“หนี้สิน-เงินเฟ้อ” ป่วนเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง เหมือนมีภาวะ “ลองโควิด”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน จากเวทีพีพีทีวีสัญจร “เจาะลึกหาคำตอบ การลงทุนครึ่งปีหลัง อะไรรุ่ง อะไรร่วง” ชี้ เศรษฐกิจไทยเหมือนอยู่ในภาวะ “ลองโควิด”

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส บริษัทโบรกเกอร์ซื้อขายหลักทรัพย์ กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในครึ่งปีหลังว่า ประเมินว่า ประเทศไทยขณะนี้อยู่ในช่วงฟื้นตัวแล้ว แต่ยังฟื้นตัวไม่ได้เต็มที่จากปัจจัยหลายอย่าง

“ช่วงโควิด-19 ก่อนหน้านี้มันเหมือนเราเดินลงบันไดไป ตอนนี้เรากำลังเดินกลับขึ้นมาแล้ว แต่ถามว่าจะเดินกลับมาถึงชั้นเดิมที่เราเคยอยู่ได้มั้ย ก็ต้องบอกว่า ยังไม่ถึง กว่าจะกลับมาถึงระดับเดิมได้อาจต้องใช้เวลาจนถึงปี 2566” นายเทิดศักดิ์กล่าว

4 เหตุผลที่ทำให้กนง.ขึ้นดอกเบี้ย คาดในไตรมาส 3 ขยับเป็น 0.75%

ราคาน้ำมันโลกขยับขึ้นไม่หยุด สวนทางสต๊อกน้ำมันสหรัฐเพิ่ม

ประเทศที่มี “ภาระหนี้สาธารณะ” พุ่งสูงติดอันดับโลก

เขาเสริมว่า การเดินกลับขึ้นบันไดของไทยนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีอุปสรรคค้างคา เป็นเหมือน “อาการลองโควิดของระบบเศรษฐกิจไทย” ที่ทำให้เหนื่อยง่ายเมื่อต้อการเดินขึ้นบันได และซากเชื้อที่ทำให้เกิดลองโควิดในระบบเศรษฐกิจไทยคือ “หนี้”

หนี้แรกในภาพใหญ่คือ “หนี้สาธารณะ” ก่อนโควิด-19 หนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 40-42% แต่เมื่อมาถึงตอนนี้ หนี้สาธารณะพุ่งขึ้นมาที่ราว 60%

“จริงอยู่ที่เราขยายเพดานหนี้ขึ้นเป็น 70% แต่ถามว่า 20% ที่เพิ่มมา ก่อให้เกิดศักยภาพหรือแรงเหวี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาขึ้นเยอะมั้ย ก็ต้องบอกว่า ไม่มี เพราะเราใช้หนี้ส่วนนี้เพื่อการเยียวยา วัคซีน ซึ่งก็จำเป็น แต่การนำมาใช้แบบนี้มันไม่ได้เพิ่มศักยภาพการเติบโตไปข้างหน้าของประเทศ” นายเทิดศักดิ์กล่าว

ส่วนลองโควิดที่สองก็คือ “หนี้ครัวเรือน” ที่ตอนนี้พุ่งแตะระดับ 90% ต่อ GDP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือว่าอันตราย

นายเทิดศักดิ์ถามว่า ระหว่างตอนที่มีหนี้เยอะ กับตอนที่ปลอดหนี้หรือมีหนี้น้อย ภาวะไหนที่คนจะมีความสามารถและความยินดีในการจับจ่ายใช้สอยมากกว่ากัน?

“ก็ต้องเป็นภาวะปลอดหนี้ แต่ตอนนี้หนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ต่อ GDP เท่ากับว่า จากสิ่งที่เราทำมาหากินได้ในปีนั้น ๆ เป็นหนี้ไปแล้ว 90% ดังนั้นอารมณ์การจับจ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่ครึกครื้น แล้วถ้าดูโครงสร้าง GDP ประเทศไทย พบว่าเกินครั้งมาจากการบริโภคภาคครัวเรือน” รองกรรมการฯ บอก

ดังนั้นสถานการณ์ในตอนนี้คือ แม้ภาครัฐจะพยายามผลักดันเศรษฐกิจหรือกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนก็เป็นไปได้ยาก เพราะหนี้สาธารณะก็ทำให้รัฐบาลเหนื่อย หนี้ครัวเรือนก็ทำให้ประชาชนเหนื่อย

ประเทศไทยขณะนี้และทิศทางในครึ่งปีหลัง คือคนที่เป็นลองโควิดและมีอากาศในการหายใจน้อย ทำให้การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจขึ้นมาในแต่ละก้าวเป็นเรื่องที่เหนื่อยยาก

“แต่ละก้าวมันเหนื่อย เราจะเดินได้ช้ามาก กว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปเป็นแบบปี 2562 หรือก่อนโควิด-19 ระบาด อาจกินเวลาไปถึงปี 2566 เลยทีเดียว” นายเทิดศักดิ์กล่าว

อีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้ประเทศไทยเหมือนตกอยู่ในภาวะลองโควิด คือเรื่องของ “เงินเฟ้อ”

ปัญหาเงินเฟ้อมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศไทย แต่ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งสถานการณ์เงินเฟ้อล่าสุดของไทยเดือน พ.ค. อยู่ที่ 7.1% และจากการดูดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ย้อนหลังในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า เดือน พ.ค. ปีที่แล้ว CPI อยู่ที่ 99.6 และจะอยู่ระดับ 99 ไปอย่างนี้จนถึงเดือน ส.ค.

“แปลว่า ถ้าราคาสินค้าไม่ขึ้นเลย CPI เดือน มิ.ย. 65 จะเท่าเดิม ซึ่งขนาดเป็นอย่างนี้เงินเฟ้อยัง 7% แต่ตอนนี้มีการขยับราคาขึ้นของสินค้าหลากหลายชนิด ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่ CPI เดือน มิ.ย. จะไม่ขึ้น ดังนั้นเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 7% ขึ้นไปต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือนข้างหน้า และอาจสูงขึ้นกว่า 7.1% ด้วย” นายเทิดศักดิ์กล่าว

ด้าน นายมณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ หนึ่งในบริษัทธุรกิจการจัดการลงทุน อธิบายสภาวะเงินเฟ้อโดยง่ายว่า เมื่อก่อนเรามีเงิน 100 บาท เคยซื้อของได้ 2 ชิ้น เดี๋ยวนี้เงิน 100 บาทเท่าเดิม อาจซื้อของได้แค่ 1.5 ชิ้น

นอกจากนี้ ต้นทุนเงินในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ขึ้นแท็กซี่ ตัดผม อาจไม่ใช่ราคาเดิม สินค้าบริการต่าง ๆ จะมีราคาแพงขึ้น “ต้นทุนชีวิต การดำรงชีวิตมันจะแพงขึ้น

ซึ่งนอกจากผลกระทบต่อปากท้องคนทำมาหากินแล้ว ยังมีผลต่อบรรดานักลงทุนด้วย นายมณฑลบอกว่า “ด้วยภาวะเงินเฟ้อ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ก็จะไม่ดีตามไปด้วย ดังนั้น ในมุมการลงทุนเหมือนมีความเสี่ยงมากขึ้น เมื่อก่อนเงิน 1 บาทเคยลงทุนได้ผลตอบแทน 1.1 แต่ตอนนี้เงิน 1 บาทหยอดลงไปไม่แน่ใจว่าจะได้ 0.9 บาท หรือ 1.1 บาท”

ด้วยเหตุนี้ ภาวะลองโควิดที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญซึ่งเกิดจากหนี้สินและเงินเฟ้อในขณะนี้ จึงส่งผลกระทบต่อคนไทยกันอย่างถ้วนหน้า

สำหรับนักลงทุนที่อาจเกิดข้อสงสัยว่า หุ้น ตราสารหนี้-พันธบัตร ทองคำ และคริปโทเคอร์เรนซี ควรจะจัดสรรการลงทุนอย่างไร นิวมีเดีย พีพีทีวี จะขอยกยอดมาแจกแจงอ่างละเอียดในสัปดาห์หน้า

TOP หุ้น การลงทุน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ