มารู้จักเครื่องสวมหัวของไทย...ที่ไม่ได้มีแค่ "ชฎา"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ชฎา คือหนึ่งในเครื่องประดับสวมศีรษะ ที่เรามักเห็นกันในการแสดง ละครรำ หรือโขน แต่รู้หรือไม่ว่า ชฎา ไม่ใช่เครื่องสวมหัวอย่างเดียว ที่มีในประเทศไทย

กลายเป็นกระแสและทำให้คนพูดถึงขึ้นมาทันที หลังมิวสิกวิดีโอเพลงใหม่ LALISA ซึ่งเป็นผลงานเดบิวต์เพลงโซโล่เพลงแรกในชีวิตของ ลิซ่า ลลิษา มโนบาล หรือ "ลิซ่า BLACKPINK"  ได้ปรากฎภาพที่เจ้าตัวสวมชุดไทย และมีเครื่องประดับสวมศีรษะหรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า "ชฎา" ก่อนที่จะมีผู้เชี่ยวชาญ และมีความรู้ด้านนาฎศิลป์ ออกมาอธิบายว่าสิ่งที่ ลิซ่า สวมหัว คือ "รัดเกล้า" ซึ่งมีขนาดเล็กว่า "ชฎา" 

ปังมาก! “ลิซ่า” สวมชุดไทยในเอ็มวี โซโล่ “LALISA” ดีไซเนอร์บรรจงออกแบบสุดพิเศษ

คุณแม่ “ลิซ่า BLACKPINK” กลั้นน้ำตาไม่อยู่ ปลื้มดูเอ็มวีลูกสาว ชอบทุกอย่าง

งานนี้ทีมข่าว พีพีทีวี นิวมีเดีย จึงเกิดความสงสัยว่าแล้วเครื่องสวมหัวของไทยแท้จริงแล้วมีกี่แบบกันแน่ และมีอะไรบ้างจึงได้ทำการค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ โดยสามารสรุปรายละเอียดได้ดังนี้ 

ชฎา, มงกุฎ หมายถึงเครื่องสวมศีรษะ มียอดแหลม และมีหลายแบบ ซึ่ง นักปราชญ์ราชบัณฑิตสยามอธิบายสอดคล้องกันว่าชฎามีต้นแบบจากลอมพอกที่เป็นเครื่องสวมศีรษะของเปอร์เซีย (อิหร่าน)

โดย ลอมพอก จะมีลักษณะเป็นเครื่องสวมศีรษะรูปยาว ยอดแหลม หรืออาจมนๆ ไม่แหลมนักก็ได้ ล้วนได้แบบจากเปอร์เซีย (อิหร่าน) ตั้งแต่ก่อนยุคอยุธยา แล้วใช้เป็นเครื่องทรงพระเจ้าแผ่นดินกับเครื่องแบบขุนนางสยามยุคอยุธยา ต่อมามีพัฒนาการเป็นชฎาและมงกุฎ ใช้แต่งตัวโขนละครด้วย

ลอม หมายถึง กองเรียงกันขึ้นไปให้สูงเป็นจอม เช่น ลอมฟาง วางท่อนไม้ให้ปลายด้านบนรวบกันเป็นจอม เช่น ลอมฟืน

พอก หมายถึง เพิ่ม, พูน, โพก เช่น โพกหัว, โพกผ้าขะม้า, ฯลฯ


ขณะที่ มงกุฎ คือเครื่องมงคลสิริราชกกุธภัณฑ์ประเภทเครื่องราชศิราภรณ์ที่พระมหากษัตริย์อย่างหนึ่ง ถือเป็นเครื่องหมายยศอันสูงสุด สำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระมหากษัตริย์ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นโอกาสแรก ซึ่งตามประวัติที่พบในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหาพิชัยมงกุฎ  จะทำจากทองคำจำหลักลาย ลงยา ประดับเพชร และรัตนอัญมณีต่าง ๆ สูงจากขอบฐานล่างถึงยอด 51 เซนติเมตร ถ้ารวมพระกรรเจียกจอนสูง 66 เชนติเมตร หนักรวม 7,300 กรัมยอดแหลมสูง เป็นทองคำสลักลาย ประดับรัตนชาติ ปลายสุดของปลียอด ประดับเพชรลูกขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยมงคลเพชร ห้อยระย้าเพชรรูปหยดน้ำขนาดเล็กใหญ่สลับระยะ
พระมหาพิชัยมงกุฎองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างขึ้น ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชสมบัติ (การเวก รัตนกุล) เป็นข้าหลวงออกไปซื้อหาเพชรอันต้องพระราชประสงค์ ณ เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย เมื่อพุทธศักราช 2402 และสามารถซื้อหามาได้ พระราชทานนามเพชรนี้ว่า พระมหาวิเชียรมณี โปรดให้ประดับไว้ที่ยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ


 
รองลงมาคือ พระชฎาห้ายอด  ซึ่งเป็นเครื่องราชศิราภรณ์สำหรับพระมหากษัตริย์ทรง และมักจะทรงในงานใหญ่ เช่น เวลาเสด็จพระราชดำเนินขบวนพยุหยาตราเลียบพระนคร หรือ เสด็จพระราชดำเนินขบวนพยุหยาตราไปถวายผ้าพระกฐิน จึงเป็นเหตุให้เรียกพระชฎาองค์นี้ว่า “พระชฎามหากฐิน”  มีศักดิ์รองจากพระมหาพิชัยมงกุฎ บางคราวพระราชทานให้พระบรมวงศ์ทรงก็มี 

ซึ่งพระชฎาห้ายอด นี้จะทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร ปลายเป็น 5 ยอด มีกรรเจียกและใบสัน หรือบักขนนกวายุภักษ์ สร้างในรัชกาลที่ 1 องค์หนึ่ง มีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม ต่อมาสร้างเพิ่มในรัชกาลที่ 5 องค์หนึ่ง รัชกาลที่ 6 องค์หนึ่ง และรัชกาลที่ 7 อีกองค์หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชาธิบายเรื่องพระชฎาห้ายอดในประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ว่า “พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ต้องทรงทำของพระองค์เองขึ้นใหม่, ซึ่งใช้ทรงตลอดพระชนมายุและเมื่อเสด็จสวรรคตก็ทรงพระบรมศพในพระโกศไป จนถึงกำหนดจะถวายพระเพลิงจึ่งเปลื้องออกไปยุบเอาทอง หล่อพระฉลองพระองค์.” ภายหลังก็ไม่ปรากฏว่าสร้างเพิ่มขึ้นอีก

ส่วน ชฎา ในทางนาฎศิลป์ จะใช้สำหรับโขน ละคร จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าและสูงกว่า จะใช้สำหรับตัวละครที่เป็นผู้ชาย

ขณะที่เครื่องสวมหัวอีกชนิดคือ พระเกี้ยว ซึ่งจะใช้ในงานโสกันต์ หรืองานโกนจุกนั้นเอง โดยตามความเชื่อแต่โบราณ เด็กไทยจะไว้ จุก บริเวณขวัญ เมื่อถึงช่วงอายุหนึ่ง จึงจัดมีพิธี โกนจุก แต่ถ้าเป็นเจ้านายในวันก็จะเรียกพิธีนี้ว่า พิธีโสกันต์ โดยงานโสกันต์เป็นงานอย่างยิ่งใหญ่เจ้าฟ้าจะทรงชุดจัดเต็ม ทรงพระนวม (นวมคอ) ประดับด้วยถนิมพิมพาภรณ์มาอย่างแน่นและหนัก ส่วนที่พระเมาฬี (จุก) นั้น ทรง “พระเกี้ยวยอด”

ส่วน รัดเกล้ายอด คือ  "ศิราภรณ์" รูปทรงรัดเกล้า จะมีลักษณะที่วางพอดีรอบกระโหลก  มียอดแหลม   ไม่มีกรอบหน้า ที่ขอบด้านล่างจะเรียบ เวลาใส่ จะมี จอนหู หรือไม่มีก็ได้ แล้วแต่ยุคสมัย   จะใช้สำหรับตัวละครที่เป็นผู้หญิง


เรียกได้ว่าแค่ มิวสิกวิดีโอของ ลิซ่า ที่เผยแพร่ออกมาเพียงไม่กี่ช็อต ที่เห็นให้เห็นเครื่องสวมศีรษะ จะทำให้เรารู้ถึงที่มา และเรียนรู้วัฒนธรรมไทย ที่มีเครื่องสวมหัวมากมายหลายรูปแบบ ซึ่งหลังจากนี้เราคงไม่ต้องเรียกทุกอย่างที่สวมหัวว่า ชฎาอีกแล้ว เพราะแต่ละตัวนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

 

 

 

ข้อมูล และรูปภาพอ้างอิงจาก 
- บทความ “ชฎา, มงกุฎ โขนละคร ได้จาก ‘ลอมพอก’ ของเปอร์เซีย (อิหร่าน)” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ เผยแพร่ในมติชนออนไลน์วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559 
- Facebook หอสมุดพิกุลศิลปาคาร
- Facebook Museum Siam
- นายสุรัตน์ จงดา หรือ "ครูไก่" ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.) 
- ครูบิ๊ก-พีรมณฑ์ ชมธวัช เจ้าของอาภรณ์งามสตูดิโอ

- ชมรมประวัติศาสตร์สยาม

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ