ประวัติชาติพันธุ์ "กูย" ก่อนดราม่า "กุน ขแมร์" โยงเชื้อสาย“บัวขาว”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากกรณีที่ กัมพูชา เจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในระหว่างวันที่ 4-17 พ.ค. 2566 จะจัดแข่งขันมวยที่ชื่อว่า "กุน ขแมร์" กีฬาที่มีต้นกำเนิดมาจากศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของประเทศ

จนกลายมาเป็นประเด็นโต้เถียงกันในสังคมโซเชียลระหว่างชาวไทยกับกัมพูชา เนื่องจาก “กุน ขแมร์" นั้น มาจากรากฐานของ มวยไทย

แต่ดราม่ายังไม่จบ มีชาวกัมพูชา บางส่วนอ้างว่า “บัวขาว บัญชาเมฆ” นักมวยไทยชื่อดัง มีเชื้อสายเป็นชาวเขมร จน “บัวขาว” ที่พื้นเพเป็นคน อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ ต้องออกมาโพสต์ ยืนยันว่า ตนเองเป็นคนไทยเชื้อสาย “กูย” ไม่ใช่เขมร ตามที่ชาวกัมพูชากล่าวอ้าง

"บัวขาว" โพสต์คือคนไทย เชื้อสายกูย ไม่ใช่เขมร

มนตรีซีเกมส์-อิฟม่า ไม่เห็นด้วย กัมพูชา จัดมวย "กุน ขแมร์"

คนไทยเชื้อสาย “กูย มาจากจากไหน? ในบทความ “การศึกษาประเพณีวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์จีน กูย ลาว เขมร ด้วยแอปพลิเคชันสำหรับการท่องเที่ยว กรณีศึกษาตลาดสี่ชนเผ่า ตำบลสำโรงทาบ อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์” ระบุไว้ว่า หลักฐานทางประวัติศาสตร์บรรพบุรุษของชาว“กูย” คือ คนที่มีพื้นเพเดิมมาจากทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย

ต่อมาได้ย้ายมาตั้งหลักแหล่งอยู่ในลาวตอนใต้แถบ เมืองอัตปือแสนแป แขวงจําปาศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองและสงครามชาว “กูย” จึงย้ายถิ่นฐานจากเมืองอัตปือแสนแป มุ่งสู่ จ.อุบลราชธานี ผ่านศรีสะเกษ และสิ้นสุดใน จ.สุรินทร์ มุ่งหมายมาปักหลักทางตะวันตกเมืองสุรินทร์ใกล้ลุ่มแม่น้ำชีน้อย

สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ช้างเผือก ในสมเด็จพระที่นั่งสุริยอัมรินทร์ ได้หลบหนีเข้าป่าไปยังพื้นที่อยู่อาศัยของชาวกูย เจ้าเมืองพิมาย จึงแนะนําให้คณะผู้ติดตามช้างมาพบกับหัวหน้าหมู่บ้านของชาวกูย เพื่อขอความช่วยเหลือตามจับช้างเผือก ในที่สุดสามารถตามจับช้างเผือกถวายคืนและได้รับความดีความชอบ ดังนั้น ชาวไทยกูย (ส่วย) จึงเป็นที่รู้จักและเรียกว่า“ส่วย”คําว่า ส่วยจึงเป็นคําพูดหมายถึงกลุ่มชาวกูย นับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

กล่าวว่า คําว่า“ส่วย”หรือ“กูย”ในภาษาของเขา แปลว่าคน แต่ทางอีสานเรียกพวก “กูย” ว่า “ส่วย” คือ เป็นพวกที่เสียส่วยให้แก่รัฐบาลแทนการเกณฑ์ทหาร แต่คําว่า“ส่วย” แม้ส่วนใหญ่ใช้เรียกแต่พวก “กูย”หมายถึงส่วยที่กลายเป็นเขมร และ ลาว เช่น ลาวส่วย เขมรส่วย ถ้าเรียกส่วยเฉย ๆ หมายถึงพวกกูย

โดยตรงนอกจากนี้ ในงานค้นคว้าของ เจริญ ไวรวัจนกุล (2541:37)  กล่าวว่า“กวย”เป็นภาษาที่ใช้เรียกตนเองซึ่งแปลว่า “คน” ความจริงชาว “กูย”ที่สุรินทร์ ควรจะเรียกว่า “กวยอะจิง” คือ กวยเลี้ยงช้าง หรือ คนเลี้ยงช้าง

หากแต่ชนนอกกลุ่มพากันเรียกว่า “ส่วย” นั้นเพราะแต่เดิมชาว “กูย” มีหน้าที่ควบคุมของป่าเป็นภาษีไปยังอยุธยา โดยใช้ช้างบรรทุกไป ชาวเมืองให้ความสนใจกับช้างจึงจดจําได้ว่ากลุ่มชนที่มาส่งภาษีหรือ “ส่งส่วย” นี้ว่าเป็นคนเลี้ยงช้าง ดังนั้นผู้ไปส่งจึงเป็นพวกไปส่งส่วยหรือพวก ส่วย และจากการศึกษาพบว่ากลุ่ม

ชาติพันธ์ “กูย” อาศัยอยู่ในจ.สุรินทร์ และ ศรีสะเกษ โดยกระจายอยู่ทั่วทุกอําเภอ ในช่วงแรกก่อนที่ชาวไทย-ลาว และ ไทย-เขมร อพยพเข้ามาอยู่นั้น สุรินทร์และศรีสะเกษ เป็นถิ่นที่อยู่ของชาว “กูย” เกือบทั้งหมด แต่ปัจจุบันนี้ชาวกูยเหลืออยู่ประมาณ 10-20 % ของประชากรในจังหวัดเท่านั้นและเนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็วในการสื่อสารการคมนาคม กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ จึงได้มีการยอมรับทางวัฒนธรรมของกลุ่มอื่นเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมของตน

โดยเฉพาะชาว “กูย” ซึ่งมีลักษณะเฉพาะในการยอมรับวัฒนธรรมอื่นสูงอยู่แล้วจึงแทบจะกลายเป็น กูย-ลาว กูย-เขมรไปเกือบหมด ปัจจุบันชาวกูย ในจ.สุรินทร์อาศัยอยู่มากในเขต อ.เมือง จอมพระ สังขะ ศีขรภูมิ และ สําโรงทาบ

ชาวกูย ในอ.สําโรงทาบส่วนใหญ่มีอาชีพทําการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ค้าขายและรับจ้างทั่วไปเมื่อว่างจากทําการเกษตรจะทอผ้า การแต่งกายของชาวกูย-หญิงสูงอายุมักจะนุ่งผ้าลายเฉพาะของชาวกูย และนิยมใส่สร้อยคอลูกปัดเงินและชอบทัดดอกไม้ที่หูชาวกูยมีธรรมเนียมว่าจะต้องดูแลการแต่งกายของแม่ที่สูงอายุให้ดีให้แม่นุ่งผ้าไหม เป็นต้น จึงจะถือว่าดูแลดี

ในปัจจุบันการทอผ้าไหม หรือผ้า หรือผ้าฝ้าย เริ่มลดน้อยลงผ้านุ่งสตรี มักนิยมทอหมี่คั่นเป็นทางแนวดิ่งใช้ไหมควบ ยืนพื้นสีน้ําตาลอมดํา มีหัวซิ่น ที่ยีนพื้นลายขิด ตีน ซิ่นพื้นดําขนาด 2-3 นิ้วมีริ้วสีขาวเหลืองแดงผ้าสไบที่ใช้พาดบ่าหรือเป็นผ้าเบี่ยงของชาวกูยจะทอเป็นผ้าย กดอกหรือยกเขาเรียกว่า“ตะกอ” ผ้าสไบที่มีลักษณะการทอ เช่นนี้เรียกว่า“ผ้าแก็บ” จะทอแล้วนํามาตัดเป็นตัวเสื้อและผ้าสไบ ตัวเสื้อนิยมเป็นสีดํา ผ้าถุงที่สวมใส่จะมีหัวซิ่นและตีนซิ่นลวดลายพิเศษของชาวกูย

นอกจากนี้ในด้านความเชื่อและพิธีกรรม กลุ่มชาติพันธุ์กูย จะมีความเชื่อต่อผีบรรพบุรุษ โดยมีการประกอบพิธีกรรมแกลมอ “แกลมอ”เป็นภาษากูย“แกล” แปลว่า เล่น คําว่า“มอ” เป็นคําเฉพาะซึ่งแกลมอหมายถึง “การเล่นมอ” (การรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยเสียงดนตรี) เพื่อสื่อสารกับบรรพบุรุษและเคารพต่อ ดวงวิญญาณเพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วย

ที่มา:การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติและนานาชาติครั้งที่ 10

ขอบคุณภาพ:สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์

TOP สังคม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ