"อย่าจ่ายขั้นต่ำ" เคล็ดลับแก้หนี้บัตรเครดิต แบบไม่ต้องแบกดอกเบี้ย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ข้อคิดเตือนใจผู้ใช้บัตรเครดิตเมื่อเริ่มสร้างหนี้ ให้คำนึงอยู่เสมอว่าอย่าจ่ายหนี้บัตรเพียงแค่ขั้นต่ำ

“หนี้บัตรเครดิต” หากเราจ่ายแค่ขั้นต่ำ เราจะกลายเป็นหนี้ก้อนโต แบบคาดไม่ถึง เมื่อย้อนดูวิธีการคำนวณดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน ที่คิดดอกเบี้ยจากยอดหนี้คงค้าง ให้เรามีดอกเบี้ยพอกพูนไปเรื่อยๆ หากไม่ทำอะไรจะกลายเป็นหนี้ก้อนโตได้ง่ายๆ ข้อสำคัญอย่า “เบี้ยวหนี้” เพียงเพราะคิดว่าเจ้าหนี้จะตามตัวเราไม่ได้ มาดูกันว่า เมื่อเริ่มใช้บัตรเครดิตแล้วเป็นหนี้เพราะเหตุใดเราจึงไม่ควรจ่ายหนี้แบบจ่ายแค่ขั้นต่ำ 

ปรับเกณฑ์บัตรเครดิตลดหนี้ได้จริงหรือไม่ ?

เริ่มพรุ่งนี้! ธปท.คุมวงเงินบัตรเครดิต "หั่นดอกเบี้ย" เหลือ 18%

เมื่อเริ่มเป็นเจ้าของบัตรเครดิต สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การศึกษาเงื่อนไขการใช้บัตร และ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึง และ ตระหนักรู้อยู่เสมอ เมื่อเราต้องเริ่มจ่ายหนี้จากการรูดปรื๊ดไป

1. จ่ายแค่ขั้นต่ำ จนกลายเป็นภาระหนี้ก้อนโต ตัวอย่างเช่น

5 มีนาคม 2564 นาย A ใช้บัตรเครดิตซื้อของ 20,000 บาท ทุกวันที่ 25 เป็นวันปิดยอดของทุกเดือน ถ้าวันที่ 27 มีนาคม 2564 จ่ายขั้นต่ำ 10% เท่ากับ 2,000 บาท ในรอบบัญชีแรกจะยังไม่คิดดอกเบี้ย แต่ในรอบบัญชีถัดไป คือ 25 เมษายน 2564 ธนาคารจะจัดส่งใบแจ้งหนี้ โดยมีรายละเอียดยอดคงค้าง และดอกเบี้ยอีกจำนวนหนึ่ง

ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่ในใบแจ้งหนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน

ส่วนแรก ดอกเบี้ยที่คิดจากจำนวนเงินที่รูดซื้อสินค้า คือ 20,000 บาท โดยเริ่มนับจากวันที่รูดซื้อสินค้าจนถึงวันที่สรุปยอดรายการรวม 20 วัน (5 – 25 มีนาคม) ถ้าคิดที่อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 16% เป็นเงิน 175.34 บาท

ส่วนที่สอง ดอกเบี้ยที่คิดจากยอดเงินต้นค้างชำระ คือ 18,000 บาท (20,000 บาท หัก 2,000 บาทที่จ่ายขั้นต่ำไปแล้ว) โดยคิดจากวันที่เราชำระไปคือ 27 มีนาคม ถึงวันปิดยอดรอบล่าสุดคือ 25 เมษายน รวม 29 วัน ถ้าคิดที่อัตราดอกเบี้ยสูงสุด 16% จะเป็นเงิน 228.82 บาท

หมายความว่า ในการผ่อนขั้นต่ำครั้งนี้ เราจะมีภาระหนี้จากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 404.16 บาท และถ้าไม่ทำอะไร เชื่อหรือไม่ว่า เพียงเวลาไม่กี่ปี ดอกเบี้ยส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเท่ากับเงินที่รูดซื้อของเลยทีเดียว

2. ไม่จ่ายเพราะประเมินเจ้าหนี้ผิดไป คิดว่า เจ้าหนี้มีแค่สลิปเงินเดือนเป็นหลักฐาน ตอนนี้ออกจากงาน ใครจะติดตามหนี้ได้ ถ้าไม่รับโทรศัพท์ เปลี่ยนเบอร์โทร-ชื่อ-เปลี่ยนที่อยู่ แม้มีจดหมายทวงถามหนี้ไปที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ถ้าไม่รับรู้เสียอย่าง ใครจะทำอะไรได้ ... จริงหรือ?

เราต้องไม่ลืมว่า เจ้าหนี้บัตรเครดิตมีฐานข้อมูลลูกหนี้ เห็นพฤติกรรมการเบี้ยวหนี้ของลูกหนี้มานับไม่ถ้วน มีนักกฎหมายและหน่วยงานติดตามทวงหนี้ และสืบทรัพย์โดยเฉพาะ สุดท้ายเมื่อเจ้าหนี้สืบทรัพย์จนเจอ นำมาสู่การฟ้องร้องและยึดบ้านในที่สุด โดยลูกหนี้อาจไม่เคยรู้ว่า มีทรัพย์ที่เป็นชื่อตัวหรือทรัพย์มรดก เช่น ที่นาของพ่อแม่ ก็ถูกยึดได้ทั้งนั้น

บทสรุปที่ไม่สวยงามย่อมไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น กลับเกิดขึ้นจนได้ ผลจากการประมาทศักยภาพเจ้าหนี้เกินไป อาจทำให้ครอบครัว คนที่รัก ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือไม่มีที่ทำมาหากิน

ดังนั้นเมื่อเป็นหนี้ควรจ่ายหนี้ให้ครบถ้วน หากรู้ตัวว่าเริ่มที่จะชำระไม่ไหว ให้รีบเข้าคุยกับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เพื่อเจรจาขอความช่วยเหลือและหาทางออกในการแก้ไขหนี้ร่วมกัน สุดท้ายนี้ ขอให้เชื่อมั่นว่า ทุกปัญหามีทางออก เพียงท่านมีความตั้งใจและจริงใจที่จะชำระหนี้คืน หากมีข้อสงสัย โทรไปได้ที่ 1213

 

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ : แก้หนี้ครบจบในเล่มเดียว
ผู้เขียนบทความ : ปริยดา อาสยวชิร และกัลยรัตน์ ศิริภัทรพิพิธ 

แนะ 5 วิธีตรวจสอบ Fake News บนโลกออนไลน์ ก่อนตกเป็นเหยื่อ

โปรแกรมแข่งขันกีฬา โอลิมปิก 2020 ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2564

TOP เศรษฐกิจ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ