วิสาขบูชา วันประกาศชัยชนะแห่งมวลมนุษยชาติ 3 พุทธโอวาทสำคัญ ในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน


โดย ดนัย จันทร์เจ้าฉาย

เผยแพร่




วันวิสาขบูชาได้รับการยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากลขององค์การสหประชาชาติ เนื่องจากเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ อันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ

โดยเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ 80 ปีก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มไม้สาละ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน ซึ่งอยู่ในเขตประเทศเนปาลปัจจุบัน เหตุการณ์ต่อมา เมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชลา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน

วิสาขบูชา 2564 วันเพ็ญพุธสุดอัศจรรย์แห่งปี

 

และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ 1 ปีก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มสาละ เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด เรียกว่าเป็นวันแห่งพระพุทธเจ้าโดยแท้

วันนี้เองที่เป็นวันประกาศชัยชนะของมวลมนุษยชาติ นับจากวินาทีที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติจากพระนางสิริมหามายาใต้ร่มไม้สาละ ทรงพระดำเนินไปได้ 7 ก้าว และทรงเปล่งอาสภิวาจา (วาจาประกาศความเป็นผู้สูงสุด) ขึ้นว่า …

เราเป็นผู้เลิศที่สุด เราเป็นผู้เจริญที่สุด เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุด ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ย่อมไม่มีแก่เรา

วาจาประกาศิตนี้ เป็นการประกาศเป้าหมายแห่งการอุบัติขึ้นของเจ้าชายสิทธัตถะ และเป็นการประกาศถึงศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ทุกคน ที่จะสามารถพัฒนาตนให้เป็นผู้เลิศที่สุด เจริญที่สุด

ประเสริฐที่สุด และทำให้ภพชาตินี้เป็นภพชาติสุดท้ายของเราด้วยกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสมณะ ชีพราหมณ์ ผู้หญิงผู้ชาย เด็กหรือคนแก่ ไม่มีมนุษย์คนใดที่มีขีดจำกัดในการก้าวถึงศักยภาพอันสูงสุดของการได้เกิดเป็นมนุษย์เลย

มนุษย์ทุกคนจึงควรมีเป้าหมายชีวิตและเข็มทิศที่ชัดเจน

ในคืนวันเพ็ญก่อนการตรัสรู้ เจ้าชายสิทธัตถะได้เสวยข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดานำมาถวาย แล้วไปประทับนั่งใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงนั่งขัดสมาธิแล้วหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทรงตั้งจิตอธิษฐาน กำหนดใจให้สงบตั้งมั่นว่า

แม้เลือดเนื้อในร่างกายจะเหือดแห้ง เหลือแต่ หนัง เอ็นหุ้มกระดูกก็ตาม

หากยังไม่ได้บรรลุซึ่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วไซร้ จะไม่ลุกขึ้นจากสมาธิบัลลังก์นี้เป็นอันขาด

ทรงแสดงให้เห็นถึงปณิธานอันเด็ดเดี่ยวของมหาบุรุษ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับมนุษย์ทุกคนว่า

หากเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจในการกระทำสิ่งใดแล้วไซร้ ย่อมสำเร็จผลตามที่ตั้งใจไว้ และทุกอย่างเกิดขึ้นได้จากการกระทำของตนเอง ไม่ใช่จากการอ้อนวอนขอหรือจากปัจจัยภายนอกแต่อย่างใด

ทันทีที่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า

เราตามหานายช่างผู้สร้างเรือน เมื่อไม่พบ จึงเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏมากมายหลายชาติ การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์

นายช่างผู้สร้างเรือนเอ๋ย บัดนี้เราพบท่านแล้ว ท่านจะสร้างเรือนไม่ได้อีกแล้ว จันทันอกไก่เราทำลายแล้ว เรือนยอดเราก็รื้อแล้ว จิตของเราเข้าถึงพระนิพพาน ได้บรรลุความสิ้นตัณหาแล้ว

“นายช่างผู้สร้างเรือน” หมายถึงตัณหา ความอยาก 3 ประเภท

ที่ทำให้คนต้องเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพต่างๆ ไม่จบสิ้น

เรียกว่าวงจรแห่งสังสารวัฏไม่มีทางสิ้นสุด

“จันทัน อกไก่” หมายถึง กิเลสน้อยใหญ่อื่นๆ

ส่วน “เรือนยอด” หมายถึงอวิชชา

พระพุทธองค์ทันทีที่ตรัสรู้ ก็ทรงเปล่งอุทานว่า

บัดนี้ เราได้ทำลายกิเลสตัณหาพร้อมอวิชชาได้แล้ว ได้บรรลุพระนิพพานแล้ว

พุทธปฐมอุทานนี้สำคัญมาก เป็นการประกาศชัยชนะของมนุษย์ที่มีเหนือกิเลสตันหาอุปทาน

และขจัดความไม่รู้ทั้งหลาย เป็นการแสดงถึงความดับของกิเลสตันหา เรียกว่ากิเลสนิพพาน

เป็นการตรัสรู้ของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา ใต้ต้นสาละคู่ พระพุทธองค์ตรัสสั่งความแก่พระอานนท์ว่า ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไป

จากนั้น ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายเข้าเฝ้า แล้วตรัสว่า “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า

สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา

ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด

“ความไม่ประมาท” เป็นหลักธรรมสำคัญของพุทธศาสนา

ในพระไตรปิฎก ท่านกล่าวถึงคุณค่าของความไม่ประมาทว่า

“ความประมาท เป็นทางแห่งความตาย

ความไม่ประมาท เป็นทางแห่งความไม่ตาย

คนไม่ประมาท ไม่มีวันตาย

คนประมาท ไม่ต่างอะไรกับคนที่ตายแล้ว”

ความไม่ประมาท คือ การมีสติสัมปชัญญะ การระลึกรู้สึกตัวในทุกขณะที่ดำรงชีวิตอยู่

และนี่คือ 3 พุทธโอวาทที่สำคัญในวันแห่งพระพุทธเจ้า วันสำคัญแห่งชัยชนะของมวลมนุษยชาติ.

TOP ไลฟ์สไตล์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ