How To...แก้ปัญหานอนไม่หลับ โดยไม่พึ่งพายานอนหลับ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ยานอนหลับ ไม่ใช่หนทางแก้ปัญหานอนไม่หลับที่ดีที่สุด เป็นอันตรายต่อตับ ไต มีผลข้างเคียงมาก ไขคำตอบเมื่อไรที่ควรพึ่งพายานอนหลับ?

ปัญหาการนอนไม่หลับจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้หลายคนเลือกพึ่งพายานอนหลับเพื่อขจัดปัญหาเหล่านี้ ทั้งที่จริงแล้วยานอนหลับไม่ได้ให้ผลดีอย่างที่คิด เพราะเป็นยาที่มีผลข้างเคียง เช่น อาจทำให้เกิดความผิดปกติ ของตับ ไต บางครั้งรุนแรงจนถึงขั้นทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ ดังนั้นการใช้ยานอนหลับโดยไม่ปรึกษาแพทย์จึงให้ผลร้ายมากกว่าผลดี เช่นเดียวกับการตื่นกลางดึกเพราะปวดปัสสาวะบ่อยๆ อาจทำให้เรานอนไม่หลับเช่นกัน วิธีการที่จะทำให้นอนหลับยาวคลอดทั้งคืน มีหลายวิธีโดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง

เตือน!นอนหลับขาดตอน ส่งผลต่อสมอง เสี่ยง “โรคหัวใจ-อ้วนลงพุง”

 

ในกรณีที่อาการนอนไม่หลับรุนแรง หรือเรื้อรัง เช่น นอนไม่หลับอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์ ปฏิบัติตามคำแนะนำและอยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของแพทย์ ไม่ควรซื้อยานอนหลับมากินเอง เนื่องจากยานอนหลับมีผลข้างเคียงบางประการ เช่น อาจทำให้เกิดความผิดปกติของเม็ดเลือด ตับ หรือไตได้ อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น หรือหยุดหายใจ

นอกจากนี้ส่วนใหญ่พวกยานอนหลับจะมีผลข้างเคียงทั่วไป เช่น อาการง่วง หรือมึนศีรษะในช่วงเวลากลางวัน ลืมเหตุการณ์หลังจากใช้ยาในระยะเวลาสั้นๆ หรือเกิดอาการดื้อยาทำให้ต้องใช้ยาจำนวนมากขึ้นและอาการติดยา

ทางการแพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่นอนไม่หลับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการนอนเสียก่อน เพราะส่วนมากแล้วอาการนอนไม่หลับมักเกิดขึ้นชั่วคราวตามสาเหตุ  ซึ่งถ้าแก้ไขสาเหตุหรือสาเหตุหมดไป  เราก็จะนอนหลับได้ตามเดิม ตัวอย่างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เข้านอนให้เป็นเวลา งดเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนหลังเที่ยงวัน งดออกกำลังกายก่อนเข้านอน ถ้าจำเป็นจะต้องใช้ยาชั่วคราว อาจลองใช้ประเภทยาที่ทำให้ง่วงนอนที่เราสามารถหาซื้อได้ทั่ว ๆ ไป เช่น ยาแก้แพ้ (ANTIHISTAMINE) เป็นต้น

สรุป ง่ายๆ หากอาการนอนไม่หลับที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ควรแก้ที่สาเหตุก่อนการกินยา แต่ถ้าอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นบ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาที่เหมาะสม

อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้เรานอนหลับตลอดทั้งคืน หรือ ตื่นกลางดึก เพราะลุกปัสสาวะบ่อย มาดูกันว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และ จะแก้ได้อย่างไร

อ.นพ.ดุษฎี โสวรรณทิพย์ ศัลยแพทย์ด้านทางเดินปัสสาวะ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า โดยปกติร่างกายจะผลิตปัสสาวะน้อยลงในช่วงเวลากลางคืน ทำให้สามารถนอนหลับต่อเนื่อง โดยไม่ต้องตื่นมาปัสสาวะกลางดึก อาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ในบางสาเหตุสามารถแก้ไขได้โดยการปรับพฤติกรรมในด้านต่าง ๆ ดังนี้

- ลดการดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มต่าง ๆ ก่อนเข้านอน 2-4 ชั่วโมง

- ลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือกาเฟอีน และอาหารที่มีรสเค็มหรือมีปริมาณเกลือสูง

- จดบันทึกสถิติการดื่มน้ำและการปัสสาวะในแต่ละวัน เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคได้

- ผู้ที่มีอาการบวมน้ำ ควรยืดหรือเหยียดขาให้สูงกว่าระดับหัวใจในช่วงก่อนนอนหรือใช้หมอนหนุนบริเวณขาขณะนอนหลับ เพื่อลดการสะสมของของเหลวบริเวณขา หรืออาจใส่ถุงน่องที่ช่วยลดอาการขาบวมร่วมด้วยได้

- จัดสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการนอนหลับ เช่น ไม่มีเสียงรบกวน แสงสว่างน้อยปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือ เลือกชุดเครื่องนอนและที่นอนที่ทำให้นอนหลับสบาย

ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และผ่อนคลายความเครียด เช่น การทำสมาธิ เล่นโยคะ ฟังเพลงที่ชอบ

ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้พบแพทย์ เนื่องจากสาเหตุของการปัสสาวะกลางคืนเกิดได้จากหลายสาเหตุ จำเป็นต้องรักษาตามสาเหตุนั้น ๆ

เผยเทคนิคจัดอาหารให้ผู้สูงวัยสุขภาพดี ห่างไกลโรค

อ้างอิง :  https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_printing/1975

https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/การตื่นปัสสาวะบ่อย

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ