เปิดใจ “วีรศักดิ์ นิลกลัด” จากนักพากย์กีฬามาสู่คอมเมนเตเตอร์รายการดัง “กิ๊กดู๋สงครามเพลงเงินล้าน”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




“วีรศักดิ์ นิลกลัด” นักพากย์กีฬาชื่อดังที่สามารถนำกีฬาและการวิเคราะห์เพลงมาประยุกต์รวมกัน จนเกิดภาพจำในฐานะคอมเมนเตเตอร์

เช้าวันนี้ ( 14 ม.ค. ) นักพากย์กีฬาชื่อดัง “แอ๊ด วีรศักดิ์ นิลกลัดมาเยือนรายการ “บางกอกซิตี้ เลขที่36” และได้เปิดใจครั้งแรกกับการทำงานในบ้านหลังใหม่ “พีพีทีวี เอชดี ช่อง36” นอกจากนั้นนักพากย์คนดัง ยังได้แชร์ประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการกีฬากว่า 39 ปี และกับอีกหนึ่งหน้าที่ที่ดูเหมือนจะสวนทางกันกับอาชีพหลักอย่างการคอมเมนเตเตอร์รายการดัง “กิ๊กดู๋สงครามเพลงเงินล้านแต่ท้ายที่สุดเขาก็พิสูจน์แล้วว่ากีฬาและบันเทิงสามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้

“พี่แอ๊ด” เข้าวงการมา 39 ปีแล้ว
“ตั้งแต่เรียนจบเลยทำงานด้านกีฬานะครับ เริ่มจากการเป็นนักข่าวกีฬาก่อน ผมเรียนจบพละศึกษาด้านกีฬาเลยเพราะมีความชอบกีฬาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็เริ่มต้นจากชอบกีฬาแล้วก็ที่บ้านมีค่ายมวยอยู่ที่ต่างจังหวัด แต่ว่าไม่ได้เป็นนักมวย แต่ก็ชอบเล่นกีฬาครับ ซึ่งมวยก็คือฝึกเพราะว่าผู้ใหญ่เขาให้ฝึกก็คือฝึกได้ แต่พอเรียนแล้วก็เล่นฟุตบอลเป็นหลัก สมัยก่อนไม่มีฟุตบอลอาชีพบ้านเรา ก็เล่นเพื่อออกกำลังกาย เล่นเป็นตัวแทนนักเรียน”

แล้วเข้าวงการมาได้ยังไง
“เริ่มจากจบพละศึกษาแล้วเจ้านายที่สยามสปอร์ตก็ชวนมาทานด้านหนังสือพิมพ์ด้วยกัน ซึ่งพี่ชาย ( พิษณุ นิลกลัด ) นั้นทำงานอยู่แล้ว ก็เลยได้เริ่มเลย ตอนแรกๆเขียนหนังสือพิมพ์ ไปดูกีฬาแล้วก็รายงานทางโทรศัพท์ แล้วก็มีวิเคราะห์บ้าง คือสมัยก่อนนั้นโลกสื่อสารมันยังแคบอยู่ หนังสือพิมพ์คนจะอ่านกันเยอะ”

ถ้าไม่ได้เป็นนักพากย์ “พี่แอ๊ด” จะไปทำอาชีพอะไร
“ก็ทำหนังสือพิมพ์เกิน 10 ปี 12 ปีได้ แล้วหลังจากนั้นเจ้านายบอกว่าพี่ชายคุณไปทำงานแล้วนะครับ ที่ช่องเดิมที่เคยทำ คุณน่าจะไปนะเพราะเสียงคล้ายกัน คือเสียงที่คล้ายกันขนาดที่ตอนคุณแม่ดูทีวีได้ ยังถามว่าอ้าวเมื่อสักครู่ยังเห็นอยู่ในทีวี มาได้ยังไงเนี่ย เราก็บอกว่าคนละคนกัน แม่ยังจำเสียงไม่ได้ ผมว่าเสียงเหมือนกันตอนแรกๆ แต่ว่าถ้าฟังไปเรื่อยๆอาจจะไม่เหมือน”

ก็เลยตามพี่ชายไปด้วย
“ครับ จากหนังสือพิมพ์ก็ตาม ทีวีก็ตาม เพราะว่าทางช่องเดิมเขาให้ทำรายการของคุณพิษณุ รายการยอดมวยเอกในอดีตนะครับ มวยที่ถ่ายทำมาแล้วก็นำมาออกอากาศ ผมเป็นคนทำสคริปต์ คุมทีมไปถ่าย มาตัดต่อ ทำเบื้องหลังอยู่ประมาณ 4-5 ปี หลังจากนั้นผู้ใหญ่ที่ช่องเดิมเมตตาบอกว่าให้ลองพากย์กีฬา พากย์กีฬานี่ยังไม่เห็นหน้า ตามต่างจังหวัดนี่มีแต่เสียง ก็ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ จนผู้ประกาศข่าวกีฬาไปเป็นผู้ประกาศข่าวทั่วไป ผมก็เลยได้มีโอกาส”

แต่พอมาเป็นคอมเมนเตเตอร์ดูเป็นดาราขึ้น
“เมื่อปี 2553 ย้อนหลังไป 9 ปี ทางเจเอสแอลจะทำรายการกิ๊กดู๋สงครามเพลง เรื่องเพลงผมฟังได้ ร้องเพลงไม่ทราบเลย ปรบมือยังไม่เข้าจังหวะเลยครับ คือถ้าร้องเพลงก็ร้องเป็นนักร้องนำ นำดนตรี นำไปก่อน วิชาขับร้องสมัยเรียนนี่ไม่ชอบเลย ถามทางผู้ใหญ่เจเอสแอลทำไมเลือกผม เขาบอกว่ามันมีการแข่งขันประชันเสียงกันของชุมชน เหมือนวันนี้ที่ทุกวันอังคาร ก็อยากให้ผมใช้ภาษากีฬาไปเปรียบเทียบ ก็โยงภาษากีฬาเข้าไปกับการแข่งขันเพลงประชันเสียงกัน  ซึ่งผมอยู่ตั้งแต่เทปแรกจนถึงปัจจุบันนี้ บ้านเดิมแล้วมาบ้านใหม่ครับ แต่ว่าผมก็ได้ประโยชน์คือได้อยู่กับแวดวงนักร้องนักแต่งเพลง มันมีประโยชน์กับเรา ทำให้เรากว้างขึ้น ทราบเรื่องเพลงบ้าง เมื่อก่อนเราไม่ทราบเลยว่าลูกคอเป็นยังไง นาสิกเสียงออกจมูกเป็นยังไง เขาใช้คอมเมนต์เตเตอร์แข่งขันกัน ผมคนเดียวที่ไม่แข่ง อย่าแข่งเลยครับ ไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่ผมชอบนะเดี๋ยวนี้เพลงก่อนทำรายการเขาจะส่งเพลงของนักร้องต้นฉบับมา เราก็ต้องดูต้องฟังด้วยว่าเสียงเขายังไง”

มันแตกต่างจากกีฬายังไงบ้าง
“แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงก็ว่าได้ กีฬาเราเห็นเราก็บรรยาย แต่นี่พอจบแล้วเราฟังแล้วก็ต้องวิเคราะห์ ทำการบ้านค่อนข้างหนัก เพราะต้องต่อปากต่อคำกันนะครับ จริงๆผมกับเพื่อนฝูงจะพูดอำ พูดล้อ พูดแซวกัน ผมเป็นคนกันเองนะครับ แต่ว่าบางครั้งอาจจะมีซีเรียสบ้างกับงาน ต้องจริงจังกับงาน เพราะเราถือว่ารุ่นใหญ่แล้วในวงการ รุ่นหลังเขาขยับมาเราก็ต้องอยู่ให้ได้”

ทำการบ้านหนักยังไงบ้าง
“ก็ทราบว่านักร้องต้นฉบับเป็นใคร เขาก็ส่งเพลงมาทางไลน์ให้เราฟังเพลงนี้จะใช้ประกวดใช้แข่งขัน เราก็ฟังย้ำบ่อยๆ เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ในวันจริง บางครั้งก็ถามคนที่เขาชำนาญอย่าง คุณชมพูฟรุตตี้ , คุณตั๊ก ศิริพร , คุณไก่ สมพล , คุณดีเจต้นหอม เผมก็ถามว่าเสียงอย่างนี้โอเคไหม หมายถึงก่อนเข้ารายการนะ เอกลักษณ์เขาคืออะไรนักร้องคนนี้ แล้วเรานำที่เขาแนะนำมาใช้ในวันบันทึกเทป เพราะถ้าไม่เข้าใจก็จะดูไม่ออก  แล้วรายการนี้เป็นรายการที่ไม่มีสคริปต์ สดๆหน้างานเลย”

รุ่นใหม่เกิดขึ้นเยอะมาก

โลกของโซเชียลตอนนี้มันไปไกล ผมเกิดในยุคยังเป็นโลเทคฯ ก็ต้องอยู่ให้ได้ อย่าตกข่าว งานทุกอย่างก็ต้องมีการทำการบ้าน หาข้อมูลที่จะไปบรรยายหรือว่าทำอะไรก็แล้วแต่ แม้กระทั่งการเขียนบทความ ต้องอย่าให้พลาด อย่างหนึ่งคือแม้ว่าเราจะรุ่นเก่าแล้ว แต่ว่าต้องไม่อายที่จะถามถ้าเราไม่ทราบ ต้องถามน้องๆที่เขาเจาะลึก แล้วเราก็นำมาปรับมาเพิ่มเติม ต้องไม่อายที่จะถามจากผู้รู้ผู้ทราบ”

มีเพจที่แฟนคลับทำให้ด้วย
“จะบอกว่าเป็นเพจที่เขาทำให้หรือเขาทำเองเพื่อประโยชน์ของเขารึเปล่าไม่ทราบ แต่ว่าไม่ได้เดือดร้อนเรานะครับ แต่ผมไม่มีเพจเลยนะครับ”

โดยส่วนตัวไม่มีเพจ ที่เห็นคือคนอื่นทำ โกรธไหมถ้าเขาทำหาผลประโยชน์
“ใหม่ๆเราไม่ค่อยติดตามโซเชียลด้านนี้อยู่แล้ว แต่ลูกสาวไปเห็น “วีรศากดิ์” ไม่ใช่ “ศักดิ์” นะ เขาใช้สระอา คือตอนที่อยู่ช่องเดิม มีผู้ประกาศข่าวคนหนึ่งก็โดนใช้ชื่อเหมือนกัน เขาจะไปแจ้งหน่วยงานทางด้านคอมพิวเตอร์เหมือนกัน บอกว่าพี่แอ๊ดไปแจ้งสิ เพราะไม่รู้ว่ามันเสียหายแก่เรารึเปล่า บอกว่าไม่เป็นไร เพราะว่าให้เพื่อ ลูกเช็คดูว่ามันเป็นผลเสียแก่เราไหม ไม่เป็นไรถ้าเป็นช่องทางที่เขาจะต่อยอดหรือเป็นช่องทางทำมาหากินก็ไม่เป็นไร เดิมคิดว่าเป็นคนใกล้ตัวนะครับ เพราะทราบว่าแต่ละวันเราจะไปพากย์ที่ไหน จนผมสงสัยว่าเขาทราบได้ยังไง สุดท้ายรู้ว่าเขาเป็นรุ่นน้องที่ไม่ได้รู้จักกับเราส่วนตัวนะ ตั้งแต่มัธยม จนจบมหาลัย จนตอนนี้ก็ยังทำอยู่แล้วก็ได้รับความนิยม”

เพจ “วีรศากดิ์ นิลกาด” มีเป็น 10 เพจเลย
“เพิ่งทราบจากทีมงานนะครับว่าเป็น10 ตอนแรกคิดว่ามีแค่ 2 เคยไปทำงานต่างจังหวัดหลายปีละตอนเพจออกมาใหม่ๆ เจอน้องๆวัยรุ่นไปเที่ยวกลางคืน เขาบอกว่าอยากเจอตัวจริงมานานแล้ววีรศากดิ์ๆ เราไม่เข้าใจ ผมไม่ค่อยเล่นโซเชียลไลน์นี่จะตอบเฉพาะงานบ้าง เพื่อนๆในกลุ่มบางทีเป็นพันๆไลน์”

อย่างนี้กฎกติกาเข้าใจยาก กีฬามันมีเยอะมาก
“ผมโชคดีที่เรียนพละศึกษาก็เรียนกีฬาเกือบทุกอย่าง แต่ว่าไม่ได้เล่นได้ทุกอย่างนะ กฎกติกาอะไรต่างๆต้องทราบ แล้วเค้าจะมีการปรับเปลี่ยนวิวัฒนาการด้วย เราก็ต้องตามให้ได้ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวสื่อสารให้คนดูแล้วถ่ายทอดไม่ได้”

นักฟุตบอลแต่ละคนชื่อยากและมีประเทศด้วย
“ถ้ากรีซนี่ยากมาก ชื่อนักฟุตบอลบางครั้งเราเรียกชื่อง่าย ชื่อหน้า แล้วชื่อหลังก็ยาว เราก็เรียกชื่อหน้าเพื่อให้คล่องปาก ให้ง่ายต่อการบรรยาย ต้องทราบ ต้องรู้ตลอดเวลา

แล้วอย่างงี้ต้องมีทีมที่ชอบ
“มีครับ ลิเวอร์พูลครับ”

สมมุติทีมที่เราไม่ชอบแต่เล่นไม่ดีวันนั้นแต่เราต้องพากย์ ลำเอียงได้ไหม
“ไม่ลำเอียงๆ หัวใจสำคัญของการบรรยายก็คือต้องกลางที่สุดแม้ว่าหน้าเราจะไม่กลาง เขาไม่เห็นหน้านะครับ แต่ว่าเสียงต้องเป็นกลางที่สุด บางทีเท้าเตะโต๊ะก็มี เพราะว่าลุ้นไปด้วย”

ถามเหตุผลได้ไหมว่าทำไมถึงย้ายมาอยู่ “พีพีทีวี”
“คือผมฟรีแลนซ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ อาชีพอิสระร้อยเปอร์เซ็นต์ เริ่มทำงานทีวีที่เดิมก็เป็นฟรีแลนซ์อยู่แล้ว แต่ทุกคนคิดว่าผมเซ็นสัญญา แต่คือมีสัญญาที่ใจ แล้วเราคนกีฬางานกีฬามาทั้งชีวิต พอที่เดิมกีฬาน้อยลงแล้วมีที่อื่นที่กีฬาเยอะๆ ผมก็เลยต้องเลือก ให้ไปทำบันเทิง ทำการเมืองคงไม่ไหว”   ( ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ใจรักกีฬา “วีรศักดิ์ นิลกลัด” โดดร่วมงาน “พีพีทีวี”

ปกติ “พี่แอ๊ด” จะไม่ค่อยพูดถึงครอบครัวเท่าไหร่

“ผมมีลูกสาว 2 คน โตแล้วครับ เรียนจบแล้ว เป็นนักกีฬาโปโลน้ำทีมชาติ ได้เหรียญทองทีมชาติ 2 คนเลยครับ ผมก็ไม่ได้บังคับเขา สมัยเด็กๆกลัวลูกไปเล่นน้ำแล้วว่ายน้ำไม่เป็นเลยให้ไปเรียนว่ายน้ำ แล้วแข่งว่ายน้ำตั้งแต่เด็กๆ 6-7 ขวบ คุณแม่เขาพาไปแข่ง แล้วหลังจากนั้นพอว่ายน้ำคู่แข่งเยอะ นักว่ายน้ำเยอะมาก เราไม่ได้ขึ้นไปถึงสูงสุด โค้ชเขาบอกว่าเปลี่ยนมาเล่นโปโลน้ำไหม (เคยพากย์ลูกตอนลูกไปแข่งไหม )
เคยครับ”


ติดตามรายการ บางกอกซิตี้ เลขที่ 36 ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.45 – 10.30 น. ทาง พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36

 

 

 

TOP ข่าวบันเทิง
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ