หมอ 3 สถาบัน ตอบทุกข้อสงสัย "วัคซีนต้านโควิด"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เข้าใจ รู้จัก วัคซีนโควิด-19 ในทางการแพทย์มากขึ้น คำตอบทุกข้อสงสัยของหมอ 3 สถาบัน (ศิริราช รามาฯ จุฬาฯ ) จากโรคร้ายกลายเป็นโรคหวัดธรรมดา เพื่อวันที่ชีวิตอันปกติสุขจะกลับมา

คำถามากมายจากประชาชนถึง “วัคซีนต้านโควิด-19” ความไม่เชื่อมั่นต่างๆ สะท้อนออกมาผ่านยอดจองแอปพลิเคชันไลน์ “หมอพร้อม” กว่า 10 วัน ยอดจองยังอยู่ที่ 1.8 ล้านคน ขณะที่เป้าหมายรอบนี้รัฐตั้งเป้าไว้ที่ 16 ล้านคน ใน 2 กลุ่มเป้าหมายแรกคือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง

สุทธิชัย หยุ่น : “วัคซีนโควิด” หมอให้ฉีด ทำไมไม่ฉีด?

สรุปมาให้ คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน  ที่คุณหมอแนะนำให้อ่าน

หมอ 3 สถาบันโรงเรียนแพทย์ ออกมาอธิบายโดยละเอียดถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผ่านทางช่องรามาแชนแนล Rama Channel โดยหมอทั้ง 3 สถาบัน ประกอบด้วย

ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย,ศ.นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ จากคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ  หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม , ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก จาก คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล

ศ.นพ.ยง ภู่สุวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิค , รศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ รอง หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์  คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ซึ่งคำแรกที่ได้รับความน่าเชื่อถือจากทีมหมอ คือ 

“  ยืนยันยังไม่มีใครตายจากการฉีดวัคซีนขณะที่โควิด-19 มีคนตาย 1-2 คน จากผู้ป่วย 100 คนทุกวัน ” ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผอ.ศูนย์วิจัยคลินิค คำยืนยันจากหมอ

เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่น่ากลัวกว่าวัคซีนคือ โรคโควิด-19 ที่อยู่รอบตัวเรา

คนไม่ได้กลัววัคซีนโควิด-19 แต่คนกลัวผลข้างเคียง

ทีมหมอ อธิบายต่อว่าในส่วนของผลข้างเคียงที่เป็นแพ้ มี 1 ใน 100,000 คน ส่วนผลข้างเคียงอย่างอาการ ไข้ ปวด  บวม แดง ร้อน มีรายงานมีไม่ถึงร้อยละ 10 และอาการไข้ ที่เกิดขึ้นเป็นอาการปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และจะเกิดกับผู้ที่มีอายุน้อยเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจาก ภูมิต้านทานยังมีมากกว่า ผู้สูงอายุ เกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

“  อย่าตกใจถ้าไข้ขึ้น เพราะร่างกายเราเริ่มทำงาน ไข้สูงภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูง ภูมิคุ้มกันจะขึ้นดี แสดงถึงปฏิกิริยาของร่างกายตอบสนองต่อวัคซีน ยิ่งอายุน้อยจะไข้เยอะหน่อย ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาการประมาณ 1-2 วันจะกลับมาเป็นปกติ ”

ผลข้างเคียงอย่าง “ลิ่มเลือดอุดตัน” จะมีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่

ทีมหมอชี้แจ้งว่า โดยหลักการของวัคซีนไม่ได้เพิ่มโอกาสให้เกิดโรคนี้โดยทั่วไป และเมื่อดูตัวบ่งชี้ทางพันธุกรรมประชากรไทย ชาวเอเชีย มีโอกาสเกิดโรคนี้ต่ำกว่าคนผิวขาว แถบยุโรปประมาณ 10 เท่า แต่ในยุโรปถึงแม้จะมีภาวะดังกล่าวก็มีโอกาสเจอ 1 ใน 100,000 คน ถึง 1 ใน 1,000,000 คน

แต่ในกรณีที่เป็นเช่นนั้นซึ่งรุนแรงจนไปกระตุ้นเกร็ดเลือดให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ก็สามารถรีบให้การวินิจฉัยและรักษาได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ กรณีที่เกิดติดเชื้อโควิด-19 จะยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันมากกว่าด้วยซ้ำ

ทีมหมอ อธิบายว่า ในทางกลับกัน พบว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ทำให้ภูมิต้านทานตัวหนึ่งสัมพันธ์กับภาวะลิ่มเลือดอุดตันพิเศษชนิดนี้ คือ ต้านทานต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันสูงกว่าปกติ ส่วนคนไข้ที่เป็นลิ่มเลือดอุดตันอยู่แล้วยิ่งควรฉีด วัคซีนต้านโควิด-19 เพราะหากติดโควิด-19 จะยิ่งไปกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้มากขึ้นได้

ผู้ป่วยในโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีเคสติดโควิด-19  ปอดอักเสบ อยู่ในไอซียู มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ร้อยละ 20 ซึ่งมากกว่าเกิดจากวัคซีนต้านโควิด-19

ส่วนอาการข้างเคียงอื่น เช่น อาการชา ทีมหมออธิบายว่า ไม่เกี่ยวกับตัววัคซีนและเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราว เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่มีอาการกลัวในช่วงก่อนได้รับวัคซีน ทำให้ร่างกายไม่พร้อม อ่อนเพลีย และอาจเกิดอาการเหมือนชาครึ่งตัว อ่อนแรงครึ่งตัว เบื้องต้นประมาณ 1-3 วัน จะหายเป็นปกติ หรือบางรายใช้เวลาเป็นสัปดาห์ แต่ยังไม่มีรายงานว่าเสียชีวิตหรือพิการถาวร จากวัคซีนต้านโควิด-19

ผลข้างเคียงในแต่ละวัย

ทีมหมอ ระบุว่า ในวัยหนุ่มสาวหลังได้รับวัคซีนจะมีอาการมากกว่าผู้สูงอายุแต่อย่างที่กล่าวไป จะสะท้อนว่าร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีในส่วนของ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ปอด หัวใจ ถ้าติดโควิด-19 จะมีอาการรุนแรง ดังนั้น จึงสนับสนุนให้ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ก่อน เพื่อให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดความรุนแรงของโรค

ส่วนในเด็ก รศ.พญ.ธันยวีร์ ในฐานะหมอเด็ก ระบุว่า ปัจจุบันยังอนุญาตให้เฉพาะผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปรับวัคซีนได้ ดังนั้น ระหว่างที่รอวัคซีนสำหรับเด็ก สิ่งที่เราจะช่วยได้คือ ทุกครอบครัว ทุกที่ทำงาน ทุกโรงเรียน ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ที่คลอบคลุมเป็นวงกว้าง เพราะเมื่อผู้ใหญ่ไม่ป่วย เด็กย่อมไม่ป่วย

ซึ่งการระบาดรอบนี้ผู้ติดเชื้อเด็กมากขึ้น ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1,000 คน มีเด็กเกือบ 100 คน

หมอย้ำเกิดอาการค้างเคียงรุนแรง “มีทีมแพทย์และอุปกรณ์ช่วยทันที”

อย่างไรก็ตาม หากเกิดผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ตามมาตรฐานของการฉีดวัคซีนในกับประชาชน จะมีข้อกำหนดว่าต้องเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมยาประเภท Epinephrine (อิพิเนฟริน) หรืออะดรีนาลีน (Adrenaline) รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ จะเข้ามาดูลอาการ ณ จุดฉีดทันที หากมีอาการจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง ซึ่งสำหรับประเทศไทยมองว่ามีความพร้อมมากในการเตรียมการเพื่อฉีดประชาชนครั้งนี้

การฉีดวัคซีนของประเทศไทยที่เคยมีมา การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ครั้งนี้ มีการเตรียมพร้อมและการดูแลดีที่สุด รวมถึงการเก็บข้อมูลหลังฉีดแบบเรียลไทม์ว่าใครฉีดล็อตไหนสามารถตรวจสอบได้ทันที

แล้วข้อสงสัยที่ว่าถ้า “ฉีดกับไม่ฉีด” ต่างกันอย่างไร

ทีมหมอทั้ง 6 ท่าน ยืนยันว่า “ต่างกันมาก” เพราะเมื่อฉีดวัคซีนต้านโควิด-19โอกาสที่จะติดโรคลดลงครึ่งหนึ่งทันที และยิ่งนานไปก็จะยิ่งเห็นความแตกต่าง เช่น ภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งจะอยู่ในระยะปลอดภัย ซึ่งตรงนี้มีผลการศึกษาจากทีมระบาดวิทยาของโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลแสดงชัดเจน

ประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละยี่ห้อต่างกันหรือไม่

ปัจจุบันประเทศไทยใช้วัคซีนหลักๆ อยู่ 2 ยี่ห้อคือ ของแอสตร้าเซเนก้า และ ซิโนแวค หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า วัคซีนต้านโควิด-19 แต่ละยี่ห้อดีหรือไม่ดีต่างกันอย่างไร

ทีมหมอ ชี้แจงว่า ถ้าดูเฉพาะตัวเลขตัวประสิทธิภาพจะเห็นความแตกต่าง แต่หากเจาะลึกลงไปการทดลองของวัคซีนแต่ละตัว เป็นการทดลองต่างสถานที่กันและคนละเวลา เพราะฉะนั้นคงเปรียบเทียบประสิทธิภาพตรงๆ ไม่ได้ ขณะเดียวกันในพื้นที่ทดลองอาจจะมีความต่างเรื่องสายพันธุ์

แต่โดยภาพรวมได้เห็นการแสดงประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกันแล้วจำนวนคนที่วัคซีนสามารถป้องกันได้จากการฉีด 1,000 คน ป้องกันได้ 10 คน ผลตรงนี้ใกล้เคียงกันมาก นั่นหมายความว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนไม่แตกต่างกันมาก

โดยเฉพาะ 2 ตัวที่ประเทศไทย มีผลการฉีด 2 ยี่ห้อ แทบจะเป็นเส้นเดียวกันในกราฟ และยิ่งเวลานานไปโอกาสติดโรคจะมากขึ้น แต่ถ้ายิ่งฉีดโอกาสติดโรคจะยิ่งน้อยลง

วัคซีนไม่ควรไปเทียบว่าบริษัทไหน เพราะมันเป็นวัคซีนของโรคระบาดระดับโลก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องวัดคือ ฉีดวัคซีนประชากร ร้อยละ 20  ร้อยละ 40 หรือร้อยละ 70 ผลที่เกิดขึ้นจะต่างกัน ต้องไปวัดที่จำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีน เห็นชัดเจนว่า ประเทศที่มีการฉีดขึ้นไประดับสูงๆ เช่น อังกฤษ ตอนนี้เห็นชัดเจนว่าจำนวนเคสลดลง เพราะฉะนั้นเวลาวัดผลไม่ได้วัดผลว่าฉีดยี่ห้อใด แต่วัดผลว่าพื้นที่ไหน กลุ่มประชากรไหนได้วัคซีนครบถึงร้อยละ 50-70  อันนั้นจะเกิดประสิทธิภาพระดับประชากร

มีกรณีที่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนต้านโควิด19 หรือไม่ 

ทีมหมอระบุ มี 3 กรณีคือ 

1.กำลังเจ็บป่วย

2..มีโรคประจำตัวที่ยังอยู่ในภาวะที่ควบคุมไม่ได้ เช่น หัวใจกำลังอยู่ในภาวะเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจวาย ต้องให้แพทย์ประจำตัวประเมินก่อน

3. หญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก หรือ น้อยกว่า 12 สัปดาห์ เพราะในช่วงแรกจะมีความอ่อนไหวต่อทารกในครรภ์ แต่ในกรณีที่ฉีดแล้วเพิ่งมารู้ว่าตั้งครรภ์ แนะนำให้เลื่อนเข็มที่สองไปฉีดหลังตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ 

ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่มากกว่า 12 สัปดาห์ ควรได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 เพราะหากติดโควิด-19 อาการจะรุนแรงกว่าหญิงไม่ตั้งครรภ์ ขณะเดียวกัน หากฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แล้วภูมิต้านทานจะสามารถออกมาทางน้ำนม

ไวรัสกลายพันธุ์ กับ การฉีดวัคซีน 

ศ.นพ.ยง ระบุว่า ภาพรวมประสิทธิภาพวัคซีนก็ยังเพียงพอต่อการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์บราซิล แม้กระทั่งสายพันธุ์แอฟริกา ส่วนสายพันธุ์อินเดีย (พันธุกรรมส่วนหนึ่งคล้ายที่แพร่ระบาดในอังกฤษ และส่วนหนึ่งคล้ายที่แพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกา) ทำให้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่ามีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีน เพียงแต่เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่แพร่กระจายเร็ว  เพราะฉะนั้นแล้ว แม้ประสิทธิจะน้อยลงแต่ก็ยังคงประสิทธิภาพในระดับที่สามารถปกป้องความรุนแรงของโรคได้ และการฉีดวัคซีนในคนหมู่มากทำให้เกิดการป้องกันไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ใหม่อีกด้วย

ในท้ายที่สุดแล้ว ศ.นพ.ยง  กล่าวเสริมว่า วิกฤตครั้งนี้จะแก้ปัญหาได้ด้วยวัคซีน ทั่วโลกต้องฉีดให้ได้เป้าหมาย 10,000 ล้านโดส (ตอนนี้ฉีดวัคซีนได้ประมาณ 3,000  ล้านโดส)  ส่วนประเทศไทยต้องฉีดให้ได้ 100 ล้านโดส ภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ตามแผนคือ ต้องใช้เวลาเดือนละ 10 ล้านโดส (รวม เสาร์ - อาทิตย์) เป็นไปได้หรือไม่ถ้าจะขยับมาเป็น 4-5 แสนโดสให้ได้เดือนละ 40 ล้านโดส ภายใน 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ ก็จะมีโอกาสกลับสู่ภาวะปกติได้

ขอให้กลัวโควิด-19 อย่ากลัววัคซีน ฉีดก่อนปลอดภัยก่อน เราจะทำให้โควิด-19 จากโรคร้ายกลายเป็นโรคหวัดธรรมดาด้วยวัคซีนเพราะฉะนั้นแล้ว ทีมหมอทั้ง 3 สถาบัน ยืนยันว่า “วัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่เข้าร่างกายได้เร็วที่สุด” และการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งนี้เป็นการเตรียมการที่ปลอดภัยกว่าทุกครั้งที่เคยมีมา

 

 

 

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ