คุก 5 ปี วิ่งเต้น ตีตั๋วแต่งตั้ง ซื้อขายเก้าอี้ กฎเฮี้ยบ 'ปฏิรูปตำรวจ' ครม.ผ่าน ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ดันเข้าสภาฯ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ….ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงแก้ไข และให้เสนอรัฐสภาฯ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 19 มกราคม คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และให้เสนอรัฐสภาต่อไป

ผ่าตัดใหญ่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ สกัดแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม

'วิชา' เบรกพ.ร.บ.ตำรวจฉบับผ่านครม.จี้นายกฯทบทวน รับไม่ได้ เรื่องแต่งตั้ง - สอบสวน

มติครม.ให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบ ว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ให้ส่งความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนไปยังคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อประสานการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการของรัฐสภาต่อไป 

เปิดสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ….

"เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง สคก. ได้ปรับปรุงให้เป็นไปตามมติที่ประชุมร่วมที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  เป็นประธาน โดยได้เพิ่มบทเฉพาะกาลไว้ในร่างมาตรา 166 วรรคท้าย เพื่อเร่งรัดให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร. กำหนดการประเมินความพึงพอใจในการบริการประชาชนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และตัดร่างมาตรา 152 วรรคสอง ออก ตามความเห็นของกะทรวงการคลัง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 แล้ว รายละเอียดดังนี้  

  • โอนภารกิจ - ให้อำนาจก.ตร.เพิ่มภารกิจ อำนาจหน้าที่ตำรวจ

1. หน้าที่และอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.)

กำหนดหน้าที่และอำนาจของ ตช. ไว้เช่นเดิม แต่มีการกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของ ตช. ได้แก่ ภารกิจของกองบังคับการตำรวจรถไฟ ภารกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภารกิจงานจราจรเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการจราจร การกวดขันวินัยจราจร และการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกในความผิดฐานจอดรถโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไปให้แก่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้นโดยตรงรับไปดำเนินการ และโอนอัตรากำลังนั้นไปปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นภารกิจหลักของ ตช. เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจของตำรวจสอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจอย่างแท้จริง และให้บริการ แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ในการรับโอนภารกิจไปดำเนินการ จึงมีการกำหนดระยะเวลาในการโอนภารกิจแต่ละภารกิจที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ กำหนดให้ ก.ตร. พิจารณาทบทวนหน้าที่และอำนาจของ ตช. หรือข้าราชการตำรวจในส่วนที่มีกฎหมายกำหนดให้ ตช. หรือข้าราชตำรวจมีหน้าที่เกี่ยวกับการอนุญาตหรือการจดทะเบียน โดยหากพิจารณาแล้วเห็นว่า ที่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้ ตช. หรือข้าราชการตำรวจมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวไว้ ให้รายงานเหตุผลและความจำเป็นต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อพิจารณา  

  • โครงสร้างเน้นโรงพักที่เป็นหน่วยบริการอำนวยความยุติธรรมโดยตรง

2.การแบ่งส่วนราชการของ ตช. อย่างน้อยต้องมีหน่วยงาน ดังนี้ กองบัญชาการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรภาค กองบังคับการตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรจังหวัด และสถานีตำรวจ เพื่อให้ความสำคัญแก่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการบริการและอำนวยความยุติธรรม แก่ประชาชนโดยตรง และกำหนดให้จัดอัตรากำลังให้แก่สถานีตำรวจและตำรวจภูธรจังหวัดตามลำดับให้ครบถ้วนตามกรอบอัตรากำลังก่อน รวมทั้งได้กำหนดระดับของสถานีตำรวจออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สถานีตำรวจ ที่มีผู้กำกับการ และสถานีตำรวจที่มีรองผู้กำกับการหรือตำแหน่งเทียบเท่า โดยคำนึงถึงปริมาณงาน ความหนาแน่นของประชากรในเขตรับผิดชอบ จำนวนอัตรากำลังและสถานที่ตั้งของสถานีตำรวจ เพื่อเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชน  

  • เขียนกฎแต่งตั้งชัด ลดการใช้ดุลพินิจ เปิดช่องร้องเรียนเรื่องโยกย้าย วิ่งเต้น ซื้อขายเก้าอี้ ตีตั๋ว มีโทษจำคุก 5 ปี ให้ความสำคัญพนักงานสอบสวน

3.การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ                     
3.1 แบ่งข้าราชการตำรวจออกเป็น 2 ประเภท คือ ข้าราชการตำรวจที่มียศ และข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศ 
3.2 แบ่งสายงานออกเป็น 5 กลุ่มสายงาน คือ กลุ่มสายงานบริหาร กลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน กลุ่มสายงานสอบสวน กลุ่มสายงานป้องกันและปราบปราม และกลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ เพื่อให้เกิดการสร้างความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในแต่ละสายงานและเป็นการสร้างความก้าวหน้าในสายงานนั้น ๆ  
3.3 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายว่าการจะแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดจะต้องเป็นข้าราชการตำรวจยศใด และเคยดำรงตำแหน่งใดมาแล้วจำนวนกี่ปี และในการแต่งตั้งจะต้องคำนึงถึงความอาวุโสในการดำรงตำแหน่ง ความรู้ความสามารถที่มีผล ต่อการปฏิบัติงาน และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ และมีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน เพื่อเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาและทำให้ข้าราชการตำรวจสามารถมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน  

3.4 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งของสายงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้พนักงานสอบสวนสามารถเติบโตก้าวหน้าในสายงานตามความรู้ความสามารถได้   
3.5 กำหนดให้ข้าราชการตำรวจสามารถร้องทุกข์ ต่อ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. ในกรณีที่เห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเรียงลำดับอาวุโสหรือในการแต่งตั้ง

"รวมทั้งกำหนดบทลงโทษผู้ที่ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดหรือแอบอ้างอำนาจของบุคคลใด หรือเรียก รับ ยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือกระทำการใดอันมิชอบ เพื่อให้มีการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่ง โดยระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี"

3.6 กำหนดห้ามมิให้สั่งให้ข้าราชการตำรวจที่สังกัดสถานีตำรวจ หรือตำรวจภูธรจังหวัดไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการอื่น เว้นแต่ในคำสั่งนั้นจะสั่งให้ข้าราชการตำรวจอื่นมาปฏิบัติหน้าที่ในสถานีตำรวจแทน เพื่อให้ความสำคัญแก่หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนโดยตรง นอกจากนี้  หากผู้บังคับบัญชาผู้ใดรู้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มาปฏิบัติราชการติดต่อกันเกิน15วันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจผู้นั้น เพื่อให้การบริหารอัตรากำลังที่มีอยู่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  

  • มี 3 บอร์ดใหญ่ อัพไซส์ ก.ตร.ป้องกันการล็อบบี้ นายกรัฐมนตรียังมีอำนาจเหนือทุกคณะกรรมการ

4. คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ  หรือ ก.ตร.กำหนดให้มี ก.ตร.  ทำหน้าที่ทั้งในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารราชการตำรวจและกำกับดูแล ตช. ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติ มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบแบบแผน รวมทั้งกำหนดนโยบายและมาตรฐาน การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ และจัดระบบราชการตำรวจ กำกับดูแลการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจของผู้บังคับบัญชาทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และกฎ ก.ตร. โดยเคร่งครัด

ตลอดจนดูแลการเกลี่ยอัตรากำลังข้าราชการตำรวจไปให้สถานีตำรวจให้เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่และกำกับดูแลการจัดสรรงบประมาณให้แก่ส่วนราชการในหน่วยปฏิบัติให้เพียงพอ โดยมีนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการที่เป็นข้าราชการตำรวจ ได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และจเรตำรวจแห่งชาติ มีกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 5 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการ ก.พ. อัยการสูงสุด และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเลือกกรรมการ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิไว้ให้ชัดเจนในกฎหมาย รวมทั้งกำหนด ห้ามผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใดสั่งการ ข่มขู่ หรือชักจูงด้วยประการใด ๆ เพื่อให้เลือกหรือมิให้เลือกผู้ใดผู้หนึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นหลักประกันในการได้มาซึ่งกรรมการ ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นอิสระ โดยปราศจากการครอบงำหรือการแทรกแซง  

5. คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ กำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) เพื่อเป็นที่พึ่งของข้าราชการตำรวจในการปลดเปลื้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจที่เกิดจากผู้บังคับบัญชา โดยมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะต่อ ก.ตร. เพื่อให้ ก.ตร. ดำเนินการจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารงานบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ และพิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรม ซึ่ง ก.พ.ค.ตร. จะประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คนซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือก ก.พ.ค.ตร. และเป็นผู้ซึ่งสามารถทำงานได้เต็มเวลา เพื่อให้คณะกรรมการดังกล่าวมีความเป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและ ก.ตร.

6. คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ กำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำหรือไม่กระทำการของข้าราชการตำรวจอันมิชอบ หรือการประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมและเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ เพื่อเป็นกลไกในการปลดเปลื้องทุกข์ให้แก่ประชาชนอันเกิดจากข้าราชการตำรวจ โดย ก.ร.ตร. ประกอบด้วยประธานและกรรมการซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมจำนวน 9 คน และมี จเรตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ  

  • เป็นเนื้อเดียวกับท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นอุดหนุนงบประมาณ  

 7. การให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดระบบบริหารงานใน ตช. โดยกำหนดให้ ตช. จัดระบบบริหารงานให้เหมาะสมกับความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่นและชุมชน และกำหนดให้เงินอุดหนุนที่ อปท. จัดสรรให้แก่สถานีตำรวจให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจและกิจการในสถานีตำรวจนั้น โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา และการรักษาความสงบเรียบร้อยในท้องถิ่นหรือชุมชน กองบัญชาการตำรวจนครบาลหรือตำรวจภูธรจังหวัดจะจัดให้มีแผนหรือมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่นหรือชุมชน โดยในการจัดทำแผนหรือมาตรการดังกล่าวให้หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าสถานีตำรวจ อปท. และชุมชน และเมื่อ ก.ตร. และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนหรือมาตรการดังกล่าวแล้ว ให้ สงป. และ ตช. พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามแผนหรือมาตรการดังกล่าว

  • มีกองทุนให้ตำรวจมีงบฯทำงาน

8. กองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา จัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ 

  • ปรับบัญชีเงินเดือน แต่ไม่เพิ่มอัตราเงินเดือน

และ 9. บัญชีอัตราเงินเดือน ปรับปรุงบัญชีอัตราเงินเดือนให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในการ รับเงินเดือนของข้าราชการตำรวจ โดยตัดอัตราเงินเดือนขั้นต่ำในระดับที่ไม่ได้มีการรับในอัตรานั้นออก แต่ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนแต่อย่างใด

ห๊า อะไรนะ...ปฏิรูปตำรวจอีกละ

TOP การเมือง
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ