เจาะมาตรการ "พักทรัพย์ พักหนี้" ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยฝ่าโควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. เปิดเผยถึงที่มามาตรการ "พักทรัพย์ พักหนี้" เชื่อช่วยต่อลมหายใจผู้ประการรายเล็ก รายย่อยได้ตรงจุดและยั่งยืน

ในตอนหนึ่งของรายการ กาแฟดำ ที่จะออกอากาศวันแรก 6 พ.ค.2564  นี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ได้กล่าวถึงมาตรการหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จึงขอหยินยกมาลงรายละเอียดให้ชัดเจน

“พีพีทีวี” ชงเข้ม “กาแฟดำ” พร้อมเสิร์ฟหน้าจอ 6 พ.ค.นี้ สูตรต้นตำรับ “สุทธิชัย หยุ่น” คุยทุกเรื่อง...

ผู้ว่าธปท.ชี้ พฤติกรรมคนไทย เป็นหนี้เร็ว-หนี้นาน

และเนื่องจากเป็นมาตรการใหม่ที่ถูกนำมาใช้กับผู้ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย รายเล็ก จากการแพร่ระบาดของโรคนี้โดยเฉพาะ

 

 

" สิ่งที่เห็นจากวิกฤตรอบบนี้ คือ ใช้เวลายาวและมีความไม่เท่าเทียมการฟื้นตัวจึงเปลี่ยนแนวจากมาตรการเดิมในช่วงแรกคือการพักหนี้  โดยไม่ได้แยกแยะว่าใครได้รับผลกระทบมากน้อยและต่างกัน แต่ตอนหลังเริ่มเห็นว่าใช้ยาเดียวกันทุกคนไม่เหมาะ จึงต้องแยก ต้องปรับนโยบาย "  ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุ 

จากปัญหาของมาตรการในช่วงแรกเริ่มของการเยียวยา จะเห็นว่า ธปท.มุ่งเน้นไปที่การพักชำระหนี้ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปัญหาของแต่ละธุรกิจไม่เหมือนกัน เพราะในช่วงที่พักหนี้บางธุรกิจยังไม่มีรายได้เข้ามา ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังคงเดินหน้าอีกเช่นกัน 

แนวคิด มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้  (Asset Wharehousing) จึงเกิดขึ้น 

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวต่อว่า ต้องแยกกลุ่มลูกหนี้ออก 2 กลุ่ม กลุ่มรายย่อยจริงๆ เช่น ประชาชน สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต กลุ่มนี้ไม่ต้องการสินเชื่อเพิ่มแต่ต้องการจัดการหนี้ค้างเก่า แต่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) กลุ่มนี้ต้องการสินเชื่อใหม่ ต้องการเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ดังนั้น มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้  อธิบายง่ายๆ คือ  ลูกหนี้ธุรกิจรายย่อย รายเล็ก  สามารถเอาทรัพย์ที่มีอยู่ไปตีโอนกับหนี้ที่มีอยู่ เพื่อที่จะล้างหนี้ เช่น เดิมมีหนี้ 80 ล้านบาท แต่มูลค่าหลักประกัน 100 ล้านบาท คุณก็เอาทรัพย์ไปตีไปชำระหนี้ที่ 80 ล้านบาท  แต่...

ตอนที่ตีโอนกลับมาที่ 80 ล้านบาทคุณมีสิทธิ์ที่จะกลับมาซื้อทรัพย์สินคุณคืนในราคาที่ตีโอนไป ประโยชน์ตรงนี้คือ ลดภาระหนี้ของลูกหนี้ ให้โอกาสลูกหนี้กลับมาได้ ภายในระยะเวลา 3-5 ปี เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น รวมถึงลูกหนี้ยังเช่าเพื่อดำเนินกิจการต่อได้ในราคาที่ไม่แพง หรือสามารถดูแลทรัพย์สินได้  โดยค่าเช่าที่จ่ายก็สามารถไปหักกับราคาซื้อคืนได้อีกเช่นกัน นี่คือจุดเด่นของ พักทรัพย์ พักหนี้

" อีกอันที่คิดว่าช่วยได้คือ จำทำให้เกิดการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้ (สถาบันการเงิน) และ ลูกหนี้ เพื่อออกสัญญามาตรฐาน ให้การตกลงระหว่างลูกหนี้ เจ้าหนี้มันง่ายขึ้น ขณะที่ในแง่กลไกบางอย่างก็จะเอื้อให้ตกลงในเรื่องราคา ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เมื่อเทียบกับการให้ นายทุน หรือ เอกชนมาซื้อ "

เป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปได้ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็ยังสามารถกลับมาฟื้นฟูกิจการได้เช่นเดิม โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบลูกโซ่มาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 

" เศรษฐกิจที่พึ่งพาเรื่องท่องเที่ยวไม่ใช่แค่ 11-12% ของจีดีพี แต่มันคือ 20% ของการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งตัวนี้สำคัญที่สุด "

สำหรับ มาตรการ พักทรัพย์ พักหนี้ อยู่ภายใน วงเงิน 100,000 ล้านบาท มุ่งเน้นในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว แต่ยังมีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ด้วยการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเพื่อหยุดหรือลดภาระหนี้ 

ภายใต้เงื่อนไขสัญญามาตรฐานที่กำหนด เช่น ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์คืนเป็นลำดับแรกในราคาต้นทุน ภายในระยะเวลา 3-5 ปี เท่ากับราคาตีโอนบวกด้วยต้นทุนการถือครองทรัพย์ (carrying cost) ร้อยละ 1 ต่อปีของราคาตีโอน และต้นทุนในการดูแลรักษาทรัพย์ตามที่จ่ายจริงและสมควรแก่เหตุ โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถขอเช่าทรัพย์กลับมาดูแลหรือเปิดดำเนินการและสถาบันการเงินจะนำค่าเช่าที่ได้รับไปหักออกจากราคาที่ขายคืนทรัพย์ให้กับลูกหนี้  เพื่อช่วยรักษาโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์ (fire sale) สามารถกลับมาสร้างงานและทำรายได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย 

โดยต้องเป็นลูกหนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ที่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกันอยู่กับสถาบันการเงิน ก่อน 28 ก.พ. 64 และไม่เป็น NPL ณ 31 ธ.ค. 62 

สถาบันการเงินและลูกหนี้ต้องสมัครใจทั้ง 2 ฝ่ายในการตีโอน ทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ซึ่งมีเงื่อนไขตาม สัญญามาตรฐาน โดย

- ลูกหนี้มีสิทธิในการซื้อทรัพย์สินหลักประกันคืน ภายใน 5 ปี เป็นลำดับแรก ทั้งนี้ ราคาซื้อทรัพย์ คืนต้องไม่เกินกว่าราคาตีโอนทรัพย์ บวกด้วย carrying cost ร้อยละ 1 ต่อปี ของราคาตีโอน ทรัพย์ โดยสถาบันการเงินอาจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการ ดูแลรักษาทรัพย์เพิ่มเติมได้ตามที่จ่ายไปจริงและสมควรแก่เหตุ

- ลูกหนี้มีสิทธิในการเช่าทรัพย์สินหลักประกันได้ เป็นลำดับแรก โดยสถาบันการเงิยจะนำค่าเช่าไปหักออก จากราคาซื้อทรัพย์คืน และไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย ในการดูแลรักษาทรัพย์เพิ่มเติม หากลูกหนี้ผู้เช่า เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินดังกล่าว

โดย ทาง ธปท. สนับสนุนสภาพคล่องอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ในการรับตีโอนทรัพย์ของสถาบันการเงิน และภาครัฐสนับสนุนยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาษีและค่าธรรมเนียมในการตีโอนทรัพย์ ทั้งขารับโอนและขายคืนให้กับลูกหนี้รายเดิม

จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่ามาตรการครั้งนี้จะสามารถพยุงการจ้างงานได้หลายแสนคน และช่วยบริษัทให้มีสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจได้อีกหลาย 10,000 บริษัท รวมถึงช่วยลดความเสี่ยง GDP at risk ได้ 

ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจในเรื่องราวของเศรษฐกิจไทยช่วงที่กำลังฝ่ามหันตภัยโควิด-19 นี้จะมีอนาคตเป็นอย่างไร ผ่านการพูดคุยของ คุณสุทธิชัย หยุ่น ในรายการกาแฟดำ วันที่ 6 พ.ค.2564 นี้ เวลา 22.45 น.

 

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ