สภาตั้ง 45 กมธ.ศึกษาร่างแก้ไข รธน. หลังผ่านวาระ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




รัฐสภามีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดยฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไปพิจารณา พร้อมทั้งตั้ง กมธ. 45 คน ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยภาคประชาชน ที่ประชุมรัฐสภาไม่รับหลักการ

รัฐสภาฯ ลงมติรับ 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนร่างไอลอร์ ถูกตีตก

นายกฯชิ่งสื่อ โยนโฆษกตอบคำถามแก้ รธน.-ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 จากกรณีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ โดยมีสมาชิกรัฐสภาประกอบด้วย ส.ส.รัฐบาล, ส.ส.ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา สลับกันขึ้นอภิปราย  โดยที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้เริ่มลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ โดยใช้วิธี 1 คนขานทั้ง 7 ฉบับในคราวเดียวกัน โดยระบุทีละฉบับว่า "รับหลักการ" หรือ "ไม่รับหลักการ" หรือ "งดออกเสียง" ซึ่งหลังจากใช้เวลาลงมติมากกว่า 5 ชั่วโมง

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาแจ้งผลการลงมติปรากฏว่า มีร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบในการรับหลักการเพียง 2 ร่าง 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ของฝ่ายค้านได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการด้วยคะแนน 576 ต่อ 21 เสียง งดออกเสียง 123 โดยมีเสียง ส.ว.รับหลักการ 127 เสียง  

โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256  ของฝ่ายรัฐบาล ได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการด้วยคะแนน 647 ต่อ 17 งดออกเสียง 55 โดยมีเสียง ส.ว.รับหลักการ 176 เสียงทำให้ทั้งสองร่างได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ในขณะนี้จำนวน 732 คน หรือ 366 เสียงขึ้นไปและในจำนวนกึ่งหนึ่งที่มีเสียงเห็นชอบนั้น ยังมีคะแนนเสียงของส.ว.เกิน 1 ใน 3 จึงถือว่าได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการ

ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน  มีเสียงเห็นชอบ 212 ต่อ 139 งดออกเสียง 369 มีเสียง ส.ว.รับหลักการ 3 เสียง แต่ทั้ง 5ร่างดังกล่าวมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ในขณะนี้ถือว่าไม่ได้รับความเห็นชอบในวาระรับหลักการ

จากนั้นที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้ง กมธ. พิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเพิ่มเติม จำนวน 45 คน โดยใช้ร่างของรัฐบาลที่นายวิรัชเสนอเป็นหลักในการแปรญัตติและแปรญัตติภายใน 15 วัน ประชุมนัดแรก 24 พ.ย.นี้

สำหรับผลการลงมติร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับนั้น ส่วนใหญ่เป็นไปตามมติวิปของแต่ละฝ่ายโดยวิปรัฐบาล ให้โหวตรับหลักการในร่างที่ 1และ 2 และให้งดออกเสียงในร่างที่ 3-6 แต่มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลบางส่วนโหวตสวนมติวิปรัฐบาล เช่น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลงมติไม่รับหลักการทั้ง 7 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับนายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ อดีตแกนนำ กปปส. นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐที่ลงมติไม่รับร่างทั้ง 7 ฉบับ เช่นกัน และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ และรมว.ดีอีเอส ทลงมติงดออกเสียงในร่างที่ 1 และ 2 ส่วนอีก 5 ร่างที่เหลือลงมติไม่รับหลักการ

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ ได้แก่ พรรคภูมิใจไทยลงมติไปในทิศทางเดียวกับมติ วิปรัฐบาลแต่มีบางคนลงโหวตสวนมติวิปรัฐบาลในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม รองประธานสภา ที่ลงมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์  นอกจากนี้ยังมีนายมงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงในรัฐบาลที่โหวตสวนมติวิปรัฐบาลในทุกร่างโดยโหวตลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง

 

ขณะที่การลงมติของส.ว.นั้น ส่วนใหญ่จะลงมติรับหลักการในร่างที่ 1 และ 2 เรื่องการตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อย่างไรก็ตามมี ส.ว.เพียง 3 คนเท่านั้น ที่ลงมติเห็นชอบรับหลักการร่างของไอลอว์ ได้แก่ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  นายพีระศักดิ์ พอจิต และนายพิศาล มาณวพัฒน์  

ด้านการลงมติของฝ่ายค้านนั้นพบว่า เป็นไปในทิศทางเดียวกับตามมติวิปฝ่ายค้านคือ ลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง7 ร่าง มีเพียง น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี และนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่ใช้วิธีไม่ร่วมโหวตในห้องประชุม แต่ไม่ได้แจ้งลา  

TOP การเมือง
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ