ความหวังมวลมนุษยชาติ วัคซีนโควิด-19 “BNT162”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




Pfizer บริษัทยาสหรัฐอเมริกา และ BioNTech SE บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพเยอรมนี ร่วมกันพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จนใกล้ถึงความสำเร็จ

เกือบ 1 ปีที่ผ่านมานับแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกพยายามพัฒนาคิดค้นยารักษารวมถึงไวรัสป้องกันโรคโควิด-19 จนในที่สุดก็ดูเหมือนว่าจะมีแสงแห่งความหวังขึ้นมาแล้ว ด้วยวัคซีนโควิด-19 “BNT162” พัฒนาโดย Pfizer บริษัทยาสหรัฐฯ ร่วมกับ BioNTech บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพเยอรมนี

คู่รักนักวิจัย เบื้องหลังความสำเร็จวัคซีนโควิด-19 ของ Pzifer และ BioNTech

รับวัคซีนโควิด-19 ได้ผล 90% ดันดาวน์โจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้นกว่า 1,500 จุด

กว่าจะเป็น “BNT162”

กลางเดือนมีนาคม 2020 ช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นในหลายประเทศ ดดยเฉพาะประเทศแถบอเมริกาและยุโรป ทำให้บริษัท Pfizer ประกาศวางแผนรับมือโควิด-19 โดยประธานบริษัทและซีอีโอออกมาเรียกร้องให้อุตสาหกรรมด้านยา เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีชีวภาพทั่วโลกร่วมมือกันต่อสู้กับโรคระบาด

ต่อมา บริษัท Pfizer ประกาศจับมือกับบริษัท BioNTech SE เพื่อร่วมกันพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยจะต่อยอดการใช้ mRNA ของ BioNTech จากการต้านมะเร็ง มาใช้ต้านโควิด-19 แทน

ต้นเดือนเมษายน Pfizer และ BioNTech SE ประกาศพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 โดยจะเริ่มการพัฒนาและทดสอบในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก และตั้งเป้าขยายขีดความสามารถในการผลิตเพื่อรองรับความต้องการทั่วโลก

จากนั้นปลายเดือนเมษายน เยอรมนีอนุญาตให้ Pfizer และ BioNTech SE ทำการทดสอบทางคลินิก วัคซีน BNT162 ในมนุษย์ได้ จากนั้นได้มีการยื่นเรื่องไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อดำเนินการทดสอบควบคู่กันไป

เมื่อได้รับอนุญาตให้ทำการทดสอบทางคลินิกได้ ทีมวิจัยไม่รอช้า การทดสอบทางคลินิกเฟส 1 ในเยอรมนี เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม โดยใช้วัคซีน BNT162 จำนวน 4 ชนิดที่แตกต่างกันในการทดสอบ

ส่งผลให้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2020 ผลทดสอบเฟส 1/2 ออกมาเป็นไปในทางบวก เป็นผลลัพธ์เบื้องต้นจากอาสาสมัครที่รับวัคซีน 4 ชนิด และตัดสินใจในอีก 2 สัปดาห์ถัดมาว่า วัคซีนชนิด BNT162b1 และ BNT162b2 มีความก้าวหน้ามากที่สุดจากทั้ง 4 ชนิด

วัคซีน BNT162 ทั้ง 2 ชนิดได้รับสถานะ Fast Track จากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ทำให้ทางบริษัทได้รับการผ่อนคลายกฎระเบียบจาก FDA ส่งผลให้การพัฒนาวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา

กระทั่งปลายเดือนกรกฎาคม Pfizer และ BioNTech SE ประกาศเริ่มต้นการทดสอบทางคลินิกด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพเฟสที่ 2/3 ในที่สุด และหลังจากผ่านไปไม่ถึง 2 เดือน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา บริษัทประกาศผลทดสอบเฟส 3 โดยพบว่า วัคซีน BNT162 มีประสิทธิภาพมากกว่า 90%

ทีมวิจัยรายงานพบหลักฐานว่า วัคซีน BNT162 สามารถต้านเชื้อโควิด-19 ได้ในอาสาสมัครที่ไม่เคยและไม่มีเชื้อในร่างกายจำนวน 43,538 คน การวิเคราะห์ประสิทธิภาพนี้ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลอิสระ (DMC)

“BNT162” ทำงานยังไง และมีความเสี่ยงหรือไม่?

วัคซีน BNT162 ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “messenger RNA” หรือ “mRNA” ซึ่งสามารถกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนได้

วิธีการทำงานของวัคซีนโควิด-19 ชนิดนี้ พวกเขาใช้สารพันธุกรรม mRNA เพื่อหลอกให้เซลล์ผลิตโปรตีนที่มีลักษณะคล้ายกับชิ้นส่วนของไวรัส ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายคนเราก็จะเรียนรู้และต่อสู้กับชิ้นส่วนไวรัสเหล่านั้น และตามทฤษฎีแล้วร่างกายจะตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อการติดเชื้อใด ๆ หลังจากได้รับวัคซีน

บริษัทเปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มี "ข้อกังวลด้านความปลอดภัยที่ร้ายแรง" แต่จะยังคงรวบรวมข้อมูลต่อไป ทั้งนี้ยังคงมีผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น เจ็บแขน หรือมีไข้ ซึ่งพบได้บ่อยในการฉีดวัคซีนทั่วไป

ไทยอาจไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 “BNT162” ?

ความท้าทายหนึ่งของวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ของ Pfizer และ BioNTech SE คือ “ปัญหาเรื่องการขนส่ง”

ทั้งนี้เนื่องจากวัคซีนชนิด mRNA จะต้องถูกเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เย็นเป็นพิเศษ ที่ราว -80 องศาเซลเซียส ในขณะที่ไฟเซอร์เร่งพัฒนาเครื่องรักษาอุณหภูมิพิเศษเพื่อขนส่งวัคซีน โดยติดตั้งเซ็นเซอร์ความร้อน แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าประชาชนจะได้รับวัคซีนที่ใดหรือผ่านใคร

แต่ด้วยปัญหาการขนส่งนี้ก็อาจจะพออนุมานในระดับหนึ่งว่า การจะจัดส่งวัคซีนโควิด-19 BNT162 มายังไทยนั้นอาจเป็นไปได้ยาก อาจต้องรอดูประเทศในแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งจองวัคซีนจาก Pfizer และ BioNTech SE ไว้ 120 ล้านโดสนั้น ประสบความสำเร็จในการขนส่งหรือไม่ และใช้ต้นทุนเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยที่ยังไม่รุนแรง มีผู้ติดเชื้อสะสมไม่ถึง 4,000 ราย อาจทำให้ไทยไม่อยู่ในสถานะประเทศกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 อย่างเร่งด่วน ความหวังของวัคซีนโควิด-19 สำหรับชาวไทยจึงอาจอยู่ที่นักวิจัยของไทยมากกว่า

 

เรียบเรียงจาก BBC / Pfizer / New York Times / The Guardian

ภาพจาก Getty Image

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ