาสติกได้ ต้องเริ่มต้นจากการแยกขยะที่ดีก่อน เพราะหากขยะพลาสติกปะปนอยู่กับขยะชนิดอื่น อาจถูกนำไปฝังกลบแทนเพราะไม่มีคนแยก

“ตอนนี้ปัญหาของประเทศเราคือบ่อฝังกลบ ถ้าเราไม่แยก ขยะทั้งหมดจะไปบ่อฝังกลบ และบ่อฝังกลบของไทยเราไม่เพียงพอ” คุณกฤษดากล่าว “มันก็ต้องมีการขุดบ่อฝังกลบเพิ่มซึ่งเราไม่มีพื้นที่แล้ว แล้วการมีบ่อฝังกลบตามที่ต่าง ๆ ชุมชนก็ไม่ชอบ เพราะมีขยะก็มีกลิ่นเหม็น มีแมลง สัตว์พาหะนำโรคต่าง ๆ”

ด้านอาจารย์เวชสวรรค์บอกว่า “ปัญหาของขยะพลาสติก อาจารย์ให้ความสำคัญกับการคัดแยกมากกว่าการลดด้วยตัวของเราเอง ถ้าเราคัดแยกขยะพลาสติก เราจะพบว่าขยะพลาสติกจะลดลงเป็นทวีคูณมากกว่าเราลดด้วยตัวเราเอง”

อาจารย์ยกตัวอย่างเสริมว่า ปกติคนทั่วไปจะใช้ 8 ถุงต่อคนต่อวัน ถ้าคน 1 คนลดการใช้ถุงพลาสติก 1 วัน 1 ถุง เหลือ 7 ถุงต่อคนต่อวัน ปีหนึ่งลดได้ 365 ถุง แต่ในขณะเดียวกันแม่ค้า 1 คน อาจใช้ถุงพลาสติกวันละประมาณ 1,000 ถุงต่อคนต่อวัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะลดการใช้แค่ไหน คน 1 คนก็เป็นตัวหารหรือไปเทียบกับแม่ค้าที่ใช้พลาสติกจำนวนมากไม่ได้ “ฉะนั้นทางที่จะให้ลดเร็วที่สุดก็คือ การคัดแยกขยะพลาสติก”

คุณกฤษดาเสริมว่า “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก เพราะท้ายที่สุดแล้วขยะต่าง ๆ ที่ท่านทิ้ง ถ้าท่านแยกถูกต้อง มันจะถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ทั้งหมด”

เช่นนี้แล้ว เราควรร่วมกันแยกขยะให้ถูกวิธี เพื่อนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เพราะการรักษาโลก เท่ากับรักษาชีวิตตัวเราตัวเอง

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ