ฝันเดียวสู่นักการเมือง “ชวน หลีกภัย” เจ้าของฉายา “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง” เผยเส้นทางตลอด 52 ปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กาแฟดำ กับ สุทธิชัย หยุ่น พูดคุยกับ คุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรคนปัจจุบัน ในอดีตเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีหลายกระทรวง และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร วันนี้จะมาเล่าถึงเหตุการณ์ที่ประทับใจ ตลอดเวลาที่เป็นนักการเมือง ในช่วง 52 ปีที่ผ่านมา

“ชวน หลีกภัย”คว้าประธานสภาฯ

"ชวน หลีกภัย" ต่อสายตรงถึงประธานสภาฯจีน ดีลวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ให้คนไทย

"ชวน หลีกภัย" ประธานสภา กรีดเบาๆ ปมนายกฯจวก "สิระ" พา "ลุงพล" แถลงสู้คดีน้องชมพู่

ชวน เล่าว่า เมื่อตอนครั้งสำเร็จเป็นเนติบัณฑิต เพื่อนร่วมรุ่น 115 คน ส่วนใหญ่ไปเป็นพิพากษา และอัยการ แต่ตนเป็นคนเดียวที่ตัดสินใจเป็นนักการเมือง  ผู้ใหญ่ที่หวังดีถามว่าทำไมคิดสั้น  เพราะรัฐธรรมนูญในสมัยนั้น ห้าม ส.ส.เป็นรัฐมนตรี และบ้านเมืองปกครองด้วยทหาร ในยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาจนถึงยุคจอมพล ถนอม กิตติขจร

ในสมัยที่เรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีตนเดียวที่ไปฟังสภาประชุม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเริ่มสนใจการการเมืองมาตั้งแต่ตอนที่เรียน

โดยเมื่อเรียนจบ และไปสอบเป็นนติบัณฑิตได้ จึงตัดสินใจว่าขอรอรัฐธรรมนูญ เพื่อสมัครเป็นผู้แทนราษฎร แม้ตอนนั้นจะยังไม่รู้ว่าในอนาคตรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นอย่างไร

“ไม่กล้าบอกพ่อแม่ จนกระทั่งรัฐธรรมนูญออก เมื่อตัดสินใจสมัครผู้แทนถึงกล้าไปบอก ก่อนหน้านั้นเป็นทนายหาเงิน ดูแลน้องคนหนึ่ง และเลี้ยงน้องอีกคนหนึ่ง แม่ไม่รู้ความหมายผู้แทนคืออะไร แต่พ่อเป็นครู ท่านก็รู้ ก็แปลกใจ แต่ไม่ได้ห้ามนะครับ แต่แปลกใจเมื่อผมบอกว่าไม่สอบเป็นผู้พิพากษานะ ผมจะขอสมัครเป็นผู้แทนราษฎร ท่านก็แปลกใจ เพราะคงไม่อยู่ในความคิดของท่าน ว่าลูกจะคิดสมัครผู้แทนราษฎร”

 

ฉายา “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง” เพราะกล้าวิจารณ์ตรงไปตรงมา แต่สุภาพ

กล้าพูดในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าพูด ไม่ได้หยาบคาย แต่เป็นการวิจารณ์ เช่น เรื่องราชการลับ และทหาร ก็จะวิจารณ์ตรงไปตรงมา เป็นคนพูดสุภาพเรียบร้อย แต่อะไรไม่ถูกต้องก็กล้าท้วงติง ฉะนั้นสื่อจึงเรียกตนว่า มีดโกนอาบน้ำผึ้ง  เพราะวิจารณ์สุภาพด้วยถ้อยคำไม่หยาบคาย ตรงไปตรงมา ซื่อตรงสุจริต ทำให้สามารถพูดอะไรได้เต็มปาก

เดิมมีพื้นฐานเป็นลูกครู คนบ้านนอกพูดหยาบนิดหน่อยก็ถูกต่อว่าได้ โดยพฤติกรรมส่วนตัวไม่ได้เป็นคนที่พูดจาหยาบคาย เวลาพูดกับคนขับรถ คนทำความสะอาด ใช้คำว่า ผม,คุณ ยกเว้นเพื่อนสนิทก็อีกเรื่องหนึ่ง

อยากให้เด็กไทยมีโอกาสเรียนหนังสือ เหมือนที่ตัวเองเคยได้รับโอกาส

ตนโชคดีที่มีพ่อเป็นครู ได้เรียนในวัดอมรินทราราม เพราะประหยัดค่าหอพัก ได้กินมื้อเช้าหลังหลวงพี่ฉันท์เสร็จ ซึ่งเป็นหนี้บุญคุญที่ไม่มีโอกาสลืมได้ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งพอได้มีโอกาสมาเป็นนักการเมือง จึงได้คิดย้อนกลับไปว่า วัดไม่ได้มีมากพอให้เด็กไทยได้อยู่ ดังนั้นพอจะมีทางไหนที่ทำให้เด็กไทยได้มีโอกาสเรียน อย่างที่ตนมีโอกาส จึงกลายเป็นที่มาของการขยายโรงเรียน และมหาวิทยาลัย ไปต่างจังหวัด

สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ขยายมหาวิทยาลัยไป 11 จังหวัด โดยใช้วิธีตั้งเป็นมีวิทยาเขต จนต่อมาคิดเรื่องกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตอนนั้นมีเด็กที่ใช้เงินจากกองทุนเพียง 70,000-80,000 คน ล่าสุดวันนี้มีเด็กได้เรียนโดยใช้เงิน กยศ.จำนวนกว่า 6 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากความคิดทางการเมือง หรือแม้กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มีงบประมาณสนับสนุนจากเหล้าบุหรี่ ก็มาจากความคิดทางการเมืองเช่นกัน

“เวลาใครวิจารณ์เรื่องประชาธิปไตย ผมจะบอกเสมอว่า ในสายตาผมถ้าเราไม่มีประชาธิปไตย ก็ไม่มีคนอย่างพวกเรามาเป็นนักการเมือง ถ้ามีคนอย่างพวกเรา ความคิดอย่างนี้อาจจะไม่เกิด เพราะไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร เราเจอด้วยตัวเราเอง สมัยเราเรียนก็ต้องอาศัยวัดอยู่ ไม่มีเงินที่จะส่งเสีย เพราะพ่อแม่มีลูกหลายคน เพราะฉะนั้นทำอย่างไรลูกคนอื่นถึงจะไม่เจอปัญหาอย่างนี้ คำตอบก็คือต้องขยายโอกาสให้เขา นโยบายกระจายโอกาส กระจายรายได้ ถึงได้เกิดขึ้นในสมัยนั้น” 

 

อยากเป็นนักการเมือง เพราะได้พูดแทนชาวบ้าน

ความฝัน คือ อยากเป็นนักการเมือง เพราะอยากได้พูดแทนชาวบ้าน ขณะนั้นยังไม่ได้มีความคิดที่จะเป็นประธานสภา และนายกรัฐมนตรี ตอนที่หาเสียงครั้งแรก ได้ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดคนภาคใต้ต้องกินข้าวสารแพง เป็นเรื่องที่คนที่อื่นอาจไม่รู้  มีแค่จังหวัดพัทลุงที่ทำนา นอกนั้นต้องซื้อข้าวจากภาคกลาง จึงได้เริ่มสนใจปัญหาภาคใต้ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเริ่มจากนั่งรถคนเดียวไปที่จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส เพื่อไปดูสถานการณ์ ขณะนั้นไม่มีใครพูดไทยได้เลย ยกเว้นข้าราชการกับพ่อค้าในตลาด ส่วนหนึ่งสาเหตุที่สนใจ เพราะอ่านประวัติศาสตร์ ทำให้ได้รู้ถึงปัญหา จึงคิดว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญ แม้จะถูกห้ามไม่ให้เป็นรัฐมนตรี แต่หากได้เป็น ส.ส. ก็จะนำเรื่องเหล่านี้เข้าไปพูดคุยกับสภา

 

ปราศรัยหาเสียง ฉบับ ชวน หลักภัยใช้เหตุผลที่เป็นความเป็นจริง

 “สำคัญที่สุดคือการใช้เหตุผล ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ใช้เหตุผลที่เป็นความเป็นจริง ไม่พูดอะไรที่ไม่จริง สิ่งที่จริงนั้นก็มาดูว่ามาจากอะไร ศึกษาที่ไปที่มา ก็นำเหล่านั้นมาเล่าให้พี่น้องฟังด้วย ความไม่เยิ่นเย้อโดยไม่จำเป็น เรียงลำดับเรื่องให้เขาฟังว่ามันมาอย่างไรเรื่องนี้ และอธิบายให้คนฟังด้วยถ้อยคำธรรมดา ๆ แต่ว่าถ้อยคำเหล่านั้นมันมีความหมาย คือถ้าเราสามารถที่จะใช้ถ้อยคำที่คนทั่วไปเข้าใจได้ และก็ทำให้เข้าใจโดยไม่เยิ่นเย้อเกินไป คนก็ไม่เบื่อ

หาเสียงครั้งแรก มีคนมาฟังเพียง 8-9 คน ก่อนจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนวันสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง มีคนมาฟัง 20,000 คน ตนจะปราศรัยโดยใช้วิธีการเล่าให้คนฟัง ว่าเหตุใดถึงต้องมาสมัครผู้แทนราษฎร ส่วนคำที่แรง ๆ ที่เคยใช้ เช่น “เราจะขอเข้าไปสู้กับพวกนายทหารพุงป่อง” คนก็ชอบใจว่าตนกล้าพูด และไม่ใช้คำด่าหยาบคาย ต้องทำให้เขาเห็นว่าทำไมต้องกินข้าวสารแพง และจะแก้ได้ด้วยวิธีอะไร ซึ่งทำให้คนเริ่มสนใจปัญหาของเขาเอง และอย่าโกหกเขา ตนอยู่มาได้ทุกสมัย เพราะไม่โกหก “อะไรที่ทำไม่ได้ก็บอกว่าทำไม่ได้ อะไรที่ทำได้ก็ทำได้”

รับชมรายการย้อนหลังได้ที่ กาแฟดำ

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP การเมือง
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ