ครม.ทุ่มงบหมื่นล้าน จ่าย 4 ด้าน ตรวจ รักษาโควิด ผลข้างเคียงวัคซีน อนุมัติ 1.5 พันล้านจ่ายอสม.


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ครม. ไฟเขียววงเงิน 10,569 ล้านบาท ค่าบริการสาธารณสุขภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มค่าบริการรักษาอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิด-19

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ได้อนุมัติโครงการบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  กระทรวงสาธารณสุข กรอบวงเงิน 10,569.8283 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ สถานพยาบาลที่ให้บริการสาธารณสุขโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือโควิด-19  ในการตรวจคัดกรองและรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วยค่าใช้จ่าย  

สปสช. พร้อมจ่ายหากได้รับความเสียหายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19

สำรวจตปท.ชดเชยผลข้างเคียงวัคซีนโควิด-19

นายอนุชา เผยว่า ค่าใช้จ่ายประกอบด้วย

1.ค่าบริการป้องกันการติดเชื้อ 6,353.1980 ล้านบาท สำหรับค่าบริการตรวจคัดกรอง ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งในรูปแบบ RT-PCR, Pooled RT-PCR, Pooled saliva , Antibody, Antigen  ในการคัดกรองผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ  รวมทั้งการตรวจคัดกรองเชิงรุก การตรวจก่อนทำหัตถการ  การตรวจในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง  การตรวจใน Hospitel และการตรวจเพื่อการเฝ้าระวังโรค

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพการตรวจสูงสุดที่ 50,000 รายต่อวัน

2.ค่าบริการรักษาผู้ป่วย 3,417.30 ล้านบาท สำหรับผู้ป่วยคนไทยและผู้ป่วยใน State Quarantine รวมทั้งปรับเพิ่มสัดส่วนการเข้ารับการรักษาใน Hospitel และสัดส่วนการรับส่งต่อโรงพยาบาลกับ Hospitel  และระหว่างบ้าน ด่านตรวจคนเข้าเมือง และสนามบินมาโรงพยาบาล

3.ค่าบริการฉีดวัคซีน จำนวน 760 ล้านบาท โดยกระทรวงสาธารณสุขขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมเป็น 40 บาทต่อครั้ง จากเดิม 20 บาทต่อครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าวัคซีนทั่วไป รวมทั้งต้องใช้บุคลากรมากกว่าการฉีดวัคซีนอื่น

4.ค่าบริการรักษาอาการไม่พึงประสงค์ จำนวน 30.0133 ล้านบาท และค่าตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะ VITT จำนวน 9.2800 ล้านบาท เพื่อรองรับการจัดบริการรักษาพยาบาลสำหรับประชากรสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้รับผลกระทบข้างเคียงจากวัคซีนโควิด-19 โดยอ้างอิงอัตรารักษาตามมาตรฐานในระบบของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

“ทั้งนี้ เป็นโครงการที่ลงทุนให้บริการตรวจคัดกรองหรือป้องกันไม่ให้เกิดการติดโรค  ซึ่งจะช่วยลดภาระงบประมาณของประเทศในภาพรวมด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยซึ่งมีค่าใช้จ่ายต้นทุนการบริการที่มากกว่า รวมถึงยังเป็นหลักประกันทางสังคมด้านสุขภาพสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย” โฆษกรัฐบาลกล่าว 

นอกจากนี้ นายอนุชา  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และค่าเสียงภัย ให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ต่อไปอีด 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ค. - ก.ย.64 ในกรอบวงเงินไม่เกิน 1,575 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายลง 

TOP การเมือง
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ