ผู้ว่า ธปท. ยอมรับ งานยาก งานยาว ความหวังเดียว "วัคซีนโควิด” คือพระเอก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้ว่า ธปท. ยอมรับวิกฤตโควิด-19 “งานยาก งานยาว และความหวังเดียววัคซีนคือพระเอก” ทำให้ต้องปรับกระบวนการออกนโยบายทางการเงินให้ตรงเป้าหมายที่สุด โดยเฉพาะ "หนี้" ของรายย่อย แรงงาน ภาคท่องเที่ยว อันเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด

กว่า 1 ปี แล้วที่ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งไม่เพียงแต่เรื่องของอาการป่วยทางร่างกายเท่านั้น ที่ตอนนี้ด่านหน้า กองหน้า เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์กำลังรับมือต่อสู้อย่างหนัก

เจาะมาตรการ "พักทรัพย์ พักหนี้" ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยฝ่าโควิด-19

ยังวิกฤต! ติดเชื้อ +2,044 ดับอีก 27 ชีวิต 3 ชุมชนกทม.หนัก คลัสเตอร์โยงห้าง -ท่ารถเมล์

แต่ผลพวงที่เกิดขึ้น กระทบเป็นลูกโซ่ตามคือ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ไม่เหมือนเดิม อาชีพการงาน การทำมาหากิน ถูกร่างแหของการแพร่ระบาด ที่ใส่หมัดฮุคเข้าโดยตรง คือที่ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของไทยอย่าง “ภาคการท่องเที่ยว”  

 

 

ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่และบทบาทสำคัญของหนึ่งในกองหลังผู้ขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจและดูแลสถาบันการเงินจะออกโรงขับเคลื่อนนโยบายออกมาช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้ฝ่าวิกฤตนี้ไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

หนึ่งในนั้นคือ บทบาทของ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ปัจจุบัน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการซึ่งเข้ามานั่งเก้าอี้นี้ได้เพียงไม่นาน โจทย์ใหญ่อย่าง “โควิด-19” ก็เข้ามาท้าท้ายทันที และเขาได้มองวิกฤตนี้ผ่านรายการกาแฟดำ โดยคุณสุทธิชัย หยุ่น มีใจความสำคัญที่น่าสนใจ ในหลายประเด็น

 

 

เศรษฐกิจฟื้นช้า เพราะ 20% ของการจ้างงานอยู่ในภาคการท่องเที่ยว

ดร.เศรษฐพุฒิ ระบุว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นช้าเพราะประเทศไทยพึ่งพาเรื่องการท่องเที่ยวที่ไม่ใช่จะมองว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยคิดเป็นสัดส่วนแค่ 11-12% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างการส่งออก การบริโภค และการลงทุน  แต่ภาคการท่องเที่ยวยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีสัดส่วนการจ้างงานถึง  20%

ดังนั้นแล้ว ผลข้างเคียงกับแรงงานใน 20% นี้ คือ ไม่มีงานทำ รายได้หาย ส่งผลไปถึงการบริโภค การจับจ่ายระดับล่างถึงกลางสะดุด ซึ่งถ้าโฟกัสแต่ตัวจีดีพีในระยะต่อไปอาจกลับมาใกล้เคียงเดิม เพราะภาคการส่งออกเริ่มกลับมา แต่ถ้ามองเฉพาะภาคการท่องเที่ยว จะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวกลับมา 40 ล้านคน ดร.เศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า "ยาก"

" ประมาณการณ์ของตัวเลขท่องเที่ยวต้องปรับลงกันอย่างมีนัยสำคัญ เดิมปีนี้ (2564) ไม่ได้มองไว้เยอะแต่ก็คิดว่าไตรมาส 4 อาจจะมีบ้าง แต่ปีหน้ามองไว้ที่ 20 ล้านคน "

เหตุผลที่ประมาณการณ์ของตัวเลขท่องเที่ยวจะต้องปรับลงกันอย่างมีนัยสำคัญ ดร.เศรษฐพุฒิ มองภาพสะท้อนจากการแพร่ระบาดในระลอก 3 ว่า ด้วยตัวของเชื้อโควิด-19 ที่เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ที่แพร่ได้เร็ว เรื่องของการกลายพันธุ์ ไปจนถึงความมั่นใจใจตัววัคซีนโควิด-19 ก็อาจจะยังมีคำถามจากสังคม ไปจนถึงแผนการฉีดวัคซีน ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมันจึงไม่ได้มีความราบรื่นในทีเดียว (ดร.เศรษฐพุฒิ  ใช่คำว่า ไม่ smooth) 

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ "ความเหลื่อมล้ำที่ถูกซ้ำเติม" 

ดร.เศรษฐพุฒิ มองว่า ถ้ามองลงไปที่ผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ ของสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ แบ่งเป็น มนุษย์เงินเดือน พนักงานออฟฟิศ จะเป็นการปรับรูปแบบการทำงานมาเป็น Work From Home แต่ก็ไม่ถึงกับเลิกจ้าง แต่ในกลุ่มของแรงงาน พนักงานบริการ กระทบจากการปิดกิจการ เลิกจ้าง ขาดรายได้ ตรงนี้ก็ยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นการฟื้นตัวจึงไม่ใช่แบบเดิม

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ นำไปสู่การพิจารณาเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ต้องตรงจุดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากวิกฤตรอบนี้ การฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกันทุกจุด ภาคการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เริ่มกลับมา แต่ภาคการท่องเที่ยวยังมืดมน ธนาคารแห่งปนะเทศไทยจึงต้องเปลี่ยนแนวมาตรการ โครงการต่างๆ จากช่วงแรกเน้นไปที่การ "พักหนี้" ทุกคนถูกดึงเข้าสู่มาตรการพักหนี้ ปรากฏว่า ยาตัวเดียวไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน

เพราะ คนกลุ่มนี้เขาต้องการหยุด "หนี้เดิม" หนี้ก้อนที่ไม่สามารถจ่ายได้เพราะขาดรายได้ การพักหนี้ พักจริงเฉพาะเงินต้น แต่ดอกเบี้ยไม่ได้พักตาม ดังนั้นจึงนำมาสู่ การปรับโครงสร้างหนี้ในรูปแบบของการยืดระยะเวลาของหนี้และลดการจ่ายต้น 

" ที่กังวลมากคือ ภาระหนี้เดิม ของรายย่อย ครัวเรือน กลุ่มนี้คือหนี้เดิมเยอะอยู่แล้ว ภาระหนี้เก่า ตอนแรกทำพักหนี้ แต่ไม่ใช้ทางที่ยั่งยืน แต่เมื่อเข้าปรับโครงสร้างหนี้ยืดระยะหนี้ให้ยาวขึ้นแล้วให้ดอกเบี้ยที่ต่ำ "

นอกจากนั้นยังมีมาตรการที่เกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ จากเดิมธนาคารพาณิชย์เคยคิดกับลูกหนี้ก็ให้หยุดดอกเบี้ยไว้ โดยไม่ให้คิดดอกเบี้ยในฐานเงินต้นทั้งหมด แต่ให้คิดดอกเบี้ยในฐานของงวดที่ผิดนัดชำระหนี้จริงๆ ตรงนี้ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่ง

ยอมรับฝ่าวิกฤตครั้งนี้ยากกว่าต้มยำกุ้งปี 2540 เพราะไม่มีในตำรา
 
หากเปรียบเทียบสถานการณ์นี้ กับ วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี 2540 ดร.เศรษฐพุฒิ  ยอมรับว่า ยากกว่า ด้วยความต่างกันมาก หากย้อนกลับไปปี 2540 เป็นเรื่องของค่าเงิน เรื่องหนี้ต่างประเทศ บริษัทใหญ่ กลุ่มธนาคาร นักลงทุน ผู้ประกอบการรายใหญ่ นักธุรกิจ จะได้รับผลกระทบหนัก แต่ขณะเดียวกัน ก็มีทางแก้ที่ชัดจน มีวิธีอยู่ในตำราชัดเจน แต่รอบนี้ไม่ใช่ เป็นสิ่งที่โลกและประเทศไม่เคยเจอ ถือว่า "ยากกว่า" ที่สำคัญคือ กระทบรายย่อย  แรงงาน ธุรกิจขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี)  ซึ่งขยายวงกว้าง ที่สำคัญคือโดนจุดสำคัญของไทย "ภาคการท่องเที่ยว 
 
อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ในท้ายที่สุดมาตรการต่างๆ เหล่านี้ ต่อให้ออกมามากมายก็ยังถือว่าเป็น "พระรอง" เพราะพระเอกของการแก้ปัญหาครั้งนี้ คือ วัคซีน ซึ่งจะหยุดวงจรการระบาดได้
 
 
สามารถชม รายการกาแฟดำ และบทสัมภาษณ์ที่เข้มข้นได้ที่ ลิงค์ด้านล่าง
 
TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ