สภาฯ รับหลักการ “อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน” เป็นอาชญากรรมร้ายแรง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเอกฉันท์ รับหลักการ 4 ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย แล้ว หลังภาคประชาชนพยายามผลักดันมาร่วม 10 ปี ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน ในจำนวนนี้มี นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน และภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่ถูกบังคับสูญหาย ร่วมเป็นกรรมาธิการด้วย

"จุรินทร์" แง้ม เลือดเก่า ปชป. จ่อไหลกลับพรรคเพียบ

"บิ๊กป้อม" ประชุมพลังประชารัฐ ไม่ปรับ "ธรรมนัส - นฤมล" ขอให้ ส.ส.รักกัน เตรียมเลือกตั้ง "บิ๊กตู่" ส่...

ภายหลังจากใช้เวลาอภิปรายแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเอกฉันท์ 368 ต่อ 0 เสียง รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมายฉบับนี้รวม 25 คน

ในจำนวนนี้ มีทั้งนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตผู้สูญเสียสามี คือ ทนายสมชาย นีละไพจิตรจากการบังคับให้สูญหายหรืออุ้มหาย ที่มีจำเลยในคดีเป็นตำรวจทั้งหมด ซึ่งนางอังคณา เข้ามาเป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเสรีรวมไทย 

นอกจากนี้ ยังมี นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักเคลื่อนไหว เป็นกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย นายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมาธิการในสัดส่วนพรรคพลังประชารัฐ นายรังสิมันต์ โรม โฆษก กมธ.การกฎหมายฯ และ น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้จัดการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล

 

นายรังสิมันต์ โรม ในฐานะโฆษกกรรมาธิการการกฎหมายฯ ระบุว่า การอุ้มหาย และซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้กฎหมายฉบับนี้ได้รับความสนใจและให้ถูกให้ความสำคัญ และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องว่าเป็นวาระสำคัญและร่วมกันผลักดันจนสำเร็จ มั่นใจว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะสามารถผ่านวาระ 3 ได้ภายในปีนี้ และสมาชิกวุฒิสภาจะช่วยผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า  เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด 

โดยหลังเสนอชื่อยังคงมีการถกเถียงว่าร่างกฎหมายที่จะใช้พิจารณาจะใช้ร่างฉบับใด ระหว่างร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี กับร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายฯ ที่สภารับหลักการในวันนี้ทั้ง 4 ร่าง เป็นกฎหมายที่มุ่งเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดฐานซ้อมทรมาน กระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ อุ้มหาย โดยยกระดับเป็นอาชญากรรมร้ายแรงและเป็น "คดีพิเศษ" สามารถเอาผิดฐานฆาตกรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ก่อเหตุได้ แม้ไม่พบศพก็ตาม เพราะกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดให้การเอาผิดฐานฆาตกรรมจะต้องพบศพเท่านั้น กลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้การอุ้มฆ่าและทำให้ศพหายไป  จะเอาผิดผู้ก่อเหตุได้ยาก หรือหากเอาผิดได้ก็เป็นโทษที่ไม่หนัก ซึ่งคดีเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับนักเคลื่อนไหวและชาวบ้านที่ตกเป็นคู่กรณีเจ้าหน้าที่รัฐ และมีเจ้าหน้ารัฐตกเป็นจำเลยในคดี  

แต่ก็ยังมีสาระสำคัญที่แตกต่างกันในประเด็น "อายุความ" โดยในร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ให้นับอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา คือ 20 ปี  ขณะที่ร่างที่เสนอโดยกมธ.การกฎหมายฯ กำหนดให้ไม่นับอายุความ

ซึ่งประเด็นทั้งหมด จะเปิดให้ ส.ส. และกรรมาธิการ แปรญัตติภายใน 7 วัน และเป็นที่น่าสังเกตว่าที่ประชุมไม่ได้มีการกำหนดกรอบเวลาการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้ว่าจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกี่วัน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาและข้อกังวลที่ทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ผ่านสภาฯตลอดกว่า 10ปีที่ผ่านมา ทั้งที่ไทยได้ลงนามตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ โดยรับรองให้การอุ้มหายเป็นอาชญากรรมร้ายแรงมานานแล้ว  

TOP การเมือง
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ