สถิติทั่วโลกฟ้อง! มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ในทุก 40 วินาที เฉพาะคนไทย 4,800 คนต่อปี


โดย BDMS

เผยแพร่




การสูญเสียบุคคลที่รักด้วยสาเหตุการฆ่าตัวตาย เป็นบาดแผลในใจที่เจ็บปวดและบาดลึกเกินกว่าคนคนหนึ่ง จะก้าวข้าวถึงทำใจได้โดยง่าย ครอบครัวของผู้เสียชีวิตมักจมอยู่กับคำถามซ้ำ ๆ และความรู้สึกผิดหรือแม้แต่พยายามฆ่าตัวตายตามผู้เสียชีวิต 

การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสำคัญ ที่ทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจและหาทางป้องกัน ในวันหนึ่งเราอาจสามารถช่วยเหลือคนใกล้ตัว เพื่อน หรือคนในครอบครัวให้ปลอดภัยได้ ทุก ๆ ปีทั่วโลกมีคนมากกว่า 7 แสนคนฆ่าตัวตายสำเร็จ โดยเฉลี่ยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ในทุก 40 วินาที สำหรับประเทศไทย อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 - 2563 สูงขึ้นทุกปีโดยตัวเลขล่าสุด ประเทศไทยมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,800 คนต่อปี 

"โรคซึมเศร้า" หายได้ มีความเสี่ยงต้องรีบพบแพทย์!

กรมสุขภาพจิตให้ประเมิน 9 ข้อ "โรคซึมเศร้า"

องค์การอนามัยโลกยังประมาณว่าเมื่อมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบุคคลใกล้ชิด หรือคนในครอบครัวอย่างน้อย 6 คน 
จิตแพทย์พบว่าผู้ที่มีความคิดหรือวางแผนฆ่าตัวตาย มักจะมีความลังเล ทุกคนมีความคิดอยากมีชีวิตอยู่ แต่โดยประสบการณ์ เรื่องราว หรือการเจ็บป่วยเรื้อรัง มักทำให้ผู้ป่วยทนทุกข์ทรมาน นำไปสู่ความรู้สึกหมดหวังและไม่เหลือใคร ผู้ป่วยอาจจะประสบปัญหา หรือเหตุการณ์ที่ไม่มีทางออก บางรายมีความรู้สึกผิด ตำหนิตัวเอง ทำให้บุคคลอื่นทุกข์ใจและเดือดร้อน บางรายอาจมีการกล่าวลา เอ่ยขอโทษ หรือแม้แต่การโพสต์ข้อความเป็นนัย ๆ ทางโซเชียลมีเดีย ท่าทีหรือคำพูดเล่านี้เป็นสิ่งที่คนรอบข้างควรสังเกตและใส่ใจ อย่ามองว่าการแสดงความรู้สึกลักษณะนี้ เป็นความอ่อนแอหรือเห็นแก่ตัว คนรอบข้างไม่ควรด่วนสรุปว่าคนที่พยายามฆ่าตัวตายเป็นการเรียกร้องความสนใจ ทั้งไม่ควรเชื่อมั่นว่าคนที่พยายามฆ่าตัวตายหลายครั้งมักไม่ทำจริง หากพบสัญญาณบางอย่างที่ชวนสงสัยว่าคนที่เรารัก มีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย เราควรตระหนักว่าอาจเป็นผู้ที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ทัน โดยถือว่าพฤติกรรมและคำพูดเหล่านั้นเป็นการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ 


ถ้ารู้สึกว่าคนใกล้ตัวคิดจะฆ่าตัวตาย ให้ถามตรง ๆ ว่า คิดจะฆ่าตัวตายหรือไม่ การบ่ายเบี่ยงพูดเฉไฉไปเรื่องอื่น พูดจาตลกกลบเกลื่อน หรือแม้แต่การตำหนิต่อว่า เช่น อย่าไปคิดอย่างนั้น คิดถึงลูกบ้าง เขาจะอยู่ยังไง มักไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ควรเป็นการถามที่แสดงความเป็นห่วง บอกความรู้สึกของผู้ถาม เช่น พี่รู้สึกตกใจมาก เกิดอะไรขึ้นเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม หรือ ตอนนี้อยู่กับใคร พี่จะช่วยอะไรได้บ้าง ผู้ที่คิดฆ่าตัวตายมักรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจ ถูกตำหนิว่าสิ้นคิด อ่อนแอ หรือหนีปัญหา การย้ำให้ผู้ป่วยรับรู้ว่า เราต้องการช่วยเหลือ แบ่งเบาด้วยท่าทีที่รับฟังอย่างใส่ใจ จะทำให้ผู้ป่วยมีหวังและกำลังใจที่จะเผชิญกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น แม้เราเองจะไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยกับความคิดของผู้ป่วย แต่การย้ำให้ผู้ป่วยได้รับรู้ในความรัก ความปรารถนาดี ความเป็นห่วง และพร้อมที่จะช่วยเหลือเคียงข้างกัน แม้ในวันที่เรายังมองไม่เห็นทางออก จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับรู้ว่าไขาไม่ได้โดดเดี่ยวหรือไม่รู้สึกว่าเขาไม่เหลือใคร แม้จะมีโอกาสผู้คุยหรือปรับความเข้าใจให้กำลังใจผู้ป่วย และนำไปสู่การให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทำร้ายตัวเอง ก็อย่าปล่อยให้บรรยากาศดี ๆ นั้น ทำให้เราประเมินสถานการณ์ผิดไป 
ความคิดฆ่าตัวตายเป็นอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า แม้ผู้ป่วยจะพยายามอย่างมากที่จะไม่คิด หรือพยายามหาเหตุผลนานามาคัดค้าน บางครั้งก็ไม่สามารถหยุดความคิดนี้ได้ 


ครอบครัวต้องประเมินความเสี่ยงรุนแรงไว้เสมอ อาจขอให้มีคนอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา เก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเป็นอาวุธ หากผู้ป่วยมีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ความคิดหุนหันพลันแล่น เช่น ดื่มสุรา ใช้สารเสพติด ยานอนหลับ เป็นต้น ญาติจำเป็นต้องเจรจาขอร้องให้หยุดพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว ด้วยอิทธิพลแอลกอฮอล์ สารเสพติด อาจทำให้ผู้ป่วยขาดความยับยั้งชั่งใจได้


ผู้ป่วยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมักเจ็บป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามาก่อนเป็นระยะเวลานาน โดยผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัว ไม่เคยได้รับการวินัจฉัย และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี อย่ามองข้ามอาการเจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางรายมีอาการเจ็บออด ๆ แอด ๆ เรื้อรังรักษามานานก็ไม่พบสาเหตุ บางรายมีพฤติกรรมปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลสุขภาพ เช่น ไม่คุมน้ำตาล ทั้ง ๆ ที่เป็นเบาหวาน หรือสูบบุหรี่อย่างหนักทั้งที่เป็นโรคมะเร็งปอด บางครั้งพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพถือว่าเป็นสัญญาณการทำร้ายตัวเอง เพราะคนไข้หมดหวังและอยู่อย่างปราศจากความสุข การช่วยเหลือที่สำคัญคือการปรึกษาจิตแพทย์ การประเมินเบื้องต้นด้วยบรรยากาศสบาย ๆ กับทีมสุขภาพจิต อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การหายป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับสู่การดำเนินชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าและมีความสุข อย่ารอให้การทำร้ายตัวเองมาพรากคนที่เรารักไป จากข้อมูลที่กล่าวมาคงจะเห็นแล้วว่าผู้ป่วยที่คิดอยากฆ่าตัวตายนั้น ไม่ได้คิดสั้นแต่อย่างไร และเราทุกคนสามารถช่วยได้ด้วยการสนับสนุน และย้ำเตือนผู้ป่วยว่ายังมีเราที่คอยห่วงใยอยู่เคียงข้าง และการไปพบจิตแพทย์นั้นไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด

TOP สุขภาพ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ