“ระบบลูกโซ่ความเย็น” ขั้นตอนสำคัญขนส่งวัคซีนโควิด-19


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สำรวจขั้นตอนการขนส่งวัคซีนโควิด-19 ต้องใช้ระบบลูกโซ่ความเย็น ไม่ให้วัคซีนโควิด-19 สิ้นประสิทธิภาพ

ความหวังมวลมนุษยชาติ วัคซีนโควิด-19 “BNT162”

ข้อได้เปรียบวัคซีนโควิด-19 จาก “โมเดอร์นา”

แม้จะมีข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ทั้ง “BNT-162” ของไฟเซอร์ อิงค์ และ “mRNA-1273” ของโมเดอร์นา อิงค์ แต่ประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายกังวล คือเรื่องของการขนส่งวัคซีน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ไม่เช่นนั้นวัคซีนหลายล้านโดสที่ซื้อมาอาจกลายเป็นหมันเพราะสิ้นประสิทธิภาพ

ขั้นตอนการขนส่งวัคซีนปกติโดยทั่วไป เริ่มต้นที่ผู้ผลิต บรรจุวัคซีนในอุปกรณ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่มีภาวะเหมาะสม แล้วขนส่งมายังกระทรวงหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ แล้วกระจายต่อไปแบบเป็นขั้นตอน

เช่นในประเทศไทย กระบวนการโดยทั่วไปอาจเป็นดังนี้ คือเริ่มจาก ผู้ผลิตวัคซีนส่งวัคซีนมาทางสนามบิน ส่งต่อไปยังกรมควบคุมโรค ไปยังสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ไปยังโรงพยาบาลในอำเภอ/สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) หรือ สถานีอนามัย (สอ.) แล้วให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งในระหว่างขั้นตอนการขนส่งนั้น ต้องใช้รถห้องเย็น หรืออุปกรณ์ ที่สร้างสภาวะที่เหมาะสมกับวัคซีน

กว่าวัคซีนจะถึงผู้รับบริการนั้นมีการขนส่งกันในหลายระดับ หากไม่ได้รับการเก็บรักษาและจัดการที่เหมาะสม ก็จะทำให้วัคซีนที่นำมาให้บริการอาจเสื่อมสภาพจากความไม่รู้ได้ เช่นเดียวกับวัคซีนโควิด-19

การที่วัคซีนจะคงสภาพและประสิทธิภาพอยู่ได้นั้นมีปัจจัยสำคัญอยู่ 3 ประการคือ ความร้อน ความเย็น และแสง

  1. ความร้อน – วัคซีนทุกชนิดจะสูญเสียคุณภาพถ้าสัมผัสกับความร้อน แต่วัคซีนชนิดต่าง ๆ จะไวต่อความร้อนไม่เท่ากัน ชนิดที่ไวต่อความร้อนมากที่สุด ต้องเก็บในช่องแช่แข็ง -15 ถึง -25 องศาเซลเซียส
  2. ความเย็น – วัคซีนบางชนิดมีความไวต่อความเย็นจัด ในขณะที่มีความไวต่อความร้อนจัดเช่นเดียวกัน วัคซีนกลุ่มนี้ถ้าเกิดการแข็งตัวที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส จะทำให้วัคซีนสูญเสียความแรงและเสื่อมสภาพทันที
  3. แสง – วัคซีนบางชนิดยังไวต่อแสงด้วย ทั้งแสงจากดวงอาทิตย์และแสงหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์

ระบบหนึ่งที่เข้ามาช่วยในการรักษาสภาวะที่เหมาะสมกับวัคซีน คือ “ระบบลูกโซความเย็น (Cold Chain System)” หมายถึง ระบบที่ใชในการจัดเก็บและกระจายวัคซีนใหคงคุณภาพดี ตั้งแตผูผลิตวัคซีนจนถึงผูรับบริการสรางเสริมภูมิคุ้มกันโรค ประกอบดวยการจัดเก็บและการขนสงที่เชื่อมตอกันออกแบบเพื่อใหวัคซีนอยูในช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมจนถึงมือผูใช

อุณหภูมิที่แนะนำสำหรับการจัดเก็บและการจัดการวัคซีนอยู่ที่ 2-8 องศาเซลเซียส บางชนิดจึงจะอยู่ที่ -15 ถึง -25 องศาเซลเซียส อุปกรณ์ที่จำเป็น มีดังนี้

ตู้เย็นที่ใช้ในการจัดเก็บวัคซีน ต้องเป็นตู้เย็นที่สร้างขึ้นตามวัตถุประสงค์ หรือตู้เย็นทางการแพทย์ หรือตู้เย็นเกรดอุตสาหกรรม หากใช้ตู้เย็นทั่วไปในครัวเรือน สามารถจัดเก็บได้เพียงบางชนิดเท่านั้น และต้องวางในจุดที่เหมาะสมด้วย

เครื่องวัดอุณหภูมิ (เทอร์โมมิเตอร์) ใช้อุปกรณ์บันทึกอุณหภูมิตู้เย็น อุณหภูมิต่ำสุดและสูงสุด ควรใช้แบบที่สามารถวัดไว้ทั้งอุณหภูมิบวกและลบ วางหัววัดเทอร์โมมิเตอร์ไว้ตรงกลางของตู้เย็น ไม่ใช่ด้านหลัง ด้านหน้า หรือที่ประตูตู้เย็น การวางเทอร์โมมิเตอร์ไว้ตรงกลางตู้เย็นจะช่วยลดความผิดพลาดในการวัดอุณหภูมิ จากนั้นบันทึกข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิไว้

ภาชนะหุ้มฉนวน (คูลเลอร์) ใช้ในการขนส่งวัคซีนจำนวนไม่มาก ที่ใช้เวลาเพียง 1 วัน หรือเพื่อเก็บวัคซีนในปริมาณที่จำเป็นสำหรับการฉีดวัคซีนนอกสถานที่ ต้องสามารถรักษาอุณหภูมิของวัคซีนที่ 2-8 องศาเซลเซียสได้ ต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะเก็บวัคซีน แพ็คน้ำแข็ง และวัสดุฉนวน วัสดุพื้นผิวภายนอกต้องแข็งแรงทนทาน มีฝาปิดที่แน่นหนา

วัสดุฉนวนกันความร้อน ใช้เป็นตัวกั้น ป้องกันการสัมผัสโดยตรงระหว่างวัคซีนและซองน้ำแข็ง มักใช้ฉนวนความร้อนแบบผืน (Insulation Blankets) พลาสติกกันกระแทกแบบแอร์บับเบิล (Bubble Wrap) หรือสไตโรโฟม (Styrofoam Peanuts)

ไอซ์แพ็ก (Ice Pack) ซองพลาสติกใส่น้ำมีฝาปิดและนำไปแช่แข็ง ช่วยเก็บรักษาความเย็นได้ ปกติใส่ไว้ตรงขอบของอุปกรณ์/บรรจุภัณฑ์รักษาความเย็นต่าง ๆ และเหลือพื้นที่ไว้เล็กน้อยเพื่อให้มีการไหลเวียนของอากาศ ต้องมีการตรวจสอบให้แน่ใจว่าไอซ์แพ็กที่นำมาใช้ยังเป็นน้ำแข็งอยู่

จากข้อมูลวัคซีนโควิด-19 mRNA-1273 ของโมเดอร์นา อิงค์ พบว่า การเก็บรักษาที่ดีที่สุดอยู่ที่ -20 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้ 6 เดือน แต่ก็สามารถเก็บไว้ได้ที่ 2-8 องศาเซลเซียสเช่นเดียวกับวัคซีนทั่วไป แต่จะคงประสิทธิภาพไว้ได้เพียง 30 วัน

ปัญหาอยู่ที่วัคซีนโควิด-19 BNT-162 ของไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งข้อมูลบอกว่าต้องเก็บไว้ที่ -70 องศาเซลเซียส ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์พิเศษราคาสูงในการจัดเก็บ

ล่าสุด The Guardian เปิดเผยขั้นตอนการขนส่งวัคซีนมายังสหราชอาณาจักร ซึ่งสั่งจองวัคซีนจากไฟเซอร์ อิงค์ ไว้ 40 ล้านโดส ว่า

  1. โรงงานไฟเซอร์ในเบลเยียม ผลิตวัคซีน BNT-162 จำนวน 40 ล้านโดส
  2. ใส่ในบรรจุภัณฑ์รักษาความเย็นชนิดพิเศษ 1,000 โดสต่อ 1 บรรุภัณฑ์ รักษาอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ได้นาน 10 วัน สามารถเติมน้ำแข็งแห้งเพื่อรักษาอุณหภูมิได้
  3. ขนส่งบรรจุภัณฑ์ไปยังสหราชอาณาจักรทางเครื่องบิน
  4. ใช้รถห้องเย็นติด GPS และเซนเซอร์วัดอุณหภูมิขนส่งวัคซีนไปยังสถานที่ที่กำหนด
  5. หากตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ สามารถเติมน้ำแข็งแห้งได้
  6. วัคซีน BNT-162 เก็บในตู้เย็นการแพทย์อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้นาน 5 วัน
  7. วัคซีนจะกระจายไปตามศูนย์การแพทย์ต่าง ๆ ทั่วสหราชอาณาจักร 1,500 แห่ง

ล่าสุด ประเทศไทยสั่งจองซื้อวัคซีนโควิด-19 “AZD1222” จากบริษัท แอสตราเซนเนกา ที่ประเทศไทยมีความร่วมมือในการพัฒนา จำนวน 26 ล้านโดส วงเงิน 6,049,723,117 บาท ครอบคลุมคนไทยร้อยละ 20 ของประชากร หรือ 13 ล้านคน

วัคซีนโควิด-19 จำนวน 26 ล้านนี้คาดว่าไม่น่ามีปัญหาในการขนส่ง เนื่องจากยังไม่พบข้อจำกัดทางอุณหภูมิที่ร้ายแรง

โดยการจองซื้อนี้ไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมาด้วย เพื่อให้ผลิตได้เองภายในประเทศ ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการขนส่งและความเสียหาย ที่สำคัญวัคซีนที่สำเร็จต้องผ่านกระบวนการรับรองต่าง ๆ มีความปลอดภัยสำหรับผู้รับวัคซีน

ครม.เห็นชอบ สั่งจองซื้อวัคซีนโควิด 26 ล้านโดส เพื่อคนไทย 13 ล้านคน

ไฟเซอร์ อิงค์ คาดปีนี้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ 50 ล้านชุด

เรียบเรียงจาก กรมควบคุมโรค / สถาบันวัคซีนแห่งชาติ / The Guardian / BCCDC

ภาพจาก Getty Image

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ