“ทรงผม” เครื่องมือในการแสดงออกทางการเมือง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ไม่กี่วันที่ผ่านมา ทรงผมของเด็กนักเรียนกลายมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลัง ดร.วีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พูดถึงการไว้ผมยาวที่อาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนร่วมชั้นเรียน ความเห็นมากมายบนโลกแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างระหว่างคนสองวัย ในประเด็นทรงผม และอันที่จริงไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมาทรงผมถูกใช้เป็นทั้งเครื่องมือกดขี่และแสดงออกทางการเมือง ในฐานะการแสดงออกซึ่งเสรีภาพส่วนบุคคล

ร้านตัดผม ขึ้นป้ายประกาศ "ไม่ตัดทรงนักเรียน"

“ณัฏฐพล” สั่ง โรงเรียนทั่วประเทศ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นนักเรียน

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา อิรักลุกเป็นไฟจากความโกรธเกรี้ยวของประชาชน ผู้คนไม่พอใจปัญหาคอร์รัปชัน เศรษฐกิจตกต่ำ และปัญหาสาธารณสุขที่ไม่ได้มาตรฐาน การประท้วงลุกลามจากกรุงแบกแดด สู่หลายเมืองในอิรัก แต่เคียงคู่กับป้ายประท้วงและธงชาติ ผู้ประท้วงหลายคนมีทรงผมน่าประทับใจ  

ผมยาวที่ถูกเซ็ตตั้งสูงแบบนี้มีชื่อเรียกว่า “ปอมปาดัวร์” เคยเป็นที่นิยมในทศวรรษ 1950 -1960 วันนี้กลับมาอีกครั้งในกลุ่มคนอิรักรุ่นใหม่ และมากกว่าความหล่อเหลา การไว้ผมทรงนี้คือการประท้วงรูปแบบหนึ่ง ค่านิยมในสังคมอิรักกำหนดให้ผู้ชายต้องตัดผมสั้น สวนทางกับคนรุ่นใหม่ในอิรักที่มองว่า การไว้ผมทรงอะไรก็ตามคือสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ที่ผ่านมา ทรงผม ไม่เพียงบอกตัวตนของเจ้าของว่าเป็นคนอย่างไร หากยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมือง ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1920 ทรงผมสั้นของสาว ๆ ในยุคนี้คือการปฏิวัติ เพราะก่อนหน้านี้ผู้หญิงถูกกำหนดให้ไว้ผมยาวสลวย สวมคอร์เซ็ทและกระโปรงยาว ดังนั้นการที่ผู้หญิงในสังคมพากันตัดผมสั้น จึงนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่

 

ข้ามมาทศวรรษ 1960 ทรงผมแบบ แอฟโฟร กลายมาเป็นสัญลักษณ์ปลดแอกชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันจากการกดขี่ และเลือกปฏิบัติโดยคนผิวขาว  แอฟโฟรคือ ผมหยิกตามธรรมชาติของลักษณะเส้นผมในแบบชาวแอฟริกันที่ถูกตัดแต่งเป็นทรงกลม มันบอกเล่าถึงความอยู่รอด เพราะในอดีตผมแบบนี้ช่วยให้ชาวแอฟริกันเก็บซ่อนเมล็ดพืชหรือทองคำไว้ภายใน ปัจจุบันไม่มีใครต้องซ่อนของในเส้นผมอีก แต่นี่คือความภูมิใจ เพราะที่ผ่านมา ผมหยิกแบบนี้ต้องถูกเก็บซ่อนด้วยการถัก หรือยืดให้ตรงด้วยน้ำยา ตามค่านิยมของชาวตะวันตก

ทรงแอฟโฟรเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง ที่คนผิวดำออกมาเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมกับคนผิวขาว ช่วงเวลานั้นมีนักเคลื่อนไหวที่โดดเด่นจนกลายเป็นสัญลักษณ์ คือ แองเจลา เดวิส และทุกวันนี้ เธอยังคงไว้ทรงผมแอฟโฟรทรงเดิม

 

ทศวรรษต่อมา ในช่วงสงครามเวียดนาม บรรดาหนุ่มสาวบุปผาชนเองนิยมไว้ผมยาว หลายคนประกาศไม่ตัดผมจนกว่าสงครามจะสิ้นสุด ผมที่ยาวเป็นฟุตจึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของสงครามอันยึดเยื้อยาวนาน อีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่พบได้ทั่วไปในการประท้วงคือ การโกนหัว หรือ ตัดสกินเฮดจนผมสั้นเกรียน

เกาหลีใต้ คือ อีกหนึ่งประเทศที่มีวัฒนธรรมการประท้วงด้วยการโกนผม  ปี 2019 ฮวัง กโย-ฮัน ผู้นำฝ่ายค้านของเกาหลีใต้ประกาศโกนหัวตัวเองต่อหน้าสาธารณชน เพื่อประท้วงรัฐบาล เนื่องจากในเวลานั้นรัฐบาลกำลังเผชิญกับข้อหาคอร์รัปชัน วัฒนธรรมการโกนผมในเกาหลีใต้มีรากมาจากลัทธิขงจื้อ ที่เน้นย้ำถึงความกตัญญูรู้คุณ ดังนั้นการสร้างความเสียหายต่อร่างกายที่ถือว่าได้รับมาจากพ่อแม่ จึงถือเป็นการต่อต้านรูปแบบหนึ่ง และเส้นผมคือสิ่งที่ง่ายที่สุด

 

ในขณะที่ผู้คนใช้เส้นผมในการแสดงออก ทรงผมก็คืออีกวิธีหนึ่งที่ผู้ปกครองใช้แสดงอำนาจ ข้อกำหนดกฎเกณฑ์มากมายยังคงพบได้ในปัจจุบัน และไม่จำกัดอยู่แค่ในโรงเรียน ที่ฉนวนกาซา ดินแดนของปาเลสไตน์ หนุ่มน้อยบางคนมีทรงผมน่าประทับใจแบบเดียวกับคนรุ่นใหม่ในอิรัก แต่ที่นี่พวกเขาต้องหลบซ่อน  รัฐบาลที่นำโดยพรรคฮามาสไม่ต้องการให้ผู้ชายกาซาไว้ผมตามแฟชั่น ที่นี่จึงมีตำรวจคอยเดินตรวจตรา จับกุมคนที่มีทรงผมผิดระเบียบ โมฮัมหมัดมีผมเท่กว่าของเพื่อนๆ แต่ทรงผมดูดีเช่นนี้เขาไว้ได้แค่ภายในบ้าน ทรงผมของโมฮัมหมัด คือ การแสดงออกว่าเขาต่อต้านคำสั่งของผู้ปกครอง เป็นเสรีภาพที่แลกกับอิสรภาพในชีวิต แต่ทรงผมนี้คงอยู่ไม่นาน สุดท้ายแล้วเขาก็จะตัดผมแบบเดียวกับผู้ชายกาซาคนอื่น ๆ เพื่อใช้ชีวิตได้ตามปกติ ผ่านเวลามากี่ยุคกี่สมัย วันนี้ในหลายประเทศทรงผมยังไม่เคยเป็นสิทธิที่เจ้าของจะผูกขาดการตัดสินใจได้อย่างแท้จริง

 

TOP การเมือง
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ