เผยเทคนิครู้เท่าทันภัยคุกคาม “การเงินโลกดิจิทัล” ในยุคคริปโทฯบูม!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การพัฒนาของโลกดิจิทัลได้เปลี่ยนวิถีชีวิตคนยุคใหม่ทั่วโลก สร้างความร่ำรวยจากการลงทุนสกุลเงินที่จับต้องไม่ได้ ซื้อของด้วยการใช้ปลายนิ้วสัมผัส ทำงานจากบ้าน และเข้าแอปพลิเคชันใหม่ ๆ แต่ในภาพโลกดิจิทัลที่สะดวกรวดเร็วและทันสมัยนี้ มีมุมมืดที่อาชญากรไซเบอร์กำลังพัฒนาศักยภาพตนเองในโลกออนไลน์เช่น ด้วยกลโกงรูปแบบใหม่ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชากรโลกดิจิทัลอย่างมหาศาล

เตือนคริปโทเสี่ยงต่อสเถียรภาพทางการเงิน แนะเร่งออกมาตรการควบคุม

ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มโอนคริปโท หนุนใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศ

ในงานเสวนา “การเงินในโลกดิจิทัลที่เป็นธรรม” (Fair Digital Finance) เพื่อให้ผู้บริโภคตระหนักถึงภัยใกล้ตัวที่อาจทำความเสียหายถึงขั้นล้มละลายหรือกลายเป็นหนี้สินในชั่วพริบตา ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ปัจจุบันสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนี้คือ สกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสินทรัพย์ดิจิทัล โดยคริปโตเคอเรนซีที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือ บิทคอยน์ 

ที่ถูกสร้างขึ้นโดยเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่าบล็อกเชน หรือเทคโนโลยีตัวช่วยด้านความปลอดภัย (Security) และความน่าเชื่อถือ (Trust) ในการทำธุรกรรมการเงิน โดยไม่ต้องอาศัยคนกลาง

โดยปกติเงินที่ถูกต้องตามหลักเศรษฐศาสตร์ต้องมีหน้าที่ 3 ประการ คือ 1. สามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในตลาด 2. ใช้เป็นมาตรวัดด้านราคาได้ และ 3. สามารถเก็บมูลค่าได้ แต่เมื่อพิจารณาถึงบิทคอยน์จะพบว่า ไม่สามารถเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ดี มีศักยภาพการชำระเงินค่อนข้างช้า มีต้นทุนและความผันผวนสูง มูลค่าเปลี่ยนไป ตลอดแบบวันต่อวัน มีความผันผวนมากกว่าหุ้นของบริษัทชั้นนำกว่า 10 เท่า ทั้งยังหาปัจจัยที่ส่งผลได้ยาก ทำให้บิทคอยน์ไม่สามารถใช้แทนเงินได้อย่างเต็มรูปแบบ และถือเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงประเภทหนึ่ง

ดังนั้นการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้ ผู้บริโภคจึงควรใช้ความระมัดระวัง เพราะเป็นฟองสบู่ที่มีราคาเพิ่มจากการเก็งกำไร เปรียบเสมือนแชร์ลูกโซ่ที่เมื่อมีผู้ลงทุนรายใหม่เข้าเล่นทำให้ราคาวิ่งขึ้นจนถึงจุดหนึ่งก็จะแตกเหมือนฟองสบู่ และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวจำนวนมาก

“หากเปรียบเทียบกับการลงทุนรูปแบบอื่นเช่นการซื้อบ้าน หรือทองคำ ที่เป็นการผสมผสานระหว่างส่วนเก็งกำไรและการเพิ่มมูลค่า การซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานดีก็จะได้รับเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 2 การลงทุน จึงไม่ใช่การเก็งกำไรเพียงอย่างเดียว ในขณะที่บิทคอยน์จะชัดเจนแค่ด้านเก็งกำไรแต่ขาดความชัดเจนด้านมูลค่าพื้นฐาน ดังนั้นราคาที่เพิ่มสูงขึ้นจึงไม่สามารถอธิบายได้ด้วยปัจจัยพื้นฐานตามหลักเศรษฐศาสตร์จึงถือว่าเป็นภาวะฟองสบู่ และการที่ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่าบิทคอยน์กำลังดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มมากกว่าเม็ดเงินที่ไหลออก ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับแชร์ลูกโซ่” ดร.สมเกียรติ กล่าว

 

ด้านนายสุกฤษฏิ์ พุทธวิริยะ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ระบุว่า สกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซี ไม่ได้มีเฉพาะแง่ลบ หากผู้ลงทุนมีความเข้าใจพื้นฐานที่ดี ปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลง การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมีเพิ่มมากขึ้นในทุกด้านโดยเฉพาะด้านธุรกรรมทางการเงินรูปแบบออนไลน์ ทำให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินเริ่มเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจและบริการให้เป็นระบบดิจิทัลมากขึ้น และคริปโตเคอร์เรนซีก็ถือเป็นหนึ่งนวัตกรรมยุคใหม่ที่เกิดขึ้น เพื่อรองรับกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยมีระบบบล็อกเชนเข้ามาทำหน้าที่แทนธนาคาร แค่มีอินเตอร์เนตก็สามารถทำธุรกรรมได้ทั่วโลก ทั้งยังมีความโปร่งใสที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการเงินซึ่งอยู่ในบล็อกเชนทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีจุดอ่อนที่ยังไม่สามารถควบคุมได้บางส่วนซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบัน

 “การลงทุนด้านคริปโตเคอร์เรนซีถือเป็นเรื่องใหม่ของนักลงทุนไทย หลายรายลงทุนโดยไม่มีความรู้พื้นฐานที่มากพอทำให้เกิดความเสี่ยงสูงซึ่งถือเป็นข้อควรระวังอย่างมาก นอกจากนี้การใช้แพลตฟอร์มก็ถือเป็นเรื่องใหม่ที่มีความยุ่งยาก เช่น เวลาการโอนเหรียญที่โอนผิดเน็ตเวิร์คหรือโอนผิดกระเป๋าจะทำให้เงินในส่วนที่โอนผิดพลาดนั้นสูญหายไปทันที ซึ่งอยากฝากนักลงทุนให้ศึกษาวิธีการต่างๆ ให้ดีก่อนเริ่มลงทุน นายสุกฤษฏิ์ กล่าว

 

ดร.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้กล่าวถึงภัยคุกคามจากการลงทุนทางออนไลน์ว่า  ด้วยความรวดเร็วด้านธุรกรรมการลงทุนออนไลน์ทำให้เกิดโอกาสผิดพลาดสูง และเป็นช่องทางให้อาชญากรไซเบอร์ใช้หลอกลวงผู้บริโภค  จึงอยากให้ผู้บริโภคมีความพร้อมและตื่นตัวในการรับมือ เพราะจะต้องเจอกับรูปแบบกลโกงที่เกิดขึ้นใหม่ โดยมักจะใช้ผลประโยชน์เป็นตัวล่อและมีทีมจัดตั้งที่คอยหลอกให้หลงเชื่อทำให้เสียทรัพย์ในที่สุด ปัจจุบันสามารถแจ้งความได้ผ่าน thaipoliceonline.com ภายใต้การดำเนินงานของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)

 

น.ส. สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า เงินคริปโตเคอร์เรนซี แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ สกุลเงินที่ต้องการสร้างบทบาทให้เหมือนเงิน สกุลเงินเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย และสกุลเงินในแบบกระจายศูนย์แบบไม่มีผู้ควบคุม ซึ่งทุกประเภทล้วนมีความเสี่ยง จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า กว่า 50% ของการเปิดการระดมทุนแบบดิจิทัลด้วยการเสนอขาย ดิจิทัลโทเคน (Digital token) ผ่านระบบบล็อกเชนต่อสาธารณชนจะล้มเหลวภายใน 4 เดือน พิสูจน์ได้ยากว่าตั้งใจหลอก หรือดำเนินธุรกิจผิดพลาดไป

ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่ามีอัตราเสี่ยงที่สูงมาก ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรจะได้รับข้อมูลเพื่อสร้างความมั่นใจก่อนการลงทุน เช่น มูลค่าเพิ่มที่จะเกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นโดยวิธีใด จึงอยากเรียกร้องให้สร้างกระบวนการและมาตรฐานในเรื่องนี้ให้ชัดเจน รวมถึงการคุ้มครองเมื่อผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนแล้ว เพราะหากไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ระบุไว้ผู้ลงทุนจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้เงินคืน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่นักลงทุนต้องการแม้จะทำได้ไม่ง่ายนักก็ตาม ทั้งยังมีข้อแตกต่างในการกำกับดูแลในแต่ละประเทศ

  

 

TOP หุ้น การลงทุน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ