อธิบดีผู้พิพากษาฯ เห็นแย้งคำพิพากษา ค้านลดโทษ 'บรรยิน' ควรประหารชีวิตสถานเดียว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้ทำความเห็นแย้งคำพิพากษาขององค์คณะผู้พิพากษาสำนวนคดี ที่องค์คณะพิพากษาประหารชีวิตแต่ลดโทษให้ 'บรรยิน ตั้งภากรณ์' และพวก

วันที่ 15 ธันวาคม  2563 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาคดีอุ้มฆ่านายวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ พี่ชายของ น.ส.พนิดา ศกุนตะประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลอาญากรุงเทพใต้ อดีตเจ้าของสำนวนโอนหุ้นเสี่ยชูวงษ์ หมายเลขดำ อท.69/2563 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 3 เป็นโจทก์ และ น.ส.พนิดา เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อายุ 56 ปี อดีต รมช.พาณิชย์, นายมานัส ทับทิม อายุ 67 ปี, นายณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์ อายุ 48 ปี, นายชาติชาย เมณฑ์กูล อายุ 31 ปี, นายประชาวิทย์ หรือตูน ศรีทองสุข อายุ 33 ปี และ ด.ต.ธงชัย หรือ สจ.อ๊อด วจีสัจจะ อายุ 63 ปี ทั้งหมดภูมิลำเนา จ.นครสวรรค์ เป็นจำเลยที่ 1-6

ด่วน! พิพากษาประหารชีวิต 'บรรยิน' อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา ให้การเป็นประโยชน์เหลือคุกตลอดชีวิต

เปิดประวัติ “บรรยิน” อดีตรมช.สู่ ผู้ต้องหาคดีอุ้มฆ่า

ในความผิด 9 ข้อหา ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 289, ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ เป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไปถึงแก่ความตาย มาตรา 309, 313, ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มาตรา 310, ฐานร่วมกันข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป มาตรา 139, 140, ฐานเป็นซ่องโจร โดยสมคบกันเพื่อกระทำผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิต มาตรา 210

ฐานร่วมกันพยายามข่มขืนใจผู้อื่น ให้กระทำการใดโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มาตรา 213, ฐานร่วมกันซ่อนเร้น ทำลายศพเพื่อปิดบังการตายและสาเหตุการตาย มาตรา 199, ฐานร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นเพื่ออำพรางคดี ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 150 ทวิ, ฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน มาตรา 145 ประกอบ ป.อ.มาตรา 33, 80, 83, 91, 92 และยังยื่นฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 1 ข้อหาที่ 10 ฐานสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน เพื่อให้คนอื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิ และแต่งเครื่องแบบตำรวจโดยไม่มีสิทธิเพื่อกระทำผิดอาญา มาตรา 146

ศาลพิพากษาประหารชีวิต พ.ต.ท.บรรยิน และจำนวนอีกรวม 5 คน แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่นายมานัส จำเลยที่ 2 พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต แต่ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุก 33 ปี 4 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้ทำความเห็นแย้งคำพิพากษาขององค์คณะผู้พิพากษาสำนวนคดีนี้ไว้แนบท้ายด้วย

มีประเด็นสำคัญช่วงหนึ่งเกี่ยวกับ พ.ต.ท.บรรยิน จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีมูลเหตุจูงใจมาจาก จำเลยที่ 1 กับพวกไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้ โดย น.ส.พนิดา โจทก์ร่วมไม่บันทึกคำพยานที่สำคัญที่ฝ่ายจำเลยที่ 1 กับพวกซักถามหรือถามค้านพยาน เมื่อจำเลยที่ 1 กับพวกยื่นคำร้องคัดค้านขอถอนโจทก์ร่วมออกจากการเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ อธิบดีฯ พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง และจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อประธานศาลฎีกาเพื่อคัดค้านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ประธานศาลฎีกาพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า กรณีมิใช่เหตุที่จะคัดค้านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน จึงไม่มีเหตุโอนสำนวน และมีคำสั่งให้ยุติเรื่อง ซึ่งในกรณีเช่นนี้หาใช่ฝ่ายจำเลยที่ 1 กับพวกจะหมดหนทางที่จะได้รับความเป็นธรรม โดยจำเลยที่ 1 อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาสืบพยานในประเด็นคำพยานที่อ้างว่ามีความสำคัญนั้น และหากศาลไม่อนุญาตก็สามารถยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกา โดยขอให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาพิจารณามีคำวินิจฉัยให้สืบพยานในประเด็นคำพยานที่อ้างว่ามีความสำคัญนั้นได้ 

จำเลยที่ 1 เคยรับราชการตำรวจตำแหน่งยศพันตำรวจโท และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐมนตรีมาก่อน ประกอบกับมีทนายความช่วยแก้ต่างคดีให้ แต่จำเลยที่ 1 กับพวกในคดีนี้ กลับใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายเพื่อให้เจ้าพนักงานปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง สมควรลงโทษในสถานหนักเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง และเป็นการป้องปรามมิให้มีการกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้อีก 

ลุ้นศาลตัดสิน! ย้อนคำสารภาพ 'บรรยิน' รับโกรธแค้น วางแผน อุ้ม รีด ข่มขู่ อำพรางศพ พี่ชายผู้พิพากษา

ท้ายความเห็นแย้งสรุปได้ว่า คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1-2 และ 4-6 เพราะจำนนต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏจากภาพกล้องวงจรปิด ข้อมูลจากพยานบุคคลต่างๆ ที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำ รวมทั้งข้อมูลจากรายงานการสืบสวนและพยานหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในสำนวนการสอบสวน ฝ่ายจำเลยได้ตรวจสอบและขอคัดถ่ายในชั้นตรวจพยานหลักฐานของศาล ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ไม่เป็นเหตุบรรเทาโทษที่จะลดโทษให้  ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิตสถานเดียว สำหรับจำเลยที่ 1-2, 4-6 เมื่อร่วมโทษทุกกระทงแล้ว คงให้ประหารชีวิตสถานเดียว

ขณะที่ นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม  เผยว่า สำหรับการทำความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในคดีนี้นั้น เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 11 บัญญัติไว้ว่า ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ต้องรับผิดชอบในราชการของศาลให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย โดย (1) นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใดๆ ของศาลนั้น หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ โดยความเห็นแย้งดังกล่าวจะถูกแนบไปพร้อมกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเพื่อประกอบการพิจารณา หากมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลสูงต่อไป

 

TOP อาชญากรรม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ