“ดร.กอบศักดิ์” กางไทม์ไลน์ วิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก คาดลากยาว 3 ปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




‘ดร.กอบศักดิ์’ ชี้โลกเข้าสู่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ กางไทม์ไลน์ 4 ช่วง คาดลากยาว 3 ปี ก่อนกลับสู่ภาวะปกติในปี 2025 ท่ามกลางเฟดพยายามขึ้นดอกเบี้ย เพื่อต่อสู้เงินเฟ้อ แม้เศรษฐกิจจะถดถอยก็ตาม พร้อมจับข้อมูลเศรษฐกิจไทยล่าสุด ว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตมากน้อยแค่ไหน

ทั่วโลกผวา "ภาวะถดถอย" ตลาดหุ้นหนีตาย ไทยจับตาขึ้นดอกเบี้ยคาด 0.25%

ค่าเงินบาทเช้านี้ "แทบไม่ขยับ"จากวันศุกร์ จับตาวิกฤติค่าเงินเอเชีย

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประเทศ  เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่า นานๆ เศรษฐกิจจะเกิดวิกฤตที่สำคัญ ในช่วงที่ผ่านมาคงเป็น The Great Depression 1929-1939, Oil Price Shocks 1970s และ Global Financial Crisis 2008  การได้อยู่ร่วมสมัยกับวิกฤต สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ ต้องถือว่าเป็นโชคดีของชีวิต เพราะวิกฤตเป็นสิ่งที่อาจารย์ไม่ค่อยสอนในโรงเรียน  แต่ต้องเรียนรู้เองจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้น วิกฤตรอบนี้คงใช้เวลาประมาณ 3 ปี นับแต่ต้นปี 2022 ซึ่งถ้านับจากจุดนั้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็จะเป็นสัปดาห์ที่ 38 จาก 156 ผ่านมาได้ประมาณ 1 ใน 4 ของระยะทางทั้งหมด ที่จะประกอบด้วย 4 ช่วง คือ

• ช่วงที่ 1 (6 เดือนแรกของ 2022) นักลงทุนเร่งออกจากตลาด ซึ่งช่วงนี้ได้ผ่านไปมากแล้ว ส่งผลให้เกิด Investment Storm หรือมรสุมการลงทุน ในตลาดการเงินโลกในช่วงที่ผ่านมา โดยผู้ที่เก็งกำไรในช่วงตลาดกระทิงระหว่างโควิด-19 พยายามหนีตายออกจากตลาด หลังชัดเจนว่า Party is over (งานเลี้ยงเลิกรา)

• ช่วงที่ 2 (ต้นปี 2022-ปลายปี 2023)  ธนาคากลางสหรัฐอเมริกา หรือ เฟด (Fed) พยายามเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้ศึกเงินเฟ้อ และเงินเฟ้อเริ่มถึงขีดสุด และลงมาบางส่วน ซึ่งช่วงที่สองนี้ได้เริ่มมาแล้วประมาณ 6 เดือน คงเหลือเวลาในช่วงนี้อีกประมาณ 1 ปี ระหว่างที่เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ไปสู่ระดับที่น่าจะสูงพอกับการจัดการเงินเฟ้อ โดยอย่างน้อยก็ต้อง 5% ขึ้นไป และคงไว้ระดับนั้นระยะหนึ่ง โดยในช่วงเวลานี้ เงินเฟ้อก็จะเริ่มลดลงมาบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงอยู่

 

คอนเทนต์แนะนำ
LINE MAN Wongnai ปิดดีลระดมทุนรอบซีรีส์บี 9.7 พันล้านบาท เสริมแกร่งธุรกิจส่งอาหาร
สายการบินที่ดีที่สุดในโลกปี 2022 จากความเห็นลูกค้า 14 ล้านคน

 

• ช่วงที่ 3 (กลางปี 2023-ปลายปี 2024) จากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ 2 โลกจะเข้าสู่ภาวะ Global Recessions (ภาวะถดถอยทั่วโลก) ที่ชัดเจนในปี 2023 โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องเผชิญหน้ากับเศรษฐกิจถดถอย คนที่ตกงานเพิ่มขึ้น สุดท้ายเงินเฟ้อก็จะลดลงมาใกล้เป้าหมาย 2% ขณะเดียวกันอีกข้างหนึ่ง ปัญหาใน Emerging Markets (ตลาดเกิดใหม่) ก็จะสุกงอมมากขึ้น ทำให้เกิดวิกฤตใน Emerging Markets

• ช่วงที่ 4 (กลางปี 2024 เป็นต้นไป) เฟด ก็จะเริ่มที่จะลดดอกเบี้ยลงมา หลังมั่นใจว่าเอาเงินเฟ้ออยู่แล้ว และเข้าสู่ช่วงของการกระตุ้นเพื่อฟื้นเศรษฐกิจรอบใหม่ และวิกฤต Emerging Market  ก็จะค่อย ๆ สงบลงในปี 2025 โลกก็จะเข้าสู่ช่วงใหม่ของการเจริญเติบโต

โดยในระหว่าง 3 ช่วงแรก จะมีปัญหาเกิดขึ้น 3 ระลอก ใน 3 จุด  ตลาดการเงิน เศรษฐกิจจริง และตลาดเกิดใหม่ ส่วนในช่วงสุดท้าย ระหว่างการกลับคืนสู่ปกติ ก็จะมีความผันผวนในตลาดการเงินอีกแบบ จากดอกเบี้ยที่ลดลง และค่าเงินที่กลับสู่ปกติอีกครั้ง  

อย่างไรก็ตาม เส้นทาง 4 ช่วงนี้ เป็นมุมที่มองจากกลไกด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ได้แต่หวังว่า Geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์) ระหว่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน จะไม่ลุกลามบานปลาย จนทำให้เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤตกระทบกับเส้นเวลาข้างต้น และนำไปสู่เส้นทางใหม่ที่ยาวไกลกว่าเดิม

 

สำหรับบันทึก Perfect Storm สัปดาห์ที่ 38 ที่เพิ่งผ่านมานั้น คงต้องบอกว่าวิกฤตได้เริ่มเข้าสู่ช่วงใหม่เต็มรูปแบบ เพราะชัดเจนว่า

1. การประชุมเฟดในกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ที่ทำให้ทุกคนเห็นชัดว่าเฟดเอาจริงจะจัดการเงินเฟ้อให้ได้ โดยความเสียหายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นเฟดยอมรับได้ แต่ต้องชนะศึกเงินเฟ้อเท่านั้น ทำให้คำถามของสังคมและผู้สื่อข่าวเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมถามกันมากว่า เฟดขึ้นดอกเบี้ยช้าไปหรือไม่, เฟดขึ้นน้อยไปหรือไม่ และเฟดจะเอาเงินเฟ้ออยู่หรือไม่

โดยตอนนี้คำถามเริ่มกลายเป็นว่า เฟดทำมากไปหรือไม่ (overdoing it) หรือ เกินกว่าเหตุหรือไม่ (gone too far), เฟดจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อรอดูผลบ้างหรือไม่, เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปถึงไหน เมื่อไหร่จะลดดอกเบี้ย, แล้วเฟดจะทำให้คนตกงานเท่าไหร่, เฟดเคยคิดถึงคนที่จะตกงานเหล่านี้ หรือไม่ ซึ่งเป็นหนังคนละม้วนกับช่วงก่อนหน้า

 

2. เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มเปลี่ยนจากคึกคัก “ร้อนแรง” มาสู่โหมด “ชะลอตัว” อย่างชัดเจน โดยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด กำลังเข้าสู่ Restrictive Zone (พื้นที่จำกัด) ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ

ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี เพิ่มมาที่ 4.2% จากที่เคยอยู่ที่ 0.25% เมื่อ 1 ปีที่แล้ว ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน 30 ปี เพิ่มมาที่ 6.29% จากที่เคยอยู่ที่ 3.0% ถ้าช่วงแรกนักลงทุนสะเทือนจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งช่วงนี้จะกลายเป็น ภาคการผลิต ภาคอสังหาริมทรัพย์ เศรษฐกิจจริง คนทั่วไปสะเทือนแทน

แม้กระทั่งราคาน้ำมันโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ  โดยราคาน้ำมันเวสต์เท็กซัส (WTI) ก็ลดลงต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาเรล เป็นครั้งแรกนับแต่ต้นปี เป็นต้นมา

 

3. นักลงทุนที่กลับเข้าตลาดหุ้นนับแต่กลางมิถุนายนที่ผ่านมา กำลังเผชิญปัญหารูปแบบใหม่ จากเดิมหุ้นตก เพราะคนแย่งกันออก  แต่ผลประกอบการที่ยังดี ทำให้หลายคนเข้าตลาดหุ้นอีกครั้ง  ซึ่งตอนนี้เมื่อเศรษฐกิจจริงเริ่มได้รับผลกระทบ และผลประกอบการบริษัทต่าง ๆ เริ่มไม่ได้ตามเป้าหมาย สำนักวิเคราะห์จึงปรับลดราคาเป้าหมายของหุ้นต่าง ๆ ลงมา ส่งผลให้นักลงทุนเร่งออกจากตลาดในรอบที่ 2  ล่าสุด ดัชนี Dow Jones ได้ลดลงต่ำกว่า 30,000 จุด ต่ำกว่าที่เคยลงไปในรอบแรกเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา และต่ำกว่าช่วงก่อนที่จะเกิดโควิดเรียบร้อย ทำให้ฟองสบู่ที่เกิดขึ้นช่วงโควิด-19 หายไปอีกฟอง ส่วนเป้าหมายถัดไป คงเป็น Nasdaq และ S&P

 

4. แนวรบด้านตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเริ่มเข้มข้นขึ้น ทุกคนเริ่มกล่าวถึงปัญหาใหม่ Strong Dollar (ดอลลาร์แข็ง) ล่าสุด ค่าเงินดอลลาร์ล่าสุดทะลุ 113 เรียบร้อย ทำให้ดอลลาร์กลายเป็นหนึ่งใน Best Performing Assets ปีนี้ (สินทรัพย์ที่ดีที่สุด) ซึ่งแข็งขึ้นประมาณ 20% ส่งผลให้เงินของหลายสกุลทำจุดต่ำสุดใหม่เรื่อย ๆ และทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ  ต้องชี้แจง เข้าแทรกแซง และเร่งขึ้นดอกเบี้ยตาม

ด้าน เงินเยน หนึ่งในสกุลเงินหลักของโลก จากที่เคยอยู่ประมาณ 115 เยนต่อดอลลาร์ ได้อ่อนทะลุ 146 เยนต่อดอลลาร์ กดดันให้ทางการญี่ปุ่นต้องเข้าแทรกแซง เป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี ซึ่งคงต้องบอกว่า ปัญหาดอลลาร์แข็งก็ยังไม่จบง่าย ซึ่งจะยังกดดันทุกประเทศไปอีกระยะ แม้วันต่อวัน หรือ ช่วงสั้นๆ จะเอาแน่ไม่ได้ ว่าจะอ่อนหรือแข็ง

แต่ในระยะยาว จากความแตกต่างของนโยบายของประเทศหลัก และส่วนต่างดอกเบี้ยที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ Carry Trades (แครี่เทรด) กำลังหวนกลับคืนมา ทำให้ได้เห็นสถิติค่าเงินใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งเป้าหมายถัดไปที่น่าจับตามอง ก็คือ เงินปอนด์ ที่อาจจะเห็น 1 ปอนด์ ต่อ 1 ดอลลาร์ได้

 

5. ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ก็เข้มข้นไม่แพ้กัน กับข่าวประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซีย สั่งบุกยูเครนต่อ และข่าวลือ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน จึงนับว่าเป็นสัปดาห์ที่มีสีสันอย่างยิ่ง ส่วนสัปดาห์นี้มาลุ้นกันต่อเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าจะขึ้นเท่าไหร่ และลุ้นข้อมูลเศรษฐกิจไทยล่าสุดว่า จะได้รับผลกระทบจากวิกฤตมากน้อยแค่ไหน

คอนเทนต์แนะนำ
ไทย ส่งออก ส.ค.โต 7.5% แต่ "ขาดดุล" จากนำเข้า 8 เดือน ทะลุ "5.83 แสนล้านบาท"
นกแอร์เพิ่มรูทบินไปย่างกุ้ง รับเมียนมาเปิดเที่ยวได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า

TOP หุ้น การลงทุน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ