Hybrid learning เทรนด์การเรียนรู้ รับมือกับวิกฤตโควิด-19


โดย THE POTENTIAL

เผยแพร่




Hybrid Learning เทรนด์การเรียนรู้แบบผสมผสานตอบโจทย์สถานการณ์โควิด-19

•    Hybrid learning หรือ การเรียนรู้แบบผสมผสาน หนึ่งในแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 และเห-ตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดครั้งใหม่ หรือภัยพิบัติและภัยคุกคามต่างๆ
•    เป็นการผสมผสานการเรียนรู้ในห้องเรียน (แบบรักษาระยะห่าง) ควบคู่ไปกับการเรียนออนไลน์
•    หัวใจสำคัญของการจัดห้องเรียนแบบ Hybrid learning คือ การพิจารณาความต้องการและสภาพแวดล้อมของทั้งนักเรียนและครู เพื่อให้ได้แนวทางที่ทั้งสองฝ่ายสามารถทำร่วมกันได้

โรคขาดความเมตตา ภาวะไม่แยแสต่อความเจ็บปวดของผู้อื่น เกิดขึ้นใน เด็ก-ผู้ใหญ่ ยุคไซเบอร์

ความน่ากลัวของโลกออนไลน์ ภาพสะท้อนของชีวิต ‘ออฟไลน์’ ที่ผู้ปกครองต้องโฟกัสให้ถูกจุด

ระหว่างที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าเรียนออนไลน์ต่อไปหรือกลับเข้าห้องเรียนดีกว่ากัน เด็กๆ ทั้งนักเรียนนักศึกษาคือคนที่ต้องแบกรับความกดดันรอบด้าน ไม่ว่าจะเรื่องการเรียน การสอบ สุขภาพ หรือความเครียดในครอบครัว 

การศึกษาชิ้นหนึ่งจากประเทศจีนที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Pediatrics ของสหรัฐอเมริกา นำเสนอผลงานวิจัยโดยนักวิจัยในมณฑลหูเป่ยพื้นที่ต้นกำเนิดของการระบาดในจีน ระบุว่า จากการทดสอบกลุ่มตัวอย่างนักเรียน 2,330 คน เพื่อหาสัญญาณภาวะความตึงเครียดทางอารมณ์จากการกักตัว ร้อยละ 22.6 พบอาการของโรคซึมเศร้า และร้อยละ 18.9 มีภาวะวิตกกังวล

ขณะที่อีกซีกโลก ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) เน้นย้ำผู้ปกครองให้ความสำคัญกับการเฝ้าติดตามสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อโรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน

เพราะนอกจากความกังวลและความเครียดว่าจะติดโควิด-19 แล้ว การระบาดยังส่งผลกระทบทั้งในระดับครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพจิตของผู้คน แม้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการติดโรคมากกว่าเด็ก แต่สิ่งที่น่าตกใจ คือ เด็กและเยาวชนมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตได้มากกว่าผู้ใหญ่ จากรายงานโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ช่วงเดือนมีนาคมถึงตุลาคมที่ผ่านมา ห้องฉุกเฉินตามโรงพยาบาลต่างๆ พบเคสผู้ป่วยวัยเด็กที่กำลังประสบปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 24 สำหรับเด็กในช่วงวัย 5 – 11 ปี และร้อยละ 31 ในเด็กที่มีอายุระหว่าง 12 – 17 ปี 

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาได้นำเสนอแนวทางสำหรับโรงเรียน จากการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการติดเชื้อไว้สามรูปแบบ ได้แก่ หนึ่ง – การเรียนรู้ทางไกลอย่างต่อเนื่องซึ่งมีความเสี่ยงติดโรคต่ำที่สุด สอง – การผสมผสานการเรียนรู้ทางไกลกับการเรียนในชั้นเรียนโดยรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น และ สาม – การเปิดเรียนในชั้นเรียนเต็มเวลา ซึ่งมีความเสี่ยงสูงสุด อย่างไรก็ดีนอกจากความเสี่ยงเรื่องการติดโรคแล้ว ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสุขภาพจิตอีกด้วย

Hybrid learning กุญแจสำคัญที่ช่วยสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
ช่วงแรกในฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคม – พฤษภาคม) ปี 2020 หลังโควิด-19 เริ่มระบาดกระจายวงกว้าง สถานศึกษาในสหรัฐอเมริกากว่า 1,300 แห่ง ใน 50 รัฐ ยกเลิกการเรียนการสอนในชั้นเรียน แล้วเปลี่ยนรูปแบบเป็นการเรียนแบบออนไลน์เท่านั้น แต่หลังจากนั้นในฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน – พฤศจิกายน) ปี 2020 สถานศึกษาหลายแห่งได้พัฒนารูปแบบการเรียน ผสมผสานการเรียนรู้ในห้องเรียน (แบบรักษาระยะห่าง) ควบคู่ไปกับการเรียนออนไลน์ แต่ละแห่งได้รับความสำเร็จในระดับที่แตกต่างกันไป 

จากการสำรวจ พบว่า ร้อยละ 44 ยึดรูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ร้อยละ 21 ใช้รูปแบบผสมผสาน และร้อยละ 27 เปิดการเรียนการสอนในชั้นเรียนตามปกติ อย่างไรก็ตาม ในปี 2021 สถานศึกษาหลายแห่งวางแผนขยายการเรียนการสอนในห้องเรียนให้กลับมาเต็มรูปแบบมากขึ้นเช่นเดียวกับในประเทศไทย

และอีกประเด็นที่ไม่ต่างกันคือ ในสหรัฐฯ พบว่า นักเรียนถึงร้อยละ 20 ติดปัญหาเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นแล็ปท็อปที่ใช้งานได้ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ทำให้การเรียนออนไลน์คล่องตัว นอกจากนี้ยังพบนักเรียนบางส่วนที่ประสบปัญหาเมื่อต้องเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะนักเรียนที่มีปัญหาด้านวิชาการอยู่แล้วเป็นทุนเดิม รวมถึงการขาดวินัยในการจัดสรรเวลาเรียน

วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยบางแห่งประกาศแผนช่วยเหลือนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ด้วยการเปิดห้องสมุดแบบจำกัดเวลา แจกจ่ายฮ็อตสป็อต (hotspot) มือถือให้กับนักเรียน โรงเรียนหลายแห่งเปลี่ยนไปใช้ระบบการให้คะแนนแบบ ‘ผ่าน’ กับ ‘ไม่ผ่าน’ แทนการให้เกรด เพื่อช่วยนักเรียนในระยะสั้น แต่ในระยะยาวยังต้องหาทางออกเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อเนื่องเกี่ยวกับการโอนหน่วยกิจของนักเรียนในระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ Hybrid Learning จึงถูกมองว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจในการรับมือกับวิกฤตในขณะนี้และที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดครั้งใหม่ หรือภัยพิบัติและภัยคุกคามต่างๆ 
รายงานจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก้ (UNESCO) ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เรื่อง ‘COVID-19 response –hybrid learning’ หรือ การตอบสนองต่อโควิด-19 – การเรียนรู้แบบไฮบริด กล่าวว่า “การเรียนรู้แบบผสมผสานเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง” โดยให้ข้อแนะนำว่า 

การจัดการเรียนรู้แบบไฮบริดให้มีประสิทธิภาพต้องสัมพันธ์กับการเรียนรู้ซ้ำๆ  4 ขั้นตอน ได้แก่

1. การสร้างความเข้าใจและจินตนาการ (understand and envision) องค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึงในส่วนนี้ คือ การประเมินสถานะปัจจุบันของระบบ โดยไม่ทิ้งความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครอง, ประสิทธิภาพของการเรียนรู้ผ่านทางไกล และความสามารถของครูในการจัดการเรียนการสอน เช่น พื้นที่หรือสถานที่จัดการสอน การเดินทาง และงบประมาณ

2. การตัดสินใจและการออกแบบ (decide and design) ส่วนนี้เป็นส่วนของการประเมินผลการเรียน ที่ครูและนักเรียนร่วมกันออกแบบได้ เช่น การวัดผลจากการเรียนในห้องเรียนควรคิดเป็นสัดส่วนเท่าไร และจากวัดผลจากการเรียนทางไกลควรทำอย่างไร แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมในแต่ละระดับชั้น

3. การเปิดใช้งานและการดำเนินการ (enable and execute) การพิจารณาว่าวิชาใดควรเรียนในห้องเรียน วิชาใดสามารถเรียนแบบทางไกลผ่านหน้าจอออนไลน์ได้ รวมถึงการออกแบบกิจกรรมให้ได้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเองจากการลงมือทำที่บ้าน  

4. การตรวจสอบและปรับปรุง (monitor and adjust) การเรียนการสอนต้องประเมินและปรับเปลี่ยนแนวทางตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เทียบเคียงจากการมีส่วนร่วมของนักเรียน ผลการเรียนรู้ รวมถึงข้อเสนอแนะจากเด็กและผู้ปกครองเอง

Hybrid Learning เลือกแบบไหนที่ใช่และเหมาะสมที่สุด
ตัวอย่างการจัดการเรียนแบบผสมผสาน เช่น
•    นักเรียนเรียนร่วมกันผ่านห้องเรียนออนไลน์ พร้อมแบบทดสอบและงานที่ได้รับมอบหมายจากครู แล้วกลับมาทบทวนกับครูอีกครั้งแบบตัวต่อตัวในห้องเรียน
•    สลับให้มีนักเรียนหนึ่งกลุ่มเรียนในชั้นเรียนตามปกติแบบรักษาระยะห่าง ส่วนกลุ่มอื่นๆ เรียนสดร่วมกันผ่านห้องเรียนออนไลน์ในช่วงเวลาเดียวกัน
•    ผสมผสานกิจกรรมการเรียนรู้ที่โรงเรียนและที่บ้าน ครูให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะต่างๆ ในห้องเรียน หลังจากนั้นให้นักเรียนกลับไปทดลองทำที่บ้าน แล้วกลับมาทบทวนอีกครั้งในห้องเรียน

เราคงไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าการเรียนรู้แบบไหนดีที่สุดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เพราะคำตอบที่ใช่สำหรับการศึกษาและการเรียนรู้ไม่ว่าช่วงใดก็ตามไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว เพราะการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและทรงพลังต้องเกิดขึ้นจากคิดร่วมกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน และไม่ผลักดันให้ภาระทางการเรียนเป็นของนักเรียนแต่เพียงผู้เดียว โดยเฉพาะในภาวะที่โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กวัยเรียน, ผู้ปกครอง ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนต้องช่วยกันโอบอุ้ม และวางแนวทางจัดกระบวนการเรียนรู้โดยไม่ให้ซ้ำเติมเพิ่มความทุกข์ให้กับพวกเขามากขึ้นไปอีก 

ทั้งนี้ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) ได้พูดคุยกับนักจิตวิทยาวัยรุ่น ดอกเตอร์ลิซ่า ดามัวร์ (Dr.Lisa Damour) คุณแม่ลูกสอง นักเขียนและคอลัมนิสต์นิตยสารนิวยอร์กไทม์ และหนังสือขายดีหลายเล่มเกี่ยวกับวัยรุ่น 

“หนึ่งปีในชีวิตของวัยรุ่นเหมือนเจ็ดปีในชีวิตของผู้ใหญ่ ดังนั้นเราต้องเห็นอกเห็นใจพวกเด็กๆ อย่างมากกับเวลาและโอกาสบางอย่างที่พวกเขาสูญเสียไป เช่น งานฉลองจบการศึกษาระดับมัธยมปลายที่มีแค่ครั้งเดียวในชีวิต มันไม่ใช่หายนะ แต่เป็นเรื่องที่ทำให้พวกเขาเสียใจและเสียความรู้สึก” ดามัวร์ กล่าว

ดามัวร์ ย้ำว่า ความรู้สึกเจ็บปวดหรือเสียใจเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับเด็ก ทางออกมีทางเดียวเท่านั้น คือ การอนุญาตให้พวกเขารู้สึกเสียใจ เพราะนั่นทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นได้เร็วกว่าการเก็บความรู้สึกเอาไว้ ที่สำคัญเด็กและเยาวชนยังต้องการความเห็นอกเห็นใจและการสนับสนุนจากผู้ใหญ่

ที่ผ่านมา สถานศึกษาแต่ละประเทศประกาศเปิดและปิดการเรียนการสอนต่างกันตามวิกฤตในแต่ละพื้นที่ แม้แต่ประเทศไทยสถานศึกษาแต่ละจังหวัดถูกกำหนดให้เปิดและปิดจากการประเมินสถานการณ์เช่นกัน บางพื้นที่เมื่อพบผู้ติดเชื้อ ทางจังหวัดประกาศให้ปิดโรงเรียน 1 – 2 อาทิตย์แล้วกลับมาเปิดใหม่ มหาวิทยาลัยบางแห่งประกาศระงับการสอนแบบออนไลน์ แล้วเปลี่ยนให้กลับมาเรียนตามปกติ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วิกฤตกลายเป็นวิกฤตซ้ำซ้อนและสร้างความสับสน เพราะขาดนโยบายที่ชัดเจน 

การพยายามค้นหาทางเลือกใหม่ๆ หรือแนวทางที่ยืดหยุ่นสอดคล้องตามสถานการณ์ จะช่วยให้การเรียนรู้ไม่หยุดชะงัก หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นภาระที่ซ้ำเติมผู้เรียนยิ่งขึ้นไปอีก

อ้างอิง
The Coronavirus Seems to Spare Most Kids From Illness, but Its Effect on Their Mental Health Is Deepening
Covid stress taking a toll on children’s mental health, CDC finds
How to protect your family’s mental health in the face of COVID-19
Virtual Classroom
Higher Education Responses To Coronavirus (COVID – 19)
COVID – 19 response – hybrid learning

ขอบคุณข้อมูลจาก The Potential มูลนิธิสยามกัมมาจล

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ