saveบางกลอย เพราะ กลัวประวัติศาสตร์ซ้ำเดิม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กลายเป็นประเด็นที่ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง สำหรับ กะเหรี่ยงบ้านโป่งลึกบ้านกลอย เกือบ 100 คน อพยพกลับขึ้นไปอาศัยในสถานที่ ที่พวกเขาเรียกว่า “ใจแผ่นดิน” พร้อมทั้งมีการเคลื่อนไหว#saveบางกลอย ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ล่าสุดกลุ่มที่จัดกิจกรรม ระบุว่า ที่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะ กังวลว่า การกลับเข้าไปที่ใจแผ่นดินของชาวกะเหรี่ยง อาจทำให้เกิดการไล่รื้อบ้านชาวกะเหรี่ยงเหมือนหลายปีก่อน

เปิดแผนที่ “ใจแผ่นดิน” พื้นที่เผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน

“ลืมตามาที่ใจแผ่นดิน” เสียงก้องโลก “ปู่คออี้” กะเหรี่ยงแห่งป่าแก่งกระจาน

พีพีทีวี ได้รับแผนที่อีก 1 แผ่น ซึ่งเป็นแผนที่ที่กลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิให้ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ยืนยันว่า เป็นหลักฐานใหม่ ที่สะท้อนว่า ใจแผ่นดิน บางกลอยบน บางกลอยล่าง และ บ้านโป่งลึก มีชาวบ้านอาศัยอยู่ตั้งแต่อดีต

โดยเฉพาะที่ “บ้านบางกลอยบน” จุดที่เคยถูกไล่รื้อ ถูกเผา เมื่อปี 2553-2554 และเป็นจุดที่ชาวกะเหรี่ยงบางส่วนอพยพกลับไปในช่วงนี้เช่นเดียวกับบ้านใจแผ่นดิน เดิมเคยเป็นหมู่บ้านที่มีหลักฐานอยู่ในกรมการปกครอง เป็นหมู่ที่ 7 ต.สองพี่น้อง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

ย้อนไปเมื่อปี 2538 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เจรจาขอให้ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่บริเวณบางกลอยบน และใจแผ่นดิน ย้ายลงมาอยู่ที่จัดสรรให้ คือ บางกลอยล่าง โดยขอแบ่งพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเพชรบุรีจากบ้านโป่งลึกที่มีอยู่ก่อนแล้ว และเป็นสถานที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบัน

แต่ชาวกะเหรี่ยงบางส่วนอยู่ไม่ได้ เพราะที่ดินที่ถูกจัดสรรให้เป็นลานหิน ทำกินไม่ได้ บางส่วนไม่ได้ที่ดิน จึงอพยพกลับไปที่บางกลอยบน และใจแผ่นดิน แต่ก็ไม่หลักฐานว่ามีการขับไล่อีก จนมาถึงการเปิดยุทธการตะนาวศรีของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2553

 ช่วงปี 2553 – 2554 ชาวกะเหรี่ยงที่บางกลอยบน และใจแผ่นดิน ถูกดำเนินคดีจากอุทยานฯ ถูกตั้งข้อหาบุกรุกป่า บางคนถูกเผาบ้าน เผายุ้งข้าว บางคนถูกตั้งข้อหาเป็นกแงกำลังติดอาวุธ พร้อมขับไล่ผลักดันทั้งหมดให้ลงมาอยู่ที่ “บางกลอยล่าง” รวมทั้ง “ปู่คออี้” หรือนายโคอิ มีมิ ชายชราอายุกว่า 100 ปี ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน  เป็นที่มาของการต่อสู้เรียกร้องสิทธิในการกลับไปอยู่ที่เดิมของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย หลังภาพเผาบ้านชาวกะเหรี่ยงถูกเปิดเผยขึ้นในช่วงกลางปี 2554 

จากข้อมูลนี้ สะท้อนว่า ชาวบ้านบางกลอย ไม่ใช่กลุ่มที่มาอยู่ใหม่ แต่ก็คือชุมชนดั้งเดิมที่เคยอยู่อาศัยในป่าแก่งกระจานนับร้อยปีจาก บางกลอยบน และใจแผ่นดิน และแน่นอนว่า ชุมชนนี้ อยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ

 ในมุมของกลุ่มเคลื่อนไหวมองว่า หากรัฐจะกล่าวหาว่า กะเหรี่ยงที่ใจแผ่นดิน บุกรุกพื้นที่ป่า และให้ย้ายมาอยู่ในพื้นที่ด้านล่าง ก็อาจไม่ทำให้ข้อครหาบุกรุกพื้นที่ป่าหมดไป เพราะทุกจุดอยู่ในเขตอุทยานในปัจจุบันเหมือนกัน เพียงแต่เข้าไปถึงยากง่ายต่างกัน

เช่นที่บ้านโป่งลึก - บางกลอยล่าง รถสามารถวิ่งเข้าไปถึงได้ แต่หากจะไปบางกลอยบน จะต้องเดินเท้าต่อไปอีก 1 วัน และหากเดินเท้าจากบางกลอยล่าง ไปที่ใจแผ่นดิน จะใช้เวลาประมาณ 3 วัน

ขณะที่ความกังวลของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่ไม่อนุญาตให้ชาวกะเหรี่ยงกับขึ้นไปอยู่ในพื้นที่ด้านในซึ่งลึกเข้าไปในเขตอุทยาน ยากต่อการตรวจสอบ เพราะ กังวลว่า จะมีการตัดไม้ทำลายป่า โดยล่าสุดวันนี้ นายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โพสต์คลิปการบินสำรวจป่าแก่งกระจาน ในเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมข้อความระบุว่า พบพื้นที่บุกรุกป่าเหนือพื้นที่บ้านโป่งลึก บ้านบางกลอย แผ้วถางป่าใหม่ 10 จุด ประมาณ 30 ไร่ ระหว่างบินผ่านแม่น้ำบางกลอยพบคนล่องแพลงมา 2 คน

 ขณะที่ข้อต่อสู่เรื่องการถางป่า บุกป่า ของชาวกะเหรี่ยง คือ การยืนยันวิถีชีวิต ว่า ชาวกะเหรี่ยง ทำไร่หมุนเวียน ไม่ได้ทำไร่ในพื้นที่เดิมเหมือนคนไทย เพราะ บรรพบุรุษสอนว่า ต้องปล่อยให้พื้นที่ทำกินคืนสภาพจนอุดมสมบูรณ์ก่อน ถือเป็นข้อถกเถียงที่ไม่มีข้อสรุป เพราะ จนท.อุทยานมองว่าการเปลี่ยนที่ดินทำกินไปเรื่อยๆ คือ การบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มเติม 

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ