การบินไทยเตรียมกู้เงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ใช้ฟื้นฟูกิจการในปี 2565


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การบินไทย รายงานความคืบหน้าฟื้นฟูกิจการ คาดต้องกู้เงิน 2.5 หมื่นล้านบาทในปีนี้ ลดเครื่องบินเหลือ 58 ลำ พนักงานเหลือ 15,200 คน

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI  รายงานคืบหน้าการแก้ไขปัญหาตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการกู้เงินในปีนี้อีก 25,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการฟื้นฟูกิจการ โดยจะยื่นแผนการแก้ไขแผนฟื้นฟูต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในเดือนมี.ค.นี้

ในปี 2564 บริษัทฯ มีผลการดําเนินงานกำไรสุทธิ 58,275 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุน 147,168 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 26.70 บาท เปรียบเทียบกับปีก่อนขาดทุนต่อหุ้น 67.42 บาท โดยมีรายได้มาจากการปรับโครงสร้างหนี้เป็นหลัก

ไฟเขียว "แผนฟื้นฟูการบินไทย" พร้อมคณะ 5 ผู้บริหาร

“วิษณุ” รายงาน ครม. คืบหน้าการบินไทย เร่งเจรจาเจ้าหนี้ ป้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการ

“การบินไทย” จ่อกู้เพิ่ม 2.5 หมื่นล้านบาท หลังยังไร้ความชัดเจนเงินช่วยจากภาครัฐ

งบการเงินเฉพาะบริษัทการบินไทย

ครม.รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย จำกัด  (มหาชน) ซึ่งได้การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ดังนี้
 
1. ปรับฝูงบิน โดยลดจำนวนเครื่องบินเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่คุ้มทุนจากจำนวน 116 ลำ เหลือจำนวน 58 ลำ
 
2. ปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท โดยปรับลดค่าใช้จ่ายบุคลากรจำนวน 23,100 ล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2562 รวมทั้งปรับกระบวนการทำงาน ปรับลดค่าเช่า/เช่าซื้ออากาศยาน ลดแบบเครื่องบินจาก 8 ประเภท เหลือ 4 ประเภท และการปรับปรุงข้อบังคับการทำงาน
 
3. ปรับโครงสร้างและลดขนาดองค์กร โดยลดขนาดองค์กรตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงระดับพนักงานเหลือ 15,200 คน จากเดิมในปี 2562 มีพนักงาน 29,500 คน ทำให้ค่าใช้จ่ายในเดือนสิงหาคม 2564 มีเหลือเพียง 750 ล้านบาท จากเดิมที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 2,675 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับลดจำนวนพนักงานเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย
 
4. การดำเนินโครงการริเริ่มปฏิรูปธุรกิจ โดยเฉพาะโครงการลดค่าใช้จ่ายและโครงการเพิ่มรายได้ ซึ่งภายในปี 2565 บริษัท การบินไทย จำกัด ได้กำหนดเป้าหมายลดค่าใช้จ่ายจำนวน 53,000 ล้านบาทต่อปี
 
5. การหารายได้จากช่องทางอื่น โดยการขนส่งและจำหน่ายสินค้าและอาหารอื่นที่นอกเหนือจากการจำหน่ายอาหารบนอากาศยาน
 
6. วางแผนเครือข่ายเส้นทางบินสู่เมืองสำคัญในแต่ละภูมิภาค โดยอาศัยความร่วมมือกับสายการบินพันธมิตรเชื่อมต่อเที่ยวบินและเมืองรองในภูมิภาคนั้น ๆ รวมถึงทวีปอเมริกา เพื่อขยายโอกาสในการหารายได้ ทั้งนี้ ในอนาคตหากสถานการณ์โรคโควิด19 ดีขึ้น อาจมีการปรับแผนการบินให้สอดคล้องและเหมาะสมต่อไป
 
7. การจำหน่ายทรัพย์สินรองที่ดำเนินการเสร็จแล้ว ได้แก่ การขายหุ้นบริษัทย่อย ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ และที่ดินและอาคารในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ต และสำนักงานหลานหลวง ส่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการขาย คือ อสังหาริมทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศและอากาศยานที่บริษัทไม่ประสงค์จะใช้งาน
 
8. เร่งจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบของสินเชื่อใหม่ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อนำมาใช้ในการรักษาสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2564-2565
 
9. ปรับโครงสร้างหนี้ตามกรอบแผนฟื้นฟูกิจการ โดยบริษัท การบินไทย จำกัด ได้ขยายเวลาการชำระหนี้ การพักชำระหนี้และดอกเบี้ย การปรับลดหนี้ในส่วนภาระดอกเบี้ย การเจรจาปรับลดภาระผูกพันตามสัญญา และการเพิ่มทางเลือกในการชำระหนี้เช่น การใช้บัตรกำนัลแทนเงินสด


 
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เร่งจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบของสินเชื่อใหม่วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท จากสถาบันการเงิน จากเดิมที่ประมาณการวงเงินสินเชื่อไว้ 50,000 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็นเงินทุนสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการในปี 2565

คาดว่าจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ภายในเดือน มี.ค. 2565 นี้ รวมถึงจัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปรับปรุงสาระสำคัญเรื่องโครงสร้างสินเชื่อใหม่ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุนซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น โดยบริษัทจะยื่นการแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามขั้นตอนของกฎหมายภายในเดือน มี.ค.นี้ เช่นเดียวกัน 

TOP หุ้น การลงทุน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ