รัฐบาล คง VAT 7% ยังไม่คิดสร้างภาระเพิ่มให้ประชาชน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




โฆษกรัฐบาล ยืนยัน คงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ 7% ระบุ ยังไม่คิดปรับเพิ่มให้เป็นภาระประชาชน

วันที่ 1 เมษายน 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยัน รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดในการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมคงเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP ปีนี้ที่ร้อยละ 4

นายกฯด่าสื่อ เสนอข่าวทำคนเข้าใจผิดขึ้นภาษี 1%

สรรพากรเตรียมเสนอ ครม.ขยายเวลาใช้ “VAT 7%”ต่อ

โดยประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ร้อยละ 10 ตามประมวลรัษฎากร ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงจากระบบภาษีการค้ามาเป็นระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อปี 2535 แต่ได้มีการบรรเทาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีจะออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละ 7 เป็นระยะๆ จะมีเพียงก็แต่เพียงในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เท่านั้นที่มีการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ให้คงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีที่เข้าลักษณะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม  สำหรับรายการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ซึ่งอัตราส่วน 1 ใน 9 ของภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นจะถูกโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย

ในแต่ละประเทศมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่แตกต่างกันไป อาทิ  อินโดนีเซีย เวียดนาม และญี่ปุ่นจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตราร้อยละ 10 สิงคโปร์จัดเก็บที่ร้อยละ 7 มาเลเซียจัดเก็บที่ร้อยละ 6  ซึ่งไทยมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ด้านเศรษฐกิจ ไม่เป็นภาระแก่ประชาชนเกินจำเป็น และช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 นั้น ครม.ได้รับทราบรายงานความเสี่ยงของกระทรวงการคลัง ประจำปีงบประมาณ 2563 แบ่งเป็นความเสี่ยงทางการคลังจากภาครัฐบาล ด้านรายได้ สถานการณ์โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาล โดยผลการจัดเก็บรายได้สุทธิในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 2,391,570 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563) ต่ำกว่าปีก่อนร้อยละ 6.80 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากรายได้ภาษีที่ลดลง ในขณะที่รายได้ของหน่วยงานอื่นและเงินนำส่งของรัฐวิสาหกิจยังคงขยายตัวจากปีก่อน สำหรับสัดส่วน GDP มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 ปี ของสัดส่วนดังกล่าวลดลงจากร้อยละ 16.51 ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 - 2556 เหลือร้อยละ 15.30 ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 - 2563 และยังคงมีแรงกดดันต่อเนื่องในระยะสั้น

การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ยังคงมีแรงกดดันจากผลประกอบการในปี 2563 ที่จะใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีงบประมาณ 2564 และการนำผลขาดทุนสุทธิที่เกิดขึ้นไปหักค่าใช้จ่ายสำหรับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ต่อเนื่องในระยะเวลา 5 ปี ข้างหน้า รวมถึงแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกในการพิจารณาปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล หากต่างประเทศมีนโยบายปรับลดอัตราเพิ่มเติมในอนาคต

การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษียาสูบและรายได้นำส่งคลังของโรงงานยาสูบมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากโครงสร้างตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

การจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้อยู่ในระดับต่ำ โดยสัดส่วน ภาษีจากฐานรายได้ต่อ GDP ลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาษีจากฐานบริโภคขยายตัวใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สัดส่วนภาษีจากฐานรายได้ต่อภาษีจากฐานบริโภคของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ สะท้อนถึงกลไกการกระจายรายได้และการสร้างเสถียรภาพในตัวเอง ของระบบภาษีของประเทศไทยที่อาจไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ด้านงบประมาณรายจ่าย อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อยู่ที่ร้อยละ 92 ซึ่งลดลงจากปีก่อน โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้เพียงร้อยละ 66.28 สัดส่วนรายจ่ายที่ยากต่อการลดทอนต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการบุคลากรภาครัฐและสวัสดิการสำหรับประชาชนทั่วไปที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย และรายจ่ายดอกเบี้ยที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากความจำเป็นในการกู้เงินของรัฐบาล จากแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 - 2568 รัฐบาลวางแผนในการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องในอีก 5 ปีงบประมาณข้างหน้า โดยกำหนดให้งบประมาณรายจ่ายประจำปีขยายตัวในระดับต่ำที่เฉลี่ยร้อยละ 1.40 ต่อปี ซึ่งอาจส่งผลให้เม็ดเงินรายจ่ายลงทุนปรับตัวลดลง

สำหรับ ฐานะการคลังและหนี้สาธารณะ รายได้รัฐบาลที่ลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ ทั้งสิ้น 822,533 ล้านบาท โดยระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 572,104 ล้านบาท

สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 49.34 จากความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 (พ.ร.ก.กู้เงินฯ)

ทั้งนี้ ความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตการคลัง ณ สิ้นปีไตรมาส 3 ปี 2563 ดัชนีรวมเตือนภัยทางการคลังภายใต้แบบจำลองระบบสัญญาณเตือนภัยทางการ มีค่าสูงขึ้นมาอยู่ที่ 2.47 แต่ยังอยู่ในระดับปกติ สอดคล้องกับอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ยังคงอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดของโรคโควิด-19 แต่มีการปรับมุมมอง ลงจากเชิงบวก เป็นมีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยในปี 2563 ที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง สะท้อนถึงสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ที่ยังอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ