ทีมเกาะลิบง เชื่อคน “ขโมยรังนก” มืออาชีพ – สัตวแพทย์ ชี้รมควันถ้ำส่งผลกระทบยาว


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การเผารมควันไล่นกนางแอ่น เพื่อขโมยรังนกที่เกิดขึ้น นอกจากทำให้สูญเสียรังนกที่เป็นสินค้ามูลค่าสูง ยังทำให้ ในอนาคต นกนางแอ่นอาจไม่กลับมาทำรังที่ถ้ำทั้ง 7 ถ้ำอีก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเก็บรังนกจากเกาะลิบง มองว่าคนทำน่าจะเป็นคนที่เชี่ยวชาญการเก็บรังนก เพราะรู้ดีว่าต้องเข้าไปลักลอบเก็บรังนกในช่วงเวลาใด

รังนกสัมปทาน 400 ล้าน หายเกลี้ยง จุดไฟเผา หลังมอบจนท.ดูแล

อย.ตรวจเจอ “รังนกปลอม” เตือนผู้บริโภคสังเกตก่อนซื้อ

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 ทีมข่าวโทรศัพท์พูดคุยกับ นาย รอหมาน คงเหลา  ทีมเก็บรังนกเกาะลิบง แสดงความเห็นกรณีขโมยรังนก และ จุดไฟเผาจนนกนางแอ่นตาย ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นการจุดไฟ เพื่อหุงอาหารของผู้ที่ลักลอบมาขโมยรังนกมากกว่า การจุดไฟไล่นก นอกจากนี้ยังมองว่า รังนกที่หายไป น่าจะเป็นฝีมือของ “มืออาชีพ” เพราะ รู้ระยะเวลาในการเก็บรังนก  โดยตามปกติ รังนกจะเก็บไปแค่ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น คือ มีนาคม และ กันยายน 

นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า ตามปกติ การเก็บรังนก จะใช้เทียนไขเพื่อให้แสงสว่าง ผู้ที่เก็บประจำ จะไม่ก่อกองไฟเด็ดขาด เนื่องจากเป็นการรบกวนนก และจะหุงอาหารด้านนอกถ้ำ การที่ขโมยจุดไฟภายในถ้ำนั้น เชื่อว่าน่าจะกลัวคนเห็น รวมถึงมองว่า คนทำน่าจะเข้าไปอยู่ในถ้ำหลายวันแล้ว เพราะตามข่าวพบว่ามีขยะจำนวนมาก 

 

ทั้งนี้ทีมข่าวพูดคุยกับ นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ นายสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ นายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มองว่า การเผารมควัน นกนางแอ่นจนตาย จะส่งผลระยะยาว หลังจากนี้มีโอกาสที่ รังนกที่ได้จะมีปริมาณลดลง และ คุณภาพก็จะลดลงด้วย

“ที่สำคัญที่สุด คือ สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการทำร้ายความหลากหลายทางพันธุกรรมของนกนางแอ่น เพราะ มีนกตายจำนวนมากในครั้งเดียว  ในอนาคต มีโอกาสเป็นนกที่ไม่แข็งแรง พิการ ลูกนกไม่ฟัก  นกตัวเล็กลง ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ ขนาดของรังนกลดลงตามไปด้วย ซ้ำร้ายอาจทำให้นกตกใจและหวาดกลัวอพยพไปอยู่ที่อื่นได้ด้วย” นายสัตวแพทย์เกษตร กล่าว

นายสัตวแพทย์เกษตร กล่าวต่อว่า การที่นกถูกรมควันจนสำลักตาย เปรียบเหมือนคนที่สำลักควันจากไฟไหม้ พร้อมเปรียบเทียบว่า อาการสำลักควันตาย เกิดขึ้นกับนกนางแอ่นได้ง่ายกว่าคน เพราะนกนางแอ่นเป็นสัตว์ที่ไม่มีกระบังลม ทำให้บริเวณช่องอกและช่องท้องรวมเป็นช่องเดียวกัน เรียกว่า ช่องลำตัว เมื่อเกิดภาวะสำลักควัน หรือ อาการตื่นตกใจ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะเข้าไปอยู่ในช่องลำตัว ส่งผลทำให้ออกซิเจนในเลือดตก ทำให้นกนางแอ่นอาจตายได้ในทันที หากได้รับควันในปริมาณมาก หรือ หากไม่ตาย ก็อาจสำลักควันและป่วยตายในภายหลัง

ส่วนแนวทางหลังจากนี้ การฟื้นฟูที่อยู่อาศัย เพื่อให้นกกลับมาทำรังที่เดิม นายสัตวแพทย์เกษตร คาดว่า อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-5 ปี แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่า สุดท้าย นกจะกลับมาทำรังที่เดิมหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีทางเลือกที่ให้นกสามารถไปทำรังที่อื่นได้ ทั้งถ้ำอื่น หรือ บ้านรังนกที่สร้างไว้สำหรับเลี้ยงนกนางแอ่นโดยเฉพาะ ทั้งหมดนี้ อาจส่งผลทำให้นกนางแอ่นสูญพันธุ์เร็วกว่าเวลาที่ควรจะเป็น

นายสัตวแพทย์เกษตร ยังมองว่า กลุ่มคนที่เป็นคนก่อเหตุสร้างความเสียหายอย่างมาก เพราะ รังนกจากเกาะสี่ เกาะห้า จ.พัทลุง ถือเป็นรังนกที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศว่ามีคุณภาพมาก เป็นรังนกในแหล่งธรรมชาติที่บริสุทธิ์

ทีมข่าวตรวจสอบข้อมูลกับแหล่งข่าวที่เป็นคนเก็บรังนก ในพื้นที่ภาคใต้ เล่าว่า เกาะสี่ เกาะห้า จ.พัทลุง มีทั้งหมด 7 ถ้ำ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ช่วงเกิดเหตุเป็นช่วงลูกนกฟักตัวในรัง โดยเฉลี่ย จะมี รังนกประมาณ 5 – 6 แสนรัง 1 รัง มี นกนางแอ่น 2 ตัว หมายความว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกนกนางแอ่นตายนับ ล้านตัว คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย หลายพันล้านบาท ซึ่งตามข้อมูลของคนในวงการรังนก เล่าว่า ในระยะเวลา 7 ปี นกนางแอ่น 1 ตัว สามารถสร้างมูลค่าได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP อาชญากรรม
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ