คาดสัปดาห์หน้า "บาทอ่อน-หุ้นลง" เงินไหลออกจากเฟดขึ้นดอกเบี้ย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




แนวโน้ม "ค่าเงินบาท" อ่อนในสัปดาห์หน้า จากเงินไหลออก ขณะที่ "ตลาดหุ้น" ซึมลง จับตานักลงต่างชาติขายต่อเนื่อง ได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกถดถอย

เงินบาทร่วงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 5 ปีครึ่งที่ 35.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกันท่ามกลางแรงกดดันด้านอ่อนค่าจากการคาดการณ์ว่า แม้วัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยใกล้จะเริ่มขึ้น แต่จังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยก็จะยังคงตามหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อยู่พอสมควร

นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และน่าจะมีแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ที่มาจากฝั่งผู้นำเข้าในช่วงใกล้สิ้นไตรมาสด้วยเช่นกัน

เฟด เดินหน้าเต็มสูบ มุ่งสกัดเงินเฟ้อ แม้เสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย

ราคาทองวันนี้ (เสาร์ที่ 25 มิ.ย.) ไม่ขยับ "ต่างประเทศขึ้น แต่บาทแข็ง"

 

เงินบาทอ่อนค่าลงเกือบตลอดสัปดาห์ แม้เงินดอลลาร์ฯ จะเผชิญแรงขายจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังประธานเฟดยืนยันต่อสภาคองเกรสว่า เฟดมุ่งมั่นที่จะจัดการกับปัญหาเงินเฟ้ออย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ กลับเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% แต่ก็ยอมรับว่า การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะถดถอย

ในวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.23 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (17 มิ.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 20-24 มิ.ย. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 11,011 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 11,271 ล้านบาท (เป็นการ หมดอายุของตราสารหนี้ 7,979 ล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตร 3,292 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (27 มิ.ย.-1 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 35.25-35.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณไหลออกของเงินทุนต่างชาติ และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนพ.ค.ของไทย 

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตเดือนมิ.ย. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนพ.ค. ดัชนีราคาบ้านเดือนเม.ย. รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อจาก PCE/Core PCE Price Index เดือนพ.ค. จีดีพีไตรมาส 1/65 และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. อัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของยูโรโซน และดัชนี PMI เดือนมิ.ย. ของจีนด้วยเช่นกัน

ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนแต่ฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากมาตรการบรรเทาความเดือนร้อนและมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวจากรัฐบาล ก่อนจะร่วงลงแรงในเวลาต่อมาตามตลาดหุ้นต่างประเทศท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ ส่วนหุ้นกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นได้ในสัปดาห์นี้ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และเทคโนโลยี

ในวันศุกร์ (24 มิ.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,568.76 จุด เพิ่มขึ้น 0.60% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 61,946.17 ล้านบาท ลดลง 23.45% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.65% มาปิดที่ 606.52 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (27 มิ.ย.-1 ก.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,550 และ 1,540 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,585 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ประเด็นรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงการทำ Window Dressing ช่วงสิ้นไตรมาส

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนพ.ค. ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมิ.ย. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/65 (final)  ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค. ของจีน ดัชนี PMI เดือนมิ.ย. ของจีน ญี่ปุ่น และยูโรโซน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP หุ้น การลงทุน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ